วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2562 เวลา 10.00 น. นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยรูอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลงิม อำเภอปง จังหวัดพะเยา เพื่อติดตามเร่งรัดการดำเนินงานโครงการฯ โดยรับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน จากผู้แทนกรมชลประทาน โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยรูอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2542 ตามที่นายเหรียญ สิทธิวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านแต (ในขณะนั้น) ได้ขอพระราชทานก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อใช้เป็นที่กักเก็บน้ำสำหรับทำการเกษตรและป้องกันอุทกภัย โดยเป็นหนึ่งในโครงการที่คณะอนุกรรมการฯ ได้มีการติดตามและขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2561 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างที่ทำการ บ้านพัก และถนนเข้าหัวงานมีผลงานความก้าวหน้า 95 % ซึ่งกรมชลประทาน ได้กำหนดแผนงานการดำเนินงาน โครงการฯ รวม 4 ปี ตั้งแต่ปี 2562-2565 และเมื่อการก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จจะสามารถเก็บกักน้ำได้ถึง 10.07 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นแหล่งเก็บกักน้ำต้นทุนเพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำให้กับเกษตรกรครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล 20 หมู่บ้าน โดยสามารถส่งน้ำให้พื้นที่รับประโยชน์เพิ่มขึ้นอีก 6,340 ไร่ จากเดิม 6,260 ไร่ รวมพื้นที่รับประโยชน์ทั้งสิ้น 12,600 ไร่ นอกจากนี้ยังสามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคให้กับราษฎรได้อีกด้วย จากนั้นเวลา 13.00 น. องคมนตรีและคณะฯ เชิญถุงพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปมอบแก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริบ้านหนองห้า อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา จำนวน 109 ชุด พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานและพบปะเยี่ยมราษฎร รวมทั้งเยี่ยมชมผลการดำเนินงานโครงการฯ โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริบ้านหนองห้า เป็นโครงการที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรพื้นที่แนวชายแดนประเทศไทย - ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว บริเวณดอยยอดห้วยน้ำลาว บ้านเย้าหนองห้า ตำบลร่มเย็น อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ทรงพบว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวได้ถูกบุกรุกแผ้วถางป่าเป็นพื้นที่กว้าง บางส่วนของพื้นที่ปลูกพืชเสพติดและเกิดปัญหาด้านความมั่นคงตามแนวชายแดน จึงพระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ขึ้นโดยนำชาวไทยภูเขาเผ่าต่าง ๆ ที่เคยขอพระราชทานความช่วยเหลือเรื่องที่ทำกิน เข้ามาอาศัยและช่วยฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณบ้านหนองห้า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงดำเนินงานสนองพระราชดำริ ดังนี้ 1) ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต จัดสรรพื้นที่ให้กับราษฎรเพื่อปลูกข้าวไว้บริโภคครอบครัวละประมาณ 4 ไร่ โดยส่งเสริมการทำนาแบบขั้นบันได ใช้พันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ คือข้าวไร่สายพันธุ์น้ำรูที่ให้ผลผลิตสูง 2) ด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พัฒนาและฟื้นฟูสภาพป่า จำนวน 4,010 ไร่ ก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน จำนวน 625 แห่ง ฝายต้นน้ำแบบกึ่งถาวร จำนวน 4 แห่ง และฝายต้นน้ำแบบถาวร จำนวน 2 แห่ง ส่งเสริมให้ราษฎรเรียนรู้การทำเกษตรที่ถูกวิธี รวมทั้งจัดหาแหล่งน้ำที่เพียงพอสำหรับการอุปโภค บริโภคและเพื่อการเกษตรกรรมในพื้นที่ ทำให้ราษฎรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถสร้างผลผลิตทางการเกษตรและสร้างรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ซึ่งรายได้หลักได้แก่ การปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้า ที่ให้ผลผลิตเฉลี่ย 14,600 กิโลกรัมต่อปี มีรายได้เฉลี่ย 181,333 บาทต่อครัวเรือนต่อปี รวมทั้งยังมีผลผลิตอื่น ๆ จากการปลูกพืชเมืองหนาวตามฤดูกาล ที่สร้างรายได้เฉลี่ย 14,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี นอกจากนี้ยังส่งเสริมอาชีพด้านศิลปาชีพ ตลอดจนจัดให้มีบริการขั้นพื้นฐาน เช่น การศึกษา การสาธารณสุขขั้นมูลฐาน การจัดระเบียบชุมชนเป็นหมู่บ้านแนวชายแดนเพื่อเฝ้าระวังป้องกันปัญหายาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมาย รวมถึงการอนุรักษ์และป้องกันการทำลายทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าตามแนวพระราชดำริ “คนอยู่กับป่า” สำหรับแนวทางในการดำเนินการระยะต่อไปคือ การรักษาสภาพป่าที่สมบูรณ์ไว้ไม่ให้ถูกทำลาย ฟื้นฟูสภาพป่าที่ถูกทำลายให้คืนสู่ธรรมชาติทั้งป่าธรรมชาติและป่าใช้สอย ส่งเสริมการศึกษาให้กับราษฎรโดยจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ประจำหมู่บ้าน ส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตจากกาแฟและพืชเมืองหนาวอื่น ๆ เพื่อให้ราษฎรมีรายได้ที่มั่นคงยิ่งขึ้น รวมถึงพัฒนาโครงการฯ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้โครงการตามพระราชดำริ และท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติโดยเชื่อมต่อกับแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดพะเยา เพื่อกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นอย่างมั่นคงและยั่งยืน ตามพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการ พัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับราษฎร เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับพื้นที่สืบไป