ราว 15 ปีก่อนศิลปินกลุ่มเล็กๆนำโดยเลน-จิตติมา ผลเสวก และไพศาล เปลี่ยนบางช้าง ได้ร่วมกันจัดตั้งโครงการศิลปะชุมชนขึ้นมาเพื่อสะท้อนเรื่องระบบนิเวศ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชน โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระบบนิเวศที่ส่งผลต่อชุมชนในพื้นที่ รวมถึงผลกระทบในวงกว้างที่ขยายอาณาเขตข้ามพรมแดน อาทิ พื้นที่ซึ่งจะมีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่เกิดขึ้น เช่น โครงการสร้างเขื่อน โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน โครงการเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น บางโครงการก็ส่งผลกระทบแม่น้ำทั้งสาย บางโครงการส่งผลกระทบประเทศเพื่อนบ้าน บางโครงการทำลายป่าไม้ผืนใหญ่ แนวความคิดของศิลปินกลุ่มนี้เห็นว่าการทำลายสิ่งแวดล้อมหรือการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ ส่งผลอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น จากการที่ชุมชนอาจต้องโยกย้ายจากพื้นที่เดิม หรือชุมชนต้องปรับเปลี่ยนวิถีทำกิน ทำให้ศิลปวัฒนธรรมที่ก่อเกิดจากวิถีชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงหรือสูญหายไป ดังเช่นวัฒนธรรมในการประมง วัฒนธรรมเกี่ยวกับการเพาะปลูก รวมถึงพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่ถูกเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ดังเช่นพื้นที่ทางวัฒนธรรมของอูรักลาโว้ยซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ทางทะเล ที่ถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว “พวกเราจึงนำศิลปะอันเป็นสิ่งที่พวกเราถนัดเข้าไปทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อสื่อสารถึงความงดงามสมบูรณ์ของระบบนิเวศ และส่งสัญญาณให้ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังถาโถมเข้ามา ด้วยความเชื่อในพลังของงานศิลปะ อีกทั้งศิลปะนั้นเป็นสื่ออยู่ในตัวเองที่สาธารณะชนสามารถรับรู้ได้” เลน-จิตติมา สะท้อนถึงที่มาและเป้าหมายของโครงการ งานแรกของศิลปะชุมชนลงพื้นที่ทำงาน ณ แม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ใช้ร่วมกันระหว่างประชาชนไทยกับเมียนม่าร์ โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีทั้งกะเหรี่ยง ไทใหญ่ คะเรนนี และมอญ สายน้ำที่เกิดจากการละลายของหิมะบนเทือกหิมาลัย เป็นสายน้ำบริสุทธิ์สายเดียวที่ยังไม่มีเขื่อนขวางกั้น แต่มีโครงการสร้างเขื่อนหลายแห่งบนแม่น้ำสายนี้ ที่น่าห่วงใย เพราะหากมีเขื่อนเท่ากับจะทำลายป่าผืนใหญ่ น้ำท่วมหมู่บ้าน จะเกิดการอพยพครั้งใหญ่ “ได้ลงไปศึกษาข้อมูลแม่น้ำสาละวิน ก่อนจะพาศิลปินไทยและพม่าเข้าไปศึกษาพื้นที่ อยู่ร่วมกับชาวบ้านเป็นเวลา 2 สัปดาห์ และสร้างงานศิลปะติดตั้งจัดวางและเพอร์ฟอร์แมนซ์ ในพื้นที่ ถ่ายเป็นภาพนิ่งและวีดีโอบันทึก เพื่อนำมาถ่ายทอดสู่ผู้ชมในเมือง ควบคู่กับการทำงานของชาวบ้านและเอ็นจีโอ เพื่อผลักดันด้านนโยบาย “ศิลปินรายนี้เล่าถึงการเตรียมการก่อนลงพื้นที่ เธอยังเล่าว่า ได้ทำงานในแม่น้ำโขงอีกหลายครั้ง เนื่องจากแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำของภูมิภาคที่หลายประเทศเป็นเจ้าของร่วมกัน ได้มีโครงการสร้างเขื่อนหลายเขื่อนตลอดสายน้ำ เรียกได้ว่าถ้าเกิดขึ้นครบทุกเขื่อนก็เท่ากับตัดแม่น้ำออกเป็นท่อนๆ จะนำพาความหายนะมาสู่แม่น้ำโขงและผู้คนที่อาศัยสายน้ำนี้ยังไม่ต้องสงสัย ขณะนี้ตอนเหนือแม่น้ำโขงหรือแม่น้ำหลานชางที่อยู่ในเขตประเทศจีนได้มีการสร้างเขื่อนแล้ว 11 เขื่อน ที่กำลังสร้างปัญหาอย่างหนักให้แก่ประเทศปลายน้ำ อย่างประเทศไทย ลาว กัมพูชา ไปจนถึงเวียดนาม เพราะการขึ้นลงของแม่น้ำเปลี่ยนไป พืชและพันธุ์ปลาหลายชนิดสูญพันธุ์ นอกจากทำงานเกี่ยวกับแม่น้ำ โครงการศิลปะชุมชนยังทำงานทางทะเล ในการพูดถึงพลังงานถ่านหินที่เป็นพลังงานก่อมลพิษ ไม่เป็นผลดีต่อมนุษย์และสภาพแวดล้อม ยังพูดถึงสิทธิของชนเผ่าอูรักลาโว้ย กลุ่มชนดั้งเดิมผู้บุกเบิกเกาะลันตาและหลายหมู่เกาะในอันดามัน ผู้ผูกพันกับทะเลและยังชีวิตด้วยการประมงพื้นบ้าน ทำมาหากินอย่างถนอมและเคารพธรรมชาติ วิถีชีวิตเขาอาจหายไปจากประวัติศาสตร์ในเวลารวดเร็วหากเกิดมลพิษจากถ่านหิน รวมถึงการถูกรุกรานจากทุนที่เข้ามาพร้อมอุตสาหกรรม ประเทศไทยในฐานะที่ก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและใช้พลังงานเพื่ออุตสาหกรรมกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ได้มีส่วนในการรุกรานเพื่อนบ้านโดยโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ทำให้เกิดผลกระทบข้ามแดนดังเช่นโครงการเศรษฐกิจพิเศษทวาย ประเทศเมียนม่าร์ที่โครงการศิลปะชุมชนได้เข้าไปศึกษาและทำงานร่วมกับเสมสิกขาลัยซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่เข้าไปทำงานร่วมกับเครือข่ายประชาชนชาวทวาย โครงการเศรษฐกิจพิเศษทำให้เกิดการสร้างเขื่อนเพื่อนำพลังงานไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมหนัก เกิดท่าเรือน้ำลึกเพื่อการขนส่ง “สิ่งเหล่านี้จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทะเล แม่น้ำ ป่าเขา อย่างมหาศาล เกิดการอพยพโยกย้ายชุมชน เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรมอย่างไม่สามารถคาดคำนวณได้”เธอสะท้อนมุมมองของศิลปิน ขณะที่ “ครูตี๋”นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่าการทำงานของศิลปินกลุ่มนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะใช้ศิลปะมาร่วมขับเคลื่อนปัญหาของชาวบ้านและธรรมชาติซึ่งเป็นเรื่องที่ชวนท้าทาย “ที่ผ่านมาเรามักเข้าใจว่าศิลปินทำงานเพื่อสนองต่อจินตนาการของตัวเอง และเป็นเรื่องของปัจเจกชน แต่จริงๆแล้วยังมีศิลปินกลุ่มหนึ่งที่พยายามออกมาขับเคลื่อนรับใช้ชุมชน ทำให้เกิดผลดีทั้งกับตัวศิลปินเองที่ได้เปิดตัวเองในการรับใช้สังคม และผลดีกับตัวชาวบ้านที่จะได้รู้ว่าศิลปะไม่ใช่แค่เรื่องสวยๆงามๆ เท่านั้น”ครูตี๋ กล่าว ด้านไพโรจน์ พนาไพรสกุล ชาวบ้านจากเครือข่ายลุ่มน้ำสาละวิน กล่าวว่าตอนแรกตนและชาวบ้านต่างก็รู้สึกประหลาดใจที่เห็นกลุ่มศิลปินในโครงการศิลปะชุมชนลงไปทำงานในหมู่บ้านริมแม่น้ำสาละวิน ยิ่งได้เห็นวิธีทำงานยิ่งแปลกใจ แต่ท้ายที่สุดชาวบ้านก็ได้ร่วมกันเรียนรู้ว่าศิลปะนั้นมีหลายรูปแบบ ซึ่งศิลปินกลุ่มนี้ได้ร่วมถ่ายทอดเรื่องราวของแม่น้ำสาละวินในอีกรูปแบบหนึ่ง “พอศิลปินกลุ่มนี้ลงไป ทำให้ชาวบ้านรู้สึกถึงคุณค่าของแม่น้ำสาละวินยิ่งขึ้น เพราะขนาดบุคคลภายนอกยังร่วมกันเข้ามาปกป้อง” ในวาระที่ทำงานมาครบ 15 ปี โครงการศิลปะชุมชนพยายามสร้างความรับรู้วงกว้าง โดยการเข้าไปพูดคุยกับนักศึกษาในสถาบันต่างๆ เริ่มครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และด้วยความร่วมมือกับฝ่ายเครือข่ายหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เตรียมจัดนิทรรศการรวบรวมผลงานทั้งหมดที่เคยทำมา ในช่วงวันที่ 26 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2562 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยในงานนี้จะมีทั้งส่วนนิทรรศการภาพถ่าย วีดีโอ ศิลปะแสดงสด และเวทีเสวนาทั้งเรื่องแม่น้ำโขง-สาละวิน และเวทีฟังเสียงสะท้อนจากชาวบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรีถึงผืนป่าใหญ่ใจแผ่นดินที่เป็นถิ่นเกิดก่อนถูกบังคับย้ายให้มาอยู่ด้านล่าว ณบริเวณลานสามเหลี่ยมชั้น 1 ส่วนบริเวณลานด้านหน้าหอศิลปฯจะมีการออกร้านงานศิลปะและงานฝีมือจากศิลปิน รวมถึงสินค้าจากฝีมือชาวบ้าน