“ชลน่าน” ชู ”โภคิน” นั่งประธานกมธ.แก้รธน. ชงปลดล็อกม.256 พร้อมตั้งส.ส.ร. เตรียมหาช่องรอมชอมส.ว.ร่วมวงแก้รธน วันที่ 25 พ .ย. ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า วิปฝ่ายค้านจะประชุมกันในวันที่ 26 พ.ย.นี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับการบุคคลที่จะมาดำรงประธานกมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวเห็นว่า นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา มีความเหมาะสม แต่ในภาพรวมคิดว่า ประธานกมธ.ดังกล่าวควรมาจากบุคคลที่เป็นกลางหรือฝ่ายค้านที่มีความตั้งใจอยากแก้รัฐธรรมนูญ เพราะเชื่อว่า จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญประสบความสำเร็จได้รับความร่วมมือ แต่หากได้บุคคลที่เป็นกลาง แต่ไม่มีเจตนาอยากแก้รัฐธรรมนูญ จะทำให้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยาก เพราะคนที่จะมาเป็นประธานกมธ. ต้องมีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการโน้มน้าวที่ประชุมให้สามารถดำเนินไปในทิศทางเดียวกันได้ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ส่วนตัวมีความเห็นเป็น 2 ทางเกี่ยวกับกรณีที่จะมีอดีตกรธ.เข้ามาเป็นกมธ.คือ 1.ถ้าเข้ามาช่วยกันผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่า วิธีคิดตอนร่างรัฐธรรมนูญกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มีผลให้รัฐธรรมนูญมีปัญหาจริง จะทำให้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปได้ 2.ถ้าเข้ามาขัดขวาง จะมีผลให้การผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยาก มีอุปสรรคมากขึ้น ทั้งนี้กรอบการทำงานของกมธ.ชุดนี้ควรกำหนดไว้ไม่เกิน 90 วัน เพราะหากมีเวลาศึกษามากกว่านี้ หรือนานเกินไปจะทำให้การทำงานไม่เกิดประโยชน์ เนื่องจากเวลานี้ก็เริมรู้กันอยู่ว่า รัฐธรรมนูญมีปัญหาจุดใด นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ส่วนตัวคิดข้อสรุปของกมธ.ชุดนี้จะออกมาใน 4แนวทางได้แก่ 1.การเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา256 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การแก้รัฐธรรมนูญทำได้ง่ายขึ้น 2.การมาตรา 256 พร้อมกับแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราบางประเด็น เช่น ระบบการเลือกตั้ง 3.การแก้มาตรา279ว่าด้วยการรับรองประกาศ คำสั่งของคสช.ให้ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้เป็นไปได้น้อยที่สุด 4.การแก้ไขมาตรา 256 พร้อมกับตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)เป็นประเด็นความหวังสูงสุดของฝ่ายค้าน เมื่อถามว่า การแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นไปได้อย่างไร หากส.ว.ไม่ให้ความร่วมมือ นพ,ชลน่าน กล่าวว่า เรื่องส.ว.ยังเป็นปัญหาสำคัญ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้การแก้รัฐธรรมนูญจะทำได้ต่อเมือมีเสียงส.ว. 1ใน3 หรือ84คน จาก250 คนเห็นชอบด้วย อย่างไรก็ตามคิดว่าในชั้นกมธ.จะพิจารณาแนวทางแก้รัฐธรรมนูญให้มีผลกระทบต่อส.ว. เช่น ไม่ให้เรื่องเกี่ยวกับส.ว.มีผลบังคับใช้ทันที่ แต่ให้มีผลบังคับใช้ในอนาคต หลังหมดบทเฉพาะกาลไปแล้ว