กรมฝนหลวงฯ MOU สสน. ต่อเนื่อง เพื่อบูรณาการระบบติดตามและประเมินสภาพภูมิอากาศ สำหรับการบริหารจัดการน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการทำฝนหลวงและแก้ไขปัญหาภัยแล้งของประเทศ เมื่อวันที่ 22 พ.ย. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร พร้อมด้วยนายสุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบติดตามและประเมินสภาพภูมิอากาศสำหรับการบริหารจัดการน้ำ (ครั้งที่ 1) โดยขยายเวลาความร่วมมือทางวิชาการ จาก 3 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560–2563 เป็นขยายความร่วมมืออีก 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563–2568 เพื่อร่วมบูรณาการระบบติดตาม และประเมินสภาพภูมิอากาศสำหรับการบริหารจัดการน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการทำฝนหลวงและแก้ไขปัญหาภัยแล้งของประเทศอย่างต่อเนื่อง นายสุรสีห์ กล่าวว่า ด้วยยุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 20 ปี กำหนดให้มีการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยทรัพยากรน้ำถือเป็นปัจจัยพื้นฐานอันสำคัญต่อการขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มีการจัดทำแผนแม่บทการดัดแปรสภาพอากาศ ระยะ 20 ปี ที่ครอบคลุมการปฏิบัติงานทุกด้านและทุกระดับให้สอดรับสนับสนุนซึ่งกันและกัน อาทิ ด้านการปฏิบัติการฝนหลวง งานวิจัย และการบิน อีกทั้งต้องเพิ่มศักยภาพในการทำงานทั้งด้านบุคลากร เทคโนโลยี อุปกรณ์ และเครื่องมือที่สำคัญในการปฏิบัติงาน รวมถึงการพัฒนาทางด้านวิชาการ และแสวงหาความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอกจากทุกภาคส่วนที่มีบทบาทและภารกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำของประเทศ นายสุรสีห์ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติม กับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ในครั้งนี้เป็นการขยายเวลาความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงานจากเดิม ที่มีระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560–2563 ขยายความร่วมมืออีก 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563–2568 โดยมีวัตถุประสงค์ของความร่วมมือ ดังนี้ 1.ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลสภาพอากาศระหว่างกัน โดยที่ผ่านมามีการแลกเปลี่ยนข้อมูลปริมาณน้ำฝน ข้อมูลเรดาร์ตรวจอากาศฝนหลวง และข้อมูลตรวจอากาศชั้นบน เป็นต้น ซึ่งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้นำเอาข้อมูลมาใช้สนับสนุนการตัดสินใจในการวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงประจำวัน ได้เป็นอย่างดี 2.ร่วมกันวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบติดตาม และประเมินสภาพภูมิอากาศ สำหรับการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีโครงการความร่วมมือภายใต้บันทึกข้อตกลง 2 โครงการ ได้แก่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพแบบจำลองคาดการณ์สภาพอากาศระยะสั้น โดยใช้ข้อมูลตรวจอากาศชั้นบน เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวง และโครงการพัฒนาระบบประเมินน้ำฝนและพยากรณ์ล่วงหน้า โดยใช้ข้อมูลเรดาร์ตรวจอากาศ : พื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ผลจากการดำเนินโครงการทั้ง 2 โครงการดังกล่าว กรมฝนหลวงฯ ได้นำผลที่ได้มาใช้ประโยชน์ทั้งด้านการวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวง การติดตามสภาพอากาศ และการประเมินปริมาณน้ำฝนจากเรดาร์ สนับสนุนการประเมินผลการปฏิบัติการฝนหลวงประจำวัน 3.ร่วมพัฒนาบุคลากร และนำเทคโนโลยีตลอดจนความเชี่ยวชาญของทั้งสองหน่วยงานมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน โดยที่ผ่านมาได้มีการอบรมสัมมนา 3 ครั้ง คือ การอบรมเชิงปฏิบัติการแบบจำลอง “Weather Research and Forecasting (WRF)” ในวันที่ 4–6 กรกฎาคม 2561 ณ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) การสัมมนาเชิงวิชาการ “วิจัยสู่การปฏิบัติ (Research to Operation)” ครั้งที่ 5 หัวข้อ “Dynamic Modeling and Data Science in BIG DATA Era” ในวันที่ 27–28 สิงหาคม 2561 ณ โรงแรมเมอร์เคียว จังหวัดเชียงใหม่ และ 3) และการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “Aerosol Modeling Workshop” ในวันที่ 18–22 กุมภาพันธ์ 2562 ณ อุทยานดาราศาสตร์สิริธร จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการเสริมทักษะและองค์ความรู้ด้านการดัดแปรสภาพอากาศ และการพัฒนางานวิจัยของบุคลากรของทั้งสองหน่วยงาน "กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) จะได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อพัฒนางานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำของประเทศอย่างต่อเนื่อง ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ ในการพัฒนาสู่ความมั่งคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของเกษตรกรและประชาชนทั่วไป และได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากการดำเนินงานร่วมกันของทั้งสองหน่วยงานสืบไป"อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าว