สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย กลุ่มผู้รวบรวมข้าวโพดหวานอุตสาหกรรม สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และอุตสาหกรรมสิ่งทอ สงสัยการทำงานของ 3 พรรคกระทรวงใหญ่ เหตุใดเร่งรีบแบน 3 สารเคมีเกษตร พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพรีฟอส แถมเตรียมงบประมาณซื้อเครื่องจักร งบทำลายสารเคมีเกษตร เผยเศรษฐกิจไทยเตรียมพบ 4 วิบัติจากผลพวงวิกฤติการเกษตร นายภมร ศรีประเสริฐ อุปนายกสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือเปิดเผยว่า การแบนสารกำจัดวัชพืชจะกระทบกับอุตสาหกรรมมันสำปะหลังเป็นมูลค่า 5.8 หมื่นล้านบาท ที่ผ่านมาไทยส่งออกมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด สร้างรายได้เข้าประเทศนับแสนล้านบาท และเป็นที่ยอมรับจากประเทศคู่ค้าไม่เคยพบปัญหาสารตกค้าง จึงมองว่ารัฐควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจทำอะไร โดยล่าสุดนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ได้นำภาคธุรกิจมันสำปะหลังไปทำข้อตกลงเปิดตลาดส่งออกซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ตอนนี้กังวลว่าจะผลิตมันสำปะหลังส่งออกให้กับตลาดเหล่านี้ได้อย่างไร มันสำปะหลังมีความจำเป็นต้องใช้สารกำจัดวัชพืช เครื่องจักรกลไม่สามารถใช้ได้ ปัจจุบันมันสำปะหลังใช้เป็นวัตถุดิบในอาหารสัตว์ หากต้นทุนสูงขึ้น จะเป็นการเปิดโอกาสและสนับสนุนการนำเข้าวัตถุดิบที่มีต้นทุนต่ำกว่าเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และส่งผลกระทบต่อเกษตรกรกว่า 1.5 ล้านคน และอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง ดร.กิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่าประเทศไทยเป็นผู้ผลิตอันดับที่ 5 และส่งออกน้ำตาลอันดับที่ 2 ของโลกด้วยพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 11 ล้านไร่ ผลผลิตอ้อยรวมประมาณ 134 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้การแบนสารเคมีเกษตร คาดการณ์ผลผลิตจะลดลง 20-50% หากไม่ใช้สารพาราควอตในช่วงอ้อยย่างปล้องจะทำให้อ้อยหายไปสูงสุดถึง 67 ล้านตันต่อปี ซึ่งมีมูลค่าถึง 1.5 แสนล้านบาท เกษตรกรสูญรายได้ไปกว่า 5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังสะเทือนมูลค่าอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลโดยรวมทั้งหมด 3 แสนล้านบาท ทำให้เกษตรกร 1.2 ล้านคน และโรงงานน้ำตาลทั้งหมด 57 โรงงาน อาจถึงขั้นเลิกทำอาชีพการเกษตร และโรงงานอาจมีการเลิกจ้างงานในที่สุด มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ 1.7 ล้านล้านบาทต่อปี หายไปแน่นอนจากการแบน 3 สารเคมีเกษตร นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยกล่าวว่า เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบประกอบด้วย แรงงานภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบ 12 ล้านคน อุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมน้ำมันถั่วเหลือง อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ อุตสาหกรรมปศุสัตว์ 1,100,000 ล้านบาทต่อปี อุตสาหกรรมอ้อย-น้ำตาลและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง 300,000 ล้านบาทต่อปี อุตสาหกรรมมันสำปะหลังและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง 300,000 ล้านบาทต่อปี อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ 15,000 ล้านบาทต่อปี นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า หลังมติการแบนสารดังกล่าวเมื่อวันที่ 22 ต.ค.62 พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา นายกฯให้ตั้งคณะทำงาน 2 ชุด ภายใต้กระทรวงเกษตรและอุตสาหกรรม เพื่อดูผลกระทบเกษตรกร จนบัดนี้ยังไม่มีความคืบหน้า สมาพันธ์ฯพยายามนัดหมายหลายครั้งก็บ่ายเบี่ยงตลอดมา ทุกวันนี้รู้แต่ว่าหลังวันที่ 1 ธ.ค.62 จะโดนทั้งปรับและจำคุก พรรคพลังประชารัฐ ภายใต้การดำเนินงานของ รมว.อุตสาหกรรมยังคงทำตัวเป็นหลุมดำที่ไม่มีข้อสรุป ขณะเดียวกันพรรคภูมิใจไทย ภายใต้การดำเนินงานของ รมว.สาธารณสุข และ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศแบนสารเคมีเกษตรและเร่งรีบดำเนินการ โดยไม่มีมาตรการ สิ่งทดแทน และเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเกษตรกร เช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การดำเนินงานของ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เอาใจเกษตรกรด้วยนโยบายแจกเงิน แต่เตรียมของบประมาณชุดใหญ่จัดหาเครื่องจักรกลให้แก่เกษตรกร นอกจากนี้ข้อเสนอแบบสองมาตรฐานของทั้งองค์กรอิสระ และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดโอกาสให้นำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศที่เพาะปลูกโดยใช้สารเคมีเกษตรทั้งสามชนิดมาไทยได้ แต่ห้ามเกษตรกรไทยใช้ เท่ากับเป็นการฆ่าเกษตรกรถึง 2 รอบ ครั้งแรกไม่ให้ใช้สารเคมีฯ ไปหาวิธีการอื่นเพิ่มต้นทุน จนไร้กำไร และครั้งที่ 2 สนับสนุนการนำเข้าวัตถุดิบเกษตรจากต่างประเทศซึ่งมีราคาที่ต่ำกว่า และมีการใช้สามสารเคมี เกษตรกรตายยกประเทศ โดยเฉพาะสภาหอการค้าฯ หากยังมองไม่เห็นถึงผลกระทบและความเสียหายกับประเทศชาติยังไงก็ไม่ควรมานั่งดูเรื่องการค้า เป็นที่พึ่งพาของภาคอุตสาหกรรมไม่ได้ ทั้งนี้ท้ายสุดปีหน้าไทยคงหนีไม่พ้น 4 วิบัติทางเศรษฐกิจ เป็นผลจากวิกฤตเกษตรได้แก่ 1.เกษตรกรเปลี่ยนการเพาะปลูกไปยังพืชชนิดอื่น เกษตรกรชาวไร่คงต้องเลิกปลูกอ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง เพราะไม่มีพาราควอต 2.ผลผลิตในประเทศลด หันไปนำเข้าจากต่างประเทศแทน การส่งออกแข่งขันกับต่างประเทศไม่ได้ 3.ต้นทุนภาคการเกษตรสูงขึ้น รัฐบาลต้องนำเงินมาช่วยเหลือมากขึ้น ดึงเงินจากส่วนต่าง ๆ มาใช้ในนโยบายประชานิยม เกิดการจ่ายเงินเกินตัวของรัฐ 4.GDP ภาคการเกษตรลดลง ส่งผล GDP ประเทศสูญหาย การส่งออกตกต่ำสุดในประวัติการณ์ “อยากให้รัฐทบทวนทางออกที่เหมาะสมคือ มาตรการจำกัดการใช้ 3 สารเคมีเกษตร แทนการยกเลิก ทบทวนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และผลกระทบทางเศรษฐกิจ รวมทั้งดำเนินการหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ครบถ้วนและทั่วถึง มีหลายคนบอกว่า มติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเปลี่ยนไม่ได้ ผมขอถามว่า แล้วเมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมาทำไมจึงมีการเปลี่ยนมติจาก 2 ครั้งแรกได้ และใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงเปลี่ยนมติเดิม เพราะฉะนั้นอย่ามาบอกผมว่าเปลี่ยนไม่ได้ รัฐมนตรี นักการเมือง โดยเฉพาะข้าราชการ ที่เป็นข้าของแผ่นดิน ต้องตั้งสติคิดให้ได้ว่าท่านจะพาประเทศชาติไปทางไหน”