"สุริยะ" เผย ผลประชาพิจารณ์ 75% ไม่เห็นด้วยแบน 3 สารพิษ จ่อถกคณะกรรมการวัตถุอันตราย เร่งหาสารอื่นทดแทน ด้านเกษตรเสนอเลื่อนแบนนาน6เดือน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะ ประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย เปิดเผยว่า คณะกรรมการวัตถุอันตราย จะประชุมเพื่อพิจารณาแบน 3 สารเคมีทางการเกษตร ในวันที่ 27 พ.ย.นี้ ซึ่งการประชุมคงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และทำความเข้าใจ ว่า หากมีการแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิดแล้วจะมีสารตัวใดที่จะมาทดแทนบ้าง เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อเกษตรกร นอกจากนี้ นายสุริยะ ได้ระบุผ่านรายการ "เจาะลึกทั่วไปอินไซด์ ไทยแลนด์" ว่ากรมวิชาการเกษตรได้ส่งข้อมูลมาครบแล้ว แต่ปัญหา คือ ในส่วนของข้อมูลการทำประชาพิจารณ์ ซึ่งพบว่า กลุ่มตัวอย่างจำนวน 75% หรือประมาณ 48,789 ราย ไม่เห็นด้วยให้แบน 3 สารเคมี และอีกขณะที่ 25% เห็นด้วย อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ต้องให้กรมวิชาการ เกษตรผู้จัดทำประชาพิจารณ์จะต้องมีแผนที่ชัดเจนว่าหากมีการแบน 3 สารเคมีแล้ว จะมีมาตรการรองรับอย่างไร เพราะคือหัวใจสำคัญของเรื่องนี้ ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดที่เมื่อ 23 พ.ค. 2561 กรมวิชาการเกษตร แจ้งกับคณะกรรมการฯ ว่า ยังไม่สามารถหาสารมาทดแทนสารเคมีทั้ง 3 ชนิดได้ นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ตนบอกไม่ได้ว่าจะแบนสารทัน 1 ธ.ค.นี้หรือไม่ คงต้องรอฟัง ที่ประชุมก่อน เพราะคณะกรรมการวัตถุอันตรายแต่ละส่วนจะมีแต่กรมที่เชี่ยวชาญดูแลในแต่ละเรื่อง หากมติที่ประชุมให้เลื่อนก็ต้องเลื่อนออกไป แต่หากจะแบนตามกำหนดก็ต้องมีมาตรการรองรับ สำหรับเรื่องดังกล่าว มีแหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า หลังจากที่ได้ประสานงานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ส่งเอกสารมาประกอบการประชุมยกเลิก 3 สารมาเพิ่มเติม ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ส่งเอกสารมาตรการรองรับผลกระทบจากการยกเลิก 3 สารเคมี และเอกสาร อื่นๆมาให้แล้ว แต่ยังเป็นความลับ โดยจะส่งให้กับคณะกรรมการวัตถุอันตรายเปิดอ่าน พิจารณาในวันที่ 27 พ.ย.นี้ นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตร ได้รายงานในที่ประชุมว่า จะยืดระยะเวลาการจัดการหรือการบังคับใช้การยกระดับ 3 สารเคมีเกษตรเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออก ห้ามใช้ และห้ามมีไว้ครอบครอง ในวันที่ 1 ธ.ค. 2562 ออกไป อีก 6 เดือน เนื่องจากจะต้องมีระยะเวลาสำหรับการบริหารจัดการสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ที่ยังมีอยู่ในไทยกว่า 20,000 ตัน “งานหลักของคณะกรรมการชุดนี้คือการรองรับผลกระทบต่อเกษตรกร ซึ่งอยู่ภายใต้สมมติฐานว่าถ้ามีการแบนวันที่ 1 ธ.ค. นี้นั้นจะมีผลกระทบอะไรบ้าง และจะเยียวยาและชดเชย ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ประมาณเท่าไหร่ โดยให้แต่ละกลุ่มเสนอโครงการเข้ามาแต่ในที่ประชุมถกเถียงกันและให้กลับไปทำใหม่ ขณะที่ข้อเสนอเบื้องต้นกำหนดให้รัฐต้องใช้เงินชดเชยให้เกษตรกร 32,000 ล้านบาท สำหรับเกษตรกรที่ปลูกพืชอุตสาหกรรมร่วม 600,000 ครัวเรือน” นายอนันต์ กล่าว