พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า เพื่อแสดงความอาลัยต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเพื่อแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ อพท. โดยสำนักงานงานพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน จึงได้จัดทำโครงการ ตามรอยพระบาทยาตรา เรียนรู้ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ในรูปแบบการจัดกิจกรรมนิทรรศการ ระหว่างวันที่ 16 - 19 มีนาคม 2560 ณ บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน "นิทรรศการดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อต้องการให้นักท่องเที่ยวและประชาชนท้องถิ่นที่เข้าร่วมชม ได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวจังหวัดน่านและพสกนิกรชาวไทยจังหวัดอื่นๆทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องของหลักการทรงงานว่าด้วยทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่ง อพท. และชาวเมืองน่านได้น้อมนำมาใช้ในการพัฒนาพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน ได้แก่ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว พัฒนาคน และพัฒนาผลิตภัณฑ์ อันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค กล่าว สำหรับพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่านและจังหวัดน่าน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนรวม 22 ครั้ง ด้วยความรักความห่วงใยที่มีต่อพสกนิกร โดยพระองค์ท่านได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จัดสร้างอาคารพิทักษ์ไทยเพื่อรองรับทหารไทยที่บาดเจ็บจากการสู้รบกับผู้นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์เมื่อครั้งอดีต และจัดสร้างอาคารเรียนโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดน่าน พร้อมพระราชทานนามราชานุบาล ให้แก่โรงเรียนดังกล่าว ดังนั้นกิจกรรมสำคัญในนิทรรศการครั้งนี้ จึงจัดออกมาในรูปแบบการเรียนรู้ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาที่ยังยืน ในหัวข้อทศพิธราชธรรมและหลักการทรงงาน 23 ประการ รวมถึงการจัดแสดงภาพถ่ายหาดูยากของพระองค์ท่านด้วย ทั้งนี้ พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค กล่าวว่า น่านเป็นพื้นที่พิเศษลำดับที่ 6 ของ อพท. โดยในการประกาศพื้นที่พิเศษแห่งนี้ตั้งเป้าหมายการพัฒนาภายใต้แนวคิดน่านเมืองเก่าที่มีชีวิต ซึ่งในพื้นที่พิเศษแห่งนี้ อพท. ยังได้จัดตั้งชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ่อสวก และชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนในเวียง เพื่อเป็นต้นแบบด้านการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน พัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ดึงวิถีชีวิตวัฒนธรรมประเพณี และอัตลักษณ์ท้องถิ่น มานำเสนอเป็นกิจกรรมทางการท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน อีกทั้งเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่เป็นอัตลักษณ์เมืองน่าน ทางอพท. ยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์จากผ้าทอมือภายใต้แบรนด์น่านเน้อเจ้า โดยในปี 2559 สามารถสร้างรายได้เพิ่มให้แก่ชุมชนภายใต้แบรนด์ดังกล่าวเป็นจำนวนรวม 31,487 บาท สำหรับไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม -ธันวาคม2559) ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์น่านเน้อเจ้า สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนแล้วเป็นจำนวน 11,546 บาท เติบโตขึ้นต10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน