“มนัญญา” เตือนเกษตรกรเร่งส่งคืน 3 สารพิษ แฉเริ่มมีกระบวนการตีกิน จัดฉาก จับเกษตรกรเป็นแพะรับบาป อาจเสี่ยงติดคุกเสียค่าปรับเป็นล้าน เพื่อโยนความผิดนโยบายรมต.เกษตรฯแบน3สาร จี้ทุกหน่วยงานเร่งด่วนดูแลประชาชน เกษตรกร พร้อมสยบม็อบเสื้อดำ หากมากดดันจะเจอม็อบเสื้อขาว ส่วนกรมวิชาการเกษตร ชงสารเคมี 17 ชนิดกำจัดวัชพืช 9ชนิด กำจัดศัตรูพืช ทดแทน3สาร วิธีทำเกษตรลดต้นทุนแล้ว วันที่ 22 พ.ย. น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานประชุมมอบนโยบายในการควบคุมกำกับวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ให้กับสารวัตรเกษตรทั่วประเทศกว่า 300 คน ได้รับแนวทางปฏิบัติเพื่อเตรียมความพร้อมในการทำงานทันทีที่มีประกาศของคณะกรรมการวัตถุอันตรายยกเลิกการใช้ 3สารเคมี พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส โดยจะมีผลห้ามนำเข้า ส่งออก จำหน่าย ผลิต ครอบครอง ในวันที่ 1 ธ.ค.62 ณ กรมวิชาการเกษตร น.ส.มนัญญา กล่าวว่า การเรียกประชุมวันนี้ เพื่อซักซ้อมความเข้าใจให้ตรงกันถึงการปฏิบัติต่อร้านค้า เกษตรกร บริษัทและผู้ครอบครอง ทั้งหมดเพื่อไม่ให้มีปัญหาว่า มีเกษตรกร หรือประชาชน ถูกจับดำเนินคดีที่ครอบครองสารเหล่านี้ ทั้งนี้ย้ำว่าอย่าให้มีเรื่องการไปเรียกรับผลประโยชน์ จะไปเข้าทางคนที่จ้องอยู่ เพราะเริ่มขบวนการดิสเครดิต กลั้นแกล้ง ทั้งตัวรัฐมนตรีช่วยเกษตรฯและกรมวิชาการเกษตร หากมีจัดฉากเข้าไปหาเกษตรกรที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือคนที่ตั้งใจกระทำผิดเพื่อให้เกิดประเด็นข่าวว่านโยบาย3สารทำให้เกษตรกรติดคุก โดนปรับ8แสนบาท เป็นล้านบาท เพราะขณะนี้มีคนรอดิสเครดิต จัดฉากอยู่ ดังนั้นให้สารวัตรเกษตร ทุกคนลงพื้นที่ประสานกับท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และกรมฯประสานกระทรวงมหาดไทย ขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัด ออกเสียงตามสาย หอกระจาย สร้างการรับรู้ให้เกษตรกร ชาวบ้าน ได้รับทราบโดยเร่งด่วนเพื่อให้ทันกับวันที่1ธ.ค.ไปชี้แจงให้ชัดว่าเกษตรกรต้องทำอย่างไร นำสารมาคืนจุดไหน และถ่ายรูป ลงบันทึกไว้ให้ชัดเจน “หากทุกคนทำให้ถูกต้องเราพร้อมจะปกป้องเวลาใครมาด่ากรม เราก็ไม่พอใจ แต่ลูกน้องเรา เราด่าได้ เพราะฉะนั้นอย่าให้มีเด็ดขาด กรณีไปจับเกษตรกรเข้าคุก และวันจันทร์ที่25พ.ย.จะประชุมกับสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศเพื่อสั่งการแนวทางควบคุม3สารที่อยู่ในมือของสหกรณ์การเกษตร ร้านค้าสหกรณ์ทุกพื้นที่ จะได้ช่วยกันทำให้สารพิษเหล่านี้หมดไปจากประเทศไทย และฝากย้ำอย่าให้มีข่าวว่าสารวัตรเกษตร ไปตีกิน ไม่อยากให้มีภาพแบบนี้ จะโดนข้อหาสมรู้ร่วมคิด รวมทั้งขณะนี้ร้านค้า ต่างๆ บริษัทค้าสารเคมีหลายแห่ง ที่มีข่าวว่าจัดโปรโมชั่นลดกระหน่ำ เพื่อผลักให้สารเคมีกับไปอยู่ในมือเกษตรกร ดังนั้นต้องช่วยกันดูแลเกษตรกร ไม่ให้กลายเป็นผู้กระทำผิด ซึ่งสารวัตรเกษตร อยู่ในพื้นที่รู้ดีว่าสารอยู่ในมือใครบ้าง ทั้งหน้าร้าน หลังร้าน อย่ามาคิดว่าจะไม่ตั้งใจทำ เพราะยังมั่นใจว่าจะไม่แบน ขอให้เลิกคิด เพราะมติออกมาแล้ว ใครจะมากลับมติให้ตอบสังคมด้วย จึงไม่กังวล มีการนัดใส่เสื้อดำมากดดันการประชุมครม.วันอังคารหน้า อย่าลืมว่าเมื่อมีม็อบเสื้อดำ เดี่ยวเสื้อขาวก็ออกมา ม็อบเสื้อขาวก็เกิดได้เหมือนกัน”น.ส.มนัญญา กล่าว นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงษ์ ที่ปรึกษารมช.เกษตรและสหกรณ์ และประธานคณะทำงานตรวจสอบสตอก 3 สาร กล่าวว่า จากนี้สารวัตรเกษตร ต้องลงพื้นที่ไปปฏิบัติงานในทิศทางเดียวกันหลังจากนี้กรมวิชาการเกษตร ต้องออกแนวปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตรและผู้ที่เกี่ยวข้อง ในข้อปฏิบัติกรณีวัตถุอันตรายชนิดที่4 ไกลโฟเซต พาราควอต คลอร์ไพริฟอส เพื่อกำหนดแนวปฏิบัติเนื่องจากพบว่าปัจจุบันมีร้านค้าสารเคมีเกษตรทั่วประเทศ 14,000 ร้านค้า ข้อมูล ณ วันที่ 12 พ.ย.62 เพราะฉะนั้นหากแต่ละร้านค้าขายไปรายละ10ขวดเท่ากับเป็นแสนขวดอยู่ในมือเกษตรกร ที่ไม่รู้จักสาร ที่ซื้อเพราะยี่ห้อ ไม่รู้จะมาสารประกอบอะไร บางยี่ห้ออาจมี3สารนี้ จะเสี่ยงที่จะมีความผิดได้เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่รมช.เกษตรฯได้ย้ำมาตลอดให้เร่งรัดทำความเข้าใจสื่อสารในพื้นที่ผ่านหอกระจายข่าว “เราห่วงเกษตรกร เพราะเข้าไม่รู้ แต่สำหรับร้านค้า บริษัท นำเข้า ผลิต พวกนี้รู้แน่นอน และรัฐมีท่าทีจะแบน3สารตั้งแต่ปี60แล้ว ดังนั้นรู้กันอยู่ในเรื่องกฎหมาย ขณะที่เจ้าหน้าที่เองบางรายสบช่องหาผลประโยชน์ อย่าทำร้ายเกษตรกรเลย ดังนั้นสิ่งที่รมช.เกษตรฯย้ำให้เกิดแนวทางปฏิบัติให้ชัดเจน เพื่อต้องการไม่ให้เกิด คำว่า คิดว่า คาดว่า เพื่อเป็นช่องใช้ดุลพินิจเรียกประโยชน์ หรือทำให้มีเรื่องเล็ดรอดไปขายหลังร้าน”นายฉกรรจ์ กล่าว ที่ปรึกษารมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย วันที่ 27 พ.ย.นี้ เป็นการประชุมรับรองมติแบน3สารของมติเมื่อวันที่ 22 ต.ค. ของคณะกรรมการชุดเดิม ดังนั้นหากคณะกรรมการ กอ. ชุดใหม่ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธาน แต่กรรมการเป็นชุดเดิมเกือบทั้งหมด ซึ่งจะหยิบเรื่องมติแบนมาทบทวนหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่รมว.อุตสาหกรรม ต้องสังคมให้ได้ว่ามีเหตุอะไรใหม่จึงนำมาทบทวน เพราะกรรมการชุดที่แล้ว ก็ล้วนเป็นผู้มีคุณสมบัติวุฒิภาวะ คุณวุฒิ อย่างไรก็ตามกรรมการผู้ทรงวุฒิ บางคนก็มาจากตัวแทนสมาคมผู้ค้าสารเคมี ที่คัดเลือกกันมา เป็นกรรมการอยู่ด้วย อาจเสนอทบทวนขึ้นมาได้ แต่ขึ้นอยู่กับประธาน จะรับเรื่องมาเป็นวาระในการประชุมเพื่อทบทวนหรือไม่ ซึ่งขอให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย ดูผลการประชุมสภาด้วยมีการโหวตให้ผ่านพ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืน ด้วยเสียงท้วมท้น หากพลิกมติแบน ตนเกรงว่าบ้านเมืองจะวุ่นวายหนัก ด้าน นายสุรเดช ปัจฉิมกุล รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า สารวัตรเกษตรทุกคนเข้าใจถึงวิธีการเก็บคืนสาร ได้ถามในการประชุมไม่มีใครมีปัญหา มีคู่มือปฏิบัติชัดเจนว่า ขั้นตอนแรกต้องไปชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนเกษตรกร ไม่ใช่ไปจับกุม และหากพบสาร ให้มีการถ่ายรูปบันทึก ลงแบบฟอร์ม ที่กรมกำหนด พร้อมเก็บคืนภายในเวลา30วัน ไม่มีการดำเนินคดีกับเกษตรกร โดยมีสำนักงานควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร 8 แห่งทั่วประเทศ และสำนักวิจัยพัฒนาพันธ์พืช รวม63แห่ง อีกทั้งอาจให้ศูนย์การเรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตการเกษตร 882 ศูนย์ ทุกอำเภอ เป็นจุดรับเก็บคืนสารจากเกษตรกรเพื่ออำนวยความสะดวกด้วย ซึ่งปัญหาเรื่องการขายสารหลังร้านจะไม่เกิดขึ้นเพราะตั้งแต่วันที่1ธ.ค.ในระยะเวลา 30 วันจากที่มีประกาศคณะกรรมการวัตถุอันตรายยกเลิกใช้3สาร จะต้องไม่มีสาร3ตัวนี้ในประเทศไทย เพราะนอกจากบังคับใช้พ.ร.บ.วัตถุอันตราย แล้วยังมีพ.ร.บ.พันธ์พืช พ.ร.บ.เมล็ดพันธ์ ด้วย นายสุรเดช กล่าวว่า ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตร ได้เสนอข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมี คงเหลือและสารเคมีทดแทน วิธีทำเกษตรและสารทดแทน3สารเพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกร หลังเลิกพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส โดยแบ่งเป็นการกำจัดวัชพืช มีสารเคมีทดแทน 17 ชนิด และวิธีการกำจัดวัชพืช มี2-6แบบ การกำจัดแมลงศัตรูพืช มีสารเคมี ทดแทน คลอร์ไพริฟอส 9ชนิด และมีแนวการใช้เครื่องจักรกลเกษตรผสมผสานกับสารเคมี กำจัดวัชพืชก่อนวัชพืชงอก สามารถทดแทนสารเคมีกำจัดวัชพืชได้ รวมทั้งควรจะมีการจัดรูปที่ดินเพื่อให้บริหารจัดการเครื่องจักรทำงานพื้นที่กว้างได้ง่ายส่งผลต่อต้นทุนการจ้างและควรหาเครื่องเหมาะสมกับการบริหารจัดการแปลง ทั้งการจ้างเครื่องจักร การใช้สารเคมีที่ลดต้นทุนได้ อีกทั้งประเทศไทยสามารถผลิตเครื่องจักรการเกษตรได้เอง ไม่ต้องพึ่งการนำเข้าเหมือนสารเคมี “กรมวิชาการเกษตร ได้รายงานข้อมูลเกษตรกร อ้างอิงสำนักนำงานสถิติแห่งชาติ ว่าครัวเรือนเกษตรกร 3.093 ล้านครัวเรือน หรือ 56.36เปอร์เซ็นต์ ไม่มีการสารเคมีกำจัดศัตรูพืช นอกจากนั้นงานวิจัยการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระบุว่าเกษตรกรสวนปาล์มจ.กระบี่ ใช้สารกำจัดวัชพืชเพียง26เปอร์เซ็นต์ เกษตรกรชาวสวนยาง จ.สงขลา ใช้สารกำจัดวัชพืชเพียง11.52 เปอร์เซนต์ อีก71.99 เปอร์เซ็นต์ ใช้เครื่องตัดหญ้า 9.68เปอร์เซ็นต์ ใช้รถไถ”รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว นายสุรเดช กล่าวว่า สำหรับคู่มือการปฏิบัติงานสารวัตรเกษตรฯกรณี3สารเป็นวัตถุอันตรายประเภท4 เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งกรมวิชาการเกษตร ที่1511/2562 เรื่องการดำเนินการกับวัตถุอันตรายชนิดที่4 ในข้อปฏิบัติสำหรับพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้เกี่ยวข้อง กำหนดให้การแจ้งปริมาณการครอบครองให้แจ้งปริมาณที่มีไว้ครอบครองกับพนักงาน ตามแบบฟอร์ม การแจ้ง การครอบครอง ณ พื้นที่สำนักงานควบคุมพืช วัสดุการเกษตร กทม.และต่างจังหวัด ศูนย์วิจัยพัฒนาพันธ์พืช โดยเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ผู้ผลิตนำเข้า ผู้จำหน่าย ร้านค้าและผู้มีไว้ในครอบครอง ต้องตรวจนับปริมาณการครอบครองทำการอายัด วัตถุอันตรายดังกล่าว ไว้ที่โรงงาน หรือร้านค้า หรือสถานที่มีไว้ในครอบครอง เมื่อพ้นกำหนด15วันที่แจ้งครองครองแล้ว ให้รอส่งมอบและขนย้ายภายใน15วัน เพื่อไปเก็บรักษาไว้ที่จุดรวบรวมที่กรมกำหนด นายสุรเดช กล่าวว่า ในส่วนการทำลายสาร ตามพ.ร.บ.วัตถุอันตราย 2535 ที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา52 กำหนดเป็นหน้าที่รับผิดชอบของผู้นำเข้า ผู้ผลิต ผู้นำผ่าน ผู้ส่งออก ผู้นำกลับเข้ามา ผู้ส่งกลับออกไป หรือผู้ที่ไว้ในครอบครอง เป็นผู้มีภาระในการกำจัดสาร กรณีหากมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นเจ้าของวัตถุอันตรายต้องชดใช้เงินแก่ราชการ หากดำเนินการเปิดรับบริษัทรับจ้างทำลาย จะมีการว่าจ้างบริษัทรับทำลาย มีการประกวดราคาตามที่กฎหมายกำหนด โดยบริษัทรับจ้างทำลายต้องมีการขนย้าย วัตถุอันตรายตามจุดรวบรวมด้วย นอกจากนั้นได้มีมาตรการป้องกันลักลอบนำเข้าวัตถุอันตราย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจพืช ตรวจสอบการนำเข้าวัตถุอันตรายร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนการตรวจภายในประเทศให้สารวัตรเกษตร ดำเนินการตรวจสอบสถานประกอบการทั้งผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ผู้จัดจำหน่าย ร้านค้า และผู้มีไว้ครอบครองอย่างเข้มงวดทุกราย ถ้าพบผิดดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด ให้เครือข่ายอาสาสารวัตรเกษตร เป็นผู้เฝ้าระวังและแจ้งเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้กรณีที่ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 43 มีการผลิต นำเข้าหรือครอบครอง ผู้มีสารครอบครองภายหลังเวลาประกาศห้ามต้องระวังโทษจำคุกไม่เกิน10ปี หรือปรับไม่เกิน1ล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีกระทำโดยประมาท ระวางโทษปรับไม่เกิน8แสนบาท “ส่วนสต็อก 3 สาร ตัวเลข 1 ม.ค.-30 มิ.ย.62 รวม 36,243 ตัน แบ่งเป็น ไกลโฟเซต นำเข้า 25,283 ตัน จาก 82บริษัท มีเพียง 23 บริษัท สัดส่วนนำเข้า 71 เปอร์เซ็นต์ พาราควอต นำเข้า 9,944 ตัน จาก 40 บริษัท มี 7 บริษัท นำเข้า 71 เปอร์เซ็นต์ คลอร์ไพริฟอส นำเข้า 1,016 ตัน จาก 23 บริษัท มี6บริษัทนำเข้า 70 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ปริมาณสารคงเหลือล่าสุด 3 สาร วันที่ 12 พ.ย.62 รวม 38,855.36 ตัน”นายสุรเดช กล่าว