‘เด็กหอ-น.ศ.ปี 1’ เสี่ยงซึมเศร้าสูง! นักจิตวิทยาธรรมศาสตร์ แนะครอบครัวระวังใกล้ชิด ระบุช่วงสอบกลางภาค-ปลายภาค สถิติความเครียดเด็กทุกชั้นปีพุ่งปรี๊ด ส่อฆ่าตัวตายอื้อ วอนผู้ปกครองอย่าเพิ่มความกดดัน นายอธิชาติ โรจนะหัสดิน อาจารย์สาขาจิตวิทยาคลินิก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า ทุกวันนี้นักศึกษาทั่วประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาเดียวกัน นั่นก็คือความเครียดสะสมที่เกิดขึ้นภายในรั้วมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่ต้องปรับตัวในหลายเรื่อง ทำให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มีความเครียดและภาวะซึมเศร้าสูงกว่านักศึกษาอีก 3 ชั้นปี อย่างมีนัยสำคัญ นายอธิชาติ กล่าวว่า ผู้ปกครองและสถาบันการศึกษาจำเป็นต้องเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตของเด็กชั้นปีที่ 1 อย่างใกล้ชิด เฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กต่างจังหวัดที่ต้องจากครอบครัวเข้ามาอาศัยอยู่ในหอพัก ซึ่งพบว่าต้องปรับตัวอย่างรุนแรงมาก โดยปัญหามีอย่างหลากหลาย อาทิ ความเหงาเพราะไม่มีเพื่อน ความกลัวเพราะไม่คุ้นชินพื้นที่ ตลอดจนกิจกรรมระหว่างรุ่นพี่-รุ่นน้อง ระบบโซตัส และปัญหาเรื่องเงินทอง “เด็กไทยมีภาวะพึ่งพึงสูงกว่าที่อื่น ดังนั้นจึงปรับตัวอยากกว่า หรือแม้แต่ในกลุ่มเด็กเก่งที่เคยเป็นช้างเผือกของจังหวัด เคยเป็นที่หนึ่งของหมู่บ้าน เป็นเด็กเก่งประจำโรงเรียน-ประจำตำบล แต่พอต้องมาเจอกับหัวกะทิในกรุงเทพ ตรงนี้ก็ทำให้หลายคนไปไม่เป็นเหมือนกัน ฉะนั้นเด็กปี 1 จึงมีความเครียดและภาวะซึมเศร้าสูงมาก” อาจารย์สาขาจิตวิทยาคลินิกรายนี้ กล่าว นายอธิชาติ กล่าวต่อไปว่า ทุกมหาวิทยาลัยล้วนมีนักศึกษาที่คาดหวังผลการเรียนในระดับที่สูงมาก ความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยอาจทำให้เด็กกลุ่มนี้รู้สึกแย่หรือด้อยค่าอย่างรุนแรง และยิ่งเมื่อต้องเจอกับแรงกดดันของครอบครัวที่ทิ่มแทงมาจากข้างหลังด้วยแล้ว ช่วงใกล้สอบจึงเป็นช่วงที่เด็กแสดงอาการทางจิตเวช-ความเครียด-ความพยายามฆ่าตัวตายมากที่สุด “ใน 1 ปี นักศึกษาจะเครียดจัด 4 ครั้ง ได้แก่ มิดเทอม 2 ครั้ง ไฟนอลอีก 2 ครั้ง ซึ่งจากผลสำรวจภาวะความเครียด-ซึมเศร้าในเด็กมหาวิทยาลัย พบว่าในช่วงเหล่านี้มีเด็กที่เครียดในระดับมากถึงระดับรุนแรงเกือบ 1 ใน 3 ของเด็กทั้งหมด ดังนั้นผู้ปกครองต้องเข้าใจและช่วยกันเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ไม่ใช่ไปเพิ่มแรงกดดันจนเด็กรับไม่ไหว” นายอธิชาติ กล่าว อาจารย์สาขาจิตวิทยาคลินิก กล่าวอีกว่า สำหรับ มธ. ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาจิตเวชของนักศึกษา และเข้าใจบริบทของปัญหาของนักศึกษาเป็นอย่างดี จึงได้จัดตั้ง ศูนย์ชีวิตชีวา (Viva City) ขึ้นในโซนหอพักนักศึกษา ณ ศูนย์รังสิต ทำหน้าที่คล้ายกับคลินิกให้คำปรึกษาทางด้านจิตใจ เปิดบริการตั้งแต่ เวลา 08.30-22.00 น. ทั้งนี้ ศูนย์ Viva City เปิดให้บริการใน 2 ส่วน ประกอบด้วย 1. คลินิกให้คำปรึกษา ซึ่งจะบุคลากรผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่ Student Advisor ซึ่งผ่านการคัดเลือกและฝึกอบรมให้เป็นผู้ให้คำปรึกษาเบื้องต้น ทำงานร่วมกับนักจิตวิทยา-จิตแพทย์ จากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ 2. Call Center ที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านเลขหมาย 02-028-2222 “จุดแข็งของศูนย์ให้คำปรึกษาในมหาวิทยาลัยคือความเข้าใจสภาพปัญหาและบริบทของนักศึกษา มากไปกว่านั้นก็คือเรารู้ว่านักศึกษาอยู่ที่ไหนจึงเข้าถึงได้อย่างทันท่วงที แต่ในช่วงแรกศักยภาพของ Viva City คงยังไปไม่ถึงขั้นรักษา เราจึงมุ่งเน้นที่จะเข้าถึงตัวนักศึกษาเพื่อให้เขา cool down อารมณ์ลงมาก่อน ส่วนเคสที่มีความรุนแรงเราก็จะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เพื่อรักษาต่อไป” นายอธิชาติ กล่าว