ห้วงเร็วๆ นี้ที่ที่ผ่านมา หลายอาณาบริเวณของโลกเราต้องบอกว่า ทุกข์ระทม เพราะจมบาดาลกันในหลายพื้นที่ นั่นคือ สถานการณ์น้ำท่วม หรืออุทกภัย ที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประสบในหลายภูมิภาคโลก ไม่ว่าจะเป็นที่ “อินเดีย” แดนภารตะ ภูมิภาคเอเชียใต้ ซึ่งปรากฏว่า “นครโคจิ” เมืองท่าทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ก็ต้องพบกับปัญหาน้ำท่วมใหญ่กันอีกครั้ง เช่นเดียวกับที่ ภูมิภาคยุโรป ก็ปรากฏว่า เผชิญหน้ากับอุทกภัยครั้งใหญ่กันไปแล้วหลายระลอก เช่น ที่นครเวนิส ประเทศอิตาลี ถูกน้ำท่วมไปแล้วไม่ต่ำกว่า 3 รอบ ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ หลังประสบกับปรากฏการณ์น้ำทะเลยกตัวขึ้นสูงพ่นพิษเอา รวมถึงที่แดนผู้ดี ประเทศอังกฤษ ก็ผจญชะตากรรมกับมหาอุทกภัยครั้งใหญ่เช่นกัน ในพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศ โดยเฉพาะที่เมืองคอนคาสเตอร์ มณฑลยอร์กเชอร์ จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเมืองผู้ดีกันไปเหมือนกัน เพราะในย่านดังกล่าวเป็นเส้นทางสัญจร หรือการคมนาคมที่สำคัญ ตลอดจนเป็นหนึ่งในพื้นที่อุตสาหกรรมของอังกฤษ ทางการต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปช่วยอพยพผู้คนให้ไปอยู่ในพื้นที่สูงกันจ้าละหวั่น ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงอังกฤษ ก็ต้องถือว่า เป็นอีกประเทศหนึ่ง ที่ประชาชีชาวเมืองผู้ดีต้องผจญชะตากรรมกับปัญหาของอุทกภัยหนักๆ กันทุกปี กระทั่ง ทางการประเทศอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นส่วนกลางที่กรุงลอนดอน หรือที่รัฐบาลท้องถิ่น ต้องปวดเศียรเวียนเกล้าแบบแทบจะจนด้วยเกล้า กับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ที่ท่วมซ้ำซากกันทุกปีเลยทีเดียว ถึงขนาดล่าสุด “องค์การอนุรักษ์สถานที่เพื่อประโยชน์ทางประวัติศาสตร์ หรือความสวยงามแห่งชาติ” ที่ชื่อว่า “เนชันแนลทรัสต์” หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “องค์การอนุรักษ์แห่งชาติ” หรือ “เอ็นที (NT : National Trust)” อันเป็นองค์กรด้านการอนุรักษ์ ดูแล สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และพื้นที่ชนบท ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่เมืองสวินดัน ประเทศอังกฤษ ได้นำเสนอโครงการที่จะนำ “บีเวอร์” สัตว์ประเภทฟันแทะชนิดหนึ่ง ซึ่งกินพืช และเลี้ยงลูกด้วยนม คล้ายกับสัตว์ประเภทหนู แต่มีขนาดตัวใหญ่กว่ากันมาก จนหลายคนเรียกว่า หนูยักษ์ นั้น มาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินแผนการจัดการปัญหาน้ำท่วม โดยนายเบน อาร์ดลีย์ หนึ่งในผู้จัดการโครงการเนชันแนลทรัสต์ ออกมาระบุว่า ตัวบีเวอร์ที่จะนำมาเป็นส่วนหนึ่งในแผนการข้างต้นนั้น เป็นบีเวอร์สายพันธุ์ “ยูเรเชียน” (บีเวอร์มี 2 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ยูเรเชียน และพันธุ์อเมริกาเหนือ) ทั้งนี้ บีเวอรสายพันธุ์ที่ว่า ก็จะนำไปปล่อยเป็นคู่ๆ ในพื้นที่ 2 แห่ง ได้แก่ บีเวอร์คู่ที่ 1 จะนำไปปล่อยที่เขตโฮลนิโคต ใกล้กับอุทยาแห่งชาติเอกซ์มูร์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ ส่วนบีเวอร์อีกคู่หนึ่ง ซึ่งเป็นคู่ที่ 2 ทาง “เนชันแนล ทรัสต์” จะนำไปปล่อยที่ “แบล็คดาวน์เอสเตท” เขตทางชายฝั่งตอนใต้ของประเทศ จากนั้นก็จะให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญเฝ้าติดตามพฤติกรรมของพวกบีเวอร์ว่า จะจัดการอย่างไรเกี่ยวกับแหล่งน้ำในพื้นที่ พร้อมทั้งเฝ้าสังเกตการณ์ดูการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมต่างๆ ในพื้นที่ ภายหลังจากที่พวกบีเวอร์ถูกส่งเข้าไปอาศัยแล้วด้วย ผู้จัดการอาร์ดลีย์ ระบุว่า บีเวอร์ ซึ่งได้รับการขนานนามว่า เป็น “วิศวกรธรรมชาติ” นั้น ขึ้นชื่อในเรื่องการสร้างเขื่อน และจัดการแหล่งน้ำ ในถิ่นที่พวกเขาอาศัยอยู่ โดยคู่บีเวอร์ที่ถูกส่งเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว ทางคณะผู้เชี่ยวชาญก็จะเฝ้าสังเกตการณ์ดูการสร้างเขื่อนและจัดการแหล่งน้ำในพื้นที่ที่ถูกส่งไป ทั้งนี้ เบื้องต้นในการศึกษา พบว่า พฤติกรรมของพวกเขา ก็จะสร้างเขื่อนเพื่อเก็บกักน้ำนำไปใช้ในยามฤดูแล้ง และช่วยลดปัญหาน้ำท่วมฉับพลัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ท้ายน้ำ รวมถึงช่วยลดการกัดเซาะตลิ่ง ตลอดจนปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยการเก็บกักดินตะกอนเอาไว้ โดยคู่บีเวอร์ จะถูกส่งไปในพื้นที่ทั้งสองแห่ง ในราวต้นปีหน้า ท่ามกลางความคาดหวัง ที่ทาง “เนชันแนล ทรัสต์” กล่าวว่า สัตว์บีเวอร์ ซึ่งเคยเป็นผู้ถูกล่าอย่างเป็นล่ำเป็นสันในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 จนทางการต้องการประกาศอนุรักษ์ จะสามารถรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะปัญหาอุทกภัยน้ำท่วม ที่กำลังสร้างความระทมทุกข์แก่ชาวโลกได้เป็นผลสำเร็จ ภายหลังจากก่อนหน้านี้ ได้มีการเสนอแนะให้นำพฤติกรรมของสัตว์บีเวอร์เหล่านี้ มาเป็นแบบอย่างในการรับมือกับภัยน้ำท่วม ตลอดจนรูปแบบในการจัดการแหล่งน้ำ จนเป็นที่ฮือฮากันมาแล้ว