ประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ประเทศที่ทรงอิทธิพลแห่งโลกด้านตะวันออก ประเทศที่มีประวัติความเป็นมา และมีรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ และอีกสารพัดที่เราอธิบาย "จีนแผ่นดินใหญ่" ทว่าความรับรู้ของเราที่มีต่อมหาอำนาจแห่งนี้ ครบถ้วนรอบทิศทุกด้านหรือไม่ เราคบกับจีนแบบไหน และจีบคบกับเราแบบไหน วันนี้เราไม่ได้จะมาตัดสินว่า พญามังกรเป็นมิตรแท้ยามยาก ที่เป็นมหามิตรของสยามประเทศ หรือเป็นแค่เพื่อนบนเวทีการเมืองโลกกันแน่ แต่เรามีทรรศนะของบุคคลที่รู้จักคุ้นเคย และคลุกคลีกับจีนมานาน จากเวทีเสวนา "จีน 3 มิติ: อยากรู้เรื่องจีน ต้องอ่านใจคนจีนให้ทะลุ" ในงานเปิดตัวหนังสือ "จีน 3 มิติ" ของวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อสัปดาห์ก่อน เริ่มที่ "นายธนากร เสรีบุรี" รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ ผู้โอกาสคลุกคลีกับจีน ตั้งแต่ปี 1972 จากการได้ไปดูแลกิจการที่ฮ่องกง โดยช่วงนั้นเป็นช่วงที่ไทยกำลังส่งอกสินค้าไปฮ่องกง ก็ไปตั้งโรงงานที่ฮ่องกง ต่อมาปี ค.ศ. 1978 จีนประกาศเปิดประเทศ ประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทางเครือซีพีก็หาคนที่จะไปดูแลที่จีน สมัยนั้นเครือซีพีเริ่มออกไปลงทุนตลาดต่างประเทศตั้งแต่ ค.ศ. 1969 แล้วที่อินโดนีเซีย ต่อมาค.ศ.1971 ก็ไปไต้หวัน และน่าจะเป็นบริษัทแรกๆ ของประเทศไทยที่เล็งเห็นว่า อนาคตจะทำให้ใหญ่ต้องออกไปหาตลาดที่ใหญ่ขึ้น "พอจีนประกาศเปิดประเทศ คณะกรรมการทุกคนก็เห็นว่าต้องไป เพราะตลาดใหญ่มาก และความที่เป็นลูกจีนเกิดในไทยยิ่งต้องไปด้วยเป้าหมาย 2 อย่างคือ เอาวิทยาการการบริหารแบบใหม่เข้าไปในเมืองจีน และสองตลาดจีนขนาดใหญ่" นายธนากร กล่าวว่า ตอนที่จีนเปิดประเทศ มีการเปิดเขตเศรษฐกิจใหญ่ 4 แห่ง เสิ่นเจิ้น ซัวเถา เซะเหมิน และซัวไห่ ซึ่งซีพีเป็นบริษัทต่างชาติแรกที่เข้าไปลงทุน อยู่ที่นั่น 3 ปี เป็นช่วงที่ยากที่สุดในการลงทุนในจีน เพราะจีนปิดประเทศมากว่า 50 ปี ดังนั้นคนจีนไม่เคยเห็นระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ อีกทั้งสมัยนั้นเซินเจิ้นตั้งรัฐบาลใหม่ มผู้นำแต่ละมณฑลส่งตัวแทนมาอยู่ ซึ่งแต่ละคนคิดไม่เหมือนกัน ไม่ได้มีแต่คนเก่ง แต่คนเส้นแข็งก็มี "ไปเอาที่ดิน 2 พันไร่ทำฟาร์มปศุสัตว์ สร้างฟาร์มเรียบร้อย วันดีคืนดี ชาวบ้านมาบอกว่า ฟาร์มเป็นของคุณ แต่ต้นลิ้นจี่เป็นของชาวบ้าน สุดท้ายต้องมาเจรจาชดเชยลิ้นจี่ให้ต้นละ 500 หยวน ไม่เช่นนั้นจะเข้ามาเก็บ ต้นไผ่ก็เป็นของเกษตรกร ก็ชดเชยต้นละ 100 หยวน กรณีแบนนี้เราไม่มีประสบการณ์ ไม่เคยเจอ หรืออยู่มาวันดีคืนดี ตัดถนนผ่านเข้าฟาร์ม สั่งให้เราหยุดให้เราย้าย แต่ตอนประชุมเราส่งแผนไป อนุมัติหมด พอฟาร์มสร้างเสร็จ ยังไม่ทันมีผลผลิต บอกจะตัดถนนผ่านให้หยุด เป็นต้น นี่คือสิ่งที่ได้เรียนรู้ว่าจีนเขาบริหารอย่างไร" "คนจีนเป็นคนที่ท้องถิ่นนิยมสูงมากๆ" นี่เป็นคัมภีร์ที่นายธนากรยึดไว้ใช้ในการเลือกลงทุนให้ประสบความสำเร็จ โดยไม่ต้องพึ่งพาทฤษฏี หรือผลการศึกษาให้ยุ่งยาก "ท้องถิ่นนิยม" ก็คือ คนจีนเป็นคนที่รักบ้านเกิดมาก มุ่งมั่นกับการพัฒนาบ้านเกิดตัวเอง ตัวอย่างหนึ่งที่นายธนากรเคยพบว่าก็คือ ช่วงปี 1982 -1983 เข้าไปจีนใหม่ เลขาเอกของทูตจีนมาหาชวนไปลงทุนที่เซี่ยงไฮ้ โดยบอกว่ามีโอกาสมาก กำลังเติบโต เซี่ยงไฮ้คือปารีสตะวันออก ตนเองก็สนใจมาก ตกลงใจตามไปดู ปรากฏว่าอยู่เซี่ยงไฮ้คืนเดียว ทางนั้นไม่พูดอะไรเลย คืนที่สองเขาไปหนานทง อยู่แม่น้ำแยงซีเกียงฝั่งเหนือ ไปอยู่ได้คืนเดียว ก็ไปหลูตุง ซึ่งถ้าเทียบเซี่ยงไฮ้เป็นกรุงเทพฯ หลูตุงก็ประมาณสุพรรณบุรี "ถามเขาว่านี่ไม่ใช่เซี่ยงไฮ้ เขาบอกเหมือนกันๆ ที่นี่เงื่อนไขดีกว่า ที่ดินถูก ริมทะเล ต้องการอะไรให้หมดเหมือนกัน ปรากฎว่าคนพาไปเป็นคนหลูตุง สุดท้ายก็ตกลงไปลงทุนที่นั่น พอไปถึงก็ให้ทุกอย่างจริงๆ ราคาเท่าไหร่ก็ได้ ปลอดภาษี แต่เนื่องจากจีนอยู่ในระหว่างการเติบโต ลงทุนที่ไหนก็ได้ตอนนั้น ลงที่ไหนก็เจริญ จากนั้นก็ขยายต่อที่หนานทง สุดท้ายถึงมาลงเซี่ยงไฮ้" พอรู้ว่า คนจีนมีความเป็นท้องถิ่นนิยมสูงแล้ว จะประสบความสำเร็จได้ต่อมาก็ต้องรู้ว่าจีนจะพัฒนาไปในทิศทางไหน ซึ่งสมัยก่อนหากเลือกไปซินเจียง ทิเบต ไม่มีทางได้เกิดแน่นอน เพราะคนที่นั่นไม่เข้าใจเรื่องเศรษฐกิจเลย เป็นแบบเกษตรกรรมมากกว่า "สมัยนั้นก็พยายามมองว่าที่ไหนที่จีนจะเติบโต มีเคล็ดลับส่วนตัวคือ ตรงไหนจะโต ให้ดูผู้นำที่ปักกิ่ง ว่ามาจากไหน" 10 ปีแรก ต้องกวางตุ้ง เพราะติดกับฮ่องกงเป็นที่ที่จีนจะทุ่มให้เติบโตเต็มที่ สมัยนั้นผู้นำจีนอย่าง เจ้า จื่อ หยาง ก็มาจากทางใต้ เติ้ง เสี่ยว ผิง ก็มาจากทางใต้ เลยจะเห็นว่า 10 ปี แรกกวางตุ้งโตเร็วมาก ซีพีไปลงกวางตุ้ง ถัดมาก็กวางเจา เสิ่นเจิ้น จูไห่ ซัวเถา ทุกโปรเจ็คก็สำเร็จหมด 10 ปีที่สองไปเซี่ยงไฮ้ ตอนนั้นปักกิ่งมีเจียง เจ๋อ หมิง และจู หรง จี เป็นผู้นำ คนเหล่านี้มาจากเซี่ยงไฮ้ไปเป็นใหญ่ที่ปักกิ่ง ทุกคนก็จะคิดถึงทำอย่างไรให้เซี่ยงไฮ้เติบโต จากเซี่ยงไฮ้ก็เกิดผู่ตง ถ้าใครไปเซี่ยงไฮ้ ก็จะเห็น Super Brand Mall ใหญ่มากที่ผู่ตง ขนาด2.5 แสนตารางเมตร วันหนึ่งมีคนเข้าออกประมาณ 8 หมื่นคน มีธงไตรรงค์ชักอยู่ใจกลางเมืองมหานครเซี่ยงไฮ้ 10ปี ที่สามก็คือทางเทียนสิน ตอนนั้นนายกรัฐมนตรีคือนายเหวิน เจีย เป่า เคยเป็นผู้ว่าเทียนสินมาก่อน อย่างที่กล่าว ถ้าผู้นำมาจากไหนไปที่นั่น เพราะคนจีนเป็นคนรักบ้านคิดถึงท้องถิ่นนิยมมากนั่นเอง "ไม่เชื่อว่าเศรษฐกิจจีนจะพังแบบที่ตะวันตกพูด แม้วันนี้จะเห็นปัญหาบ้าง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของจีนคือ มีรถดับเพลิง หมายความว่า ถ้าความร้อนแรงมากเกินไป ก็ดับไฟได้ สับสวิตซ์ปิดได้ สั่งปิดโรงงานได้ ถ้าเห็นโรงงานไหนที่เกิดการผลิตเกินความต้องการก็สั่งปิด เหมือนตอนสั่งปิดโรงงานเหล็ก เจ็บไปช่วงหนึ่ง แต่ก็จะดีขึ้น" นายธนากรแนะนำว่า ประเทศไทยทราบดีอยู่แล้วแล้วว่า จีนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว วันนี้ไปลงทุนสะเปะสะปะจีนก็ไม่เอาแล้ว แบบที่ต้องใช้แรงงานมาก ทำลายสิ่งแวดล้อม วันนี้เขาเลือกแล้วเพราะรู้ว่า วันนี้กำไร พรุ่งนี้ขาดทุนต้องไปชดเชยทีหลัง สมัยก่อนตะวันตกเอาธุรกิจที่ไม่เอาแล้ว อย่างโรงหมักไปอยู่จีน จีนก็รับเพราะตอนนั้นยังจนอยู่ วันนี้จีนเลยใช้นโยบาย "One Belt One Road" คือนอกจากจจะแค่ขายของไป ก็จะไปร่วมลงทุนด้วย ซึ่งประเทศไทยน่าจะเสริมตรงนี้ได้ มาร่วมทุนกัน ทำธุรกิจด้วยกัน เรามีโอกาสจะส่งกลับไปขายจีนมากกว่าที่เราทำเอง ซึ่งเราอาจจะไม่เข้าใจความต้องการของเขา สู้เอาคนจีนมาทำด้วยกันดีกว่า นอกจากนั้นก็ยังส่งไปขายประเทศที่สามได้อีกด้วย อีกประการคือ "ต้องสนับสนุนคนเก่ง พัฒนาทรัพยากรมนุษย์" นี่เป็นสิ่งที่จีนทำมาโดยตลอด นายธนากรเล่าว่า เมื่อปี 1988 ได้นายเติ้ง เสี่ยว ผิง จึงได้ถามว่า ส่งคนเก่งไปเมืองนอกไม่กลัวสมองไหลหรือ ก็ได้รับคำตอบว่าขอให้มีเวทีให้เขาก็พอ ใครอยากไปอยู่ต่างประเทศเป็นประชาชนชั้นสอง ทุกคนก็อยากกลับบ้านทั้งนั้น ซึ่งก็จริงวันนี้คนเหล่านั้นกลับมาหมด แล้วก็มีแบบที่ไปๆ มาๆ ด้วย เป็นตัวเชื่อม เป็นสะพานให้ได้รับความรู้ ได้พัฒนาตลอดเวลา สมัยก่อนจีนขาดเงินทุน เทคโนโลยี และทรัพยากรบุคคล แต่เดี๋ยวนี้ทรัพยากรบุคคลจีนพัฒนาไปมาก จากสมัยก่อนตำแหน่งบริหารสูงๆ มาจากคนถือปืน ตอนนี้มีไม่น้อยกว่าครึ่งจบปริญญาโท ปริญญาเอก และเป็นคนหนุ่ม รุ่นที่เติ้ง เสี่ยว ผิง ส่งไปเรียนเมืองนอกตอนนี้กลับมาแล้ว อายุน่าจะประมาณ 45 - 50 ปี บทเรียนจากจีนอีกเรื่องหนึ่งก็คือ การพัฒนาเรื่องเทคโนโลยี ที่แต่ก่อนบอกว่าของจีนใครๆ ก็ตั้งแง่เพราะจีนยังไม่ก้าวหน้าเรื่องเทคโนโลยี แต่ปัจจุบันนี้ไม่ได้เป็นเช่นนั้นแล้ว และจีนมีวิธีซื้อ Know - how ที่แตกต่างจากญี่ปุ่น โดยจีนใช้วิธีซื้อกิจการเลย ก็จะได้ทั้งคน ทั้งเครื่องหมายการค้า และเทคโนโลยีมาเลย กรณีตัวอย่าง เช่น MG ที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกที่ทำรถยนต์มากว่า 90 ปี ก็ไปซื้อมาเลย ได้วิศวกรถึง 300 คน แล้วมาตั้งR&D อยู่ที่เซี่ยงไฮ้ แต่ก็ยังคงที่เบอร์มิงแฮมเอาไว้ คนเหล่านี้ก็ไปๆ มาๆ เพราะเข้าใจว่า จะเอาคนเก่งๆ จากอังกฤษให้มาอยู่จีนคงไม่มีใครมา เหลือที่เบอร์มิงแฮมไว้ แล้วอาศัยเอาคนจีนไปๆ มาๆ นี่คือวิธีการเอา know - how มา รู้จักวิธีการของจีนไปแล้ว "อาจารย์วิโรจน์ ตั้งวานิชย์" นักวิชาการอิสระเชี่ยวชาญจีนศึกษา ได้มาจุดประกายตั้งคำถามเรื่องการคบจีนเอาไว้ด้วยประโยคที่ว่า "ใครก็ตามในโลกนี้ ถ้าเป็นมหามิตรของสหรัฐฯ จะรวย ถ้าคบกับจีนจะจน" ก่อนจะไปพิสูจน์คำกล่าวที่ว่า อ.วิโรจน์ ยกตัวอย่างการมองโครงสร้างสังคมกรณีเกาหลีเหนือขึ้นมาเปรียบเทียบ ว่าเกาหลีเหนือจะต้องทหารก่อน การเมืองมาที่สอง วัฒนธรรมมาที่สาม เศรษฐกิจสุดท้าย ประชาชนมีกินหรือไม่ไม่รู้ ขอมีปรมาณูก่อน ก็เลยเห็นคนเกาหลีเหนือแปรพักตร์หนีออกมาจากประเทศมากมาย กลับมาดูจีนในยุคเหมา เจ๋อ ตุง โครงสร้างของสังคมจีนก็เหมือนกันคือ ต้องมีปรมาณู 1 ลูก การเมืองต้องมาก่อน วัฒนธรรมตามมา ถึงได้มีการปฏิวัติวัฒนธรรมอย่างรุนแรง แล้วถึงเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ประธานเหมาหล่าวว่า "ต้นกล้าของทุนนิยม จะหอมหวานเท่าต้นหญ้าสังคมนิยมได้อย่างไร" ดังนั้นยุคนั้นคนจีนจึงอดตายจำนวนมาก "พอมาถึงยุคเติ้ง เสี่ยว ผิง โครงสร้างสังคมกลับตาลปัตร แต่อย่างไรจีนก็ยังเป็นชาติที่มีปรมาณู การทหารต้องมา การเมืองไม่เคยปล่อย แต่คราวนี้เอาเศรษฐกิจขึ้นมา แล้ววัฒนธรรมอยู่สุดท้าย แต่ก่อนจีนจะไปคุยกับใคร เอากำลังทหาร เอาการเมืองไปคุย แต่ตอนนี้เอาเงินตราสะสมต่างประเทศ 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปคุย" ทำให้จุดประกายให้มองว่าจริงหรือไม่ ในอาเซียน 10 ประเทศ ใครซี้กับจีนมากที่สุด สิงคโปร์ ตอนที่ลี กวน ยู มีชีวิตไปสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่จีน ไม่เคยบอกว่าไว้ใจพรรคคอมมิวนิสต์จีนเลย จนกระทั่งเสียชีวิตก็ไม่เคยบอกว่าไว้ใจ กลับมาที่คำถาม คบกับจีนแล้วจนจริงหรือไม่ อ.วิโรจน์ ยกเมียนมาเป็นตัวอย่าง ตอนที่ถูกปิดล้อม มีจีนคบประเทศเดียว คบกันมา 50 ปี วันนี้เมียนมาก็ยังไม่รวย แต่ก่อนเมียนมาไม่มีเงินตราต่างประเทศ ซึ่งหลายๆ อย่างต้องซื้อด้วยเงินตราต่างประเทศ พอไม่มีก็ต้องขายของที่มี เช่นขายไม้ ขายหยก ขายน้ำมันให้จีน ในราคามิตรภาพ จีนให้เงินตราต่างประเทศมา อ.วิโรจน์เล่าว่า ตนเองไปที่มัณฑเลย์ คนเมียนมาทุกคนที่นั่นลุกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ที่มัณฑเลย์กลายเป็น Chinatown ไปแล้ว จีนส่งคนเข้ามาอยู่ ส่ง Real Estate เข้ามา มาสร้างเมือง แต่ก็ส่งคนงานจีนเข้ามาก่อสร้าง ฉะนั้นจีนจึงไม่เคยสร้างงานให้คนเมียนมาเลย มีแต่เอาทรัพยากรไป "สำหรับจีน จีนคบทุกคน ใครเป็นใหญ่คบหมด ไม่มีจุดยืนอะไรที่แน่นอน อย่างนี้คิดเอาเองว่า มีมิตรแท้หรือไม่ มิตรแท้อีกคนก็คือปากีสถานที่ก็จนเหลือเกิน หลังนางบุตโตถูกสังหาร ตอนนั้นเศรษฐกิจปากีสถานแทบล่มสลาย ผู้นำประเทศคนต่อมาบินไปขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลปักกิ่ง แต่ก็ถูกปฏิเสธ ทั้งๆ ที่จีนก็สร้างท่าเรือที่ปากีสถาน แล้วใครๆ ก็ต่างคิดว่า ตอนนั้นอดีตประธานาธิบดีหู จิ่น เทา น่าจะช่วยปากีสถานแต่ก็เปล่า" เทียบการคบคนระหว่างจีน กับสหรัฐฯ อ.วิโรจน์กล่าวว่า ในขณะที่เวลาเกิดปัญหา จีนมักไม่แสดงท่าที เลือกจะนิ่งไว้ แต่สหรัฐฯ มีจุดยืนชัดเจน เปิดตลาด เปิดกว้างทางการเงิน และมีท่าทีที่ชัดเจนมาตลอดว่า ต้องเป็นสังคมเสรีประชาธิปไตย ต้องมีเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งประเทศใดทำตามก็จะเปิดให้หมด "หลายประเทศคบกับจีน แบบจะเอาเงินจีน แต่ไม่เอามิตรจีน ตัวอย่างก็คือ สิงคโปร์ อุตสาหกรรมที่เทียนสินค่อนข้างประสบความสำเร็จ แต่ลี กวน ยู ก็ไม่เคยประกาศว่าเป็นมหามิตร กลับบอกว่าไม่ไว้ใจพรรคคอมมิวนิสต์จีน แม้แต่วันที่ลาโลกก็ไม่เปลี่ยนความคิด ต่อไปนี้ให้ดูอย่างใกล้ชิดว่า กัมพูชาคบกับจีนมาก จะพัฒนาไปทางไหน" และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งด้านของข้อมูลเรื่องจีน ทรรศนะเรื่องจีน วันนี้ไม่ได้ต้องการมาบอกให้รักจีน หรือกลัวจีน แต่เราต้องรู้จักจีน และคบจีนให้เป็น