พังงาแจงเหตุโค่นไม้ยางนา รับกระบวนการเร่งรัดจนเกินเหตุ ด้านทรัพยากรฯเผยขออนุมัติตัดไม้ถูกจุดแต่เสนอผิดชนิดหลังตรวจเนื้อไม้ นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา พร้อมด้วยแขวงทางหลวงภูเก็ต รอง ผอ.รมน.จ.พังงา ร่วมกันแถลงข่าวกรณีการตัดต้นไม้ข้างทางหลวงหมายเลข 402 กม.5 ถนนเพชรเกษมสาย โคกกลอย-ท่านุ่น บริเวณหมู่ที่ 8 อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ตามที่ปรากฏข่าวการตัดต้นไม้(ยางนา) ทางสื่อโซเซียล กรณีหมวดทางหลวงถลาง แขวงทางหลวงภูเก็ต ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและชี้แจงว่า ช่วงต้นปี 2561 หมวดทางหลวงถลาง แขวงทางหลวงภูเก็ต ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ใช้รถใช้ถนนว่าได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากมีกิ่งไม้หล่นใส่รถที่สัญจรผ่านไปมาในบริเวณดังกล่าว จึงได้ทำการเก็บกวาดพบว่าเป็นต้นยางนาที่ยืนต้นตาย โคนต้นผุ และได้รายงานแขวงทางหลวงภูเก็ต เพื่อขออนุญาตตัดฟัน เพราะเกรงว่าจะเป็นอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนนและประชาชนทั่วไปที่ใช้เส้นทางสัญจรผ่านไปมา ต่อมาแขวงทางหลวงภูเก็ตได้มีหนังสือขออนุญาตตัดฟันต่อกรมป่าไม้ จำนวน 11 ต้น พร้อมทั้งทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ได้รับความเห็นในภาพรวมว่าควรดำเนินการและได้แจ้งในเรื่องขออนุญาตว่าไม่มีความประสงค์จะใช้ไม้ที่ได้จากการตัดฟัน ต่อมาต้นปี 2562 ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมป่าไม้ โดยมอบหมายให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) เข้าดำเนินการ จนถึงปัจจุบันและเมื่อวันที่ 14 พ.ย.2562 หมวดทางหลวงถลางได้รับการประสานจาก อ.อ.ป. ว่าจะเข้าดำเนินการตัดฟันตันไม้ดังกล่าว ซึ่งองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้จะได้นำไม้ไปดำเนินการตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยนายบัญชา ธนูอินทร์ นายอำเภอตะกั่วทุ่ง จ.พังงา กล่าวว่า สำหรับต้นยางนาในพื้นที่เกิดการผุ กิ่งบางกิ่งพร้อมหักโค่นตกลงบนพื้นผิวจราจร เป็นอันตรายต่อพี่น้องประชาชนที่สัญจรไปมา ทำให้ทางกำนันในพื้นที่ได้หารือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ส่วนนายนายภัตติพงศ์ สุนทรวร รักษาราชการแทน ผอ.ทสจ.พังงา กล่าวว่า ต้นไม้ที่ขออนุมัติทางกรมป่าไม้ เป็นจุดเดียวกับที่ได้ตัดโค่นล้ม ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้ตัดต้นไม้ตามที่ขออนุมัติ เพียงแต่เจ้าหน้าที่ดูชนิดไม้ผิดพลาดไป เสนอขออนุมัติเป็นต้นแซะ ขณะที่ต้นโค่นเสร็จสิ้นเจ้าหน้าที่ดูเนื้อไม้เพิ่มพบว่าเป็นต้นยางนา โดยตัดตรงตามที่ขอ แต่ชนิดไม้ตามข้อเท็จจริงเป็นต้นยางนา ขณะตรวจมีการตรวจร่วม ระหว่างป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมป่าไม้ เป็นการตรวจสอบร่วมกัน ด้านนายโชตินรินทร์ เกิดสม รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา กล่าวว่า เรื่องนี้มีการทำประชาพิจารณ์ประชาชนในพื้นที่ โดยมีการสอบถามความเห็นจำนวน 150 ชุด สรุปความเห็นส่วนใหญ่ต้องการให้ตัดต้นไม้ออกเพื่อความปลอดภัย ชีวิตและทรัพย์สิน ของประชาชนและรัฐ ในพื้นที่ ส่วนเหตุที่เกิดขึ้นแล้ว ถือว่าองค์ประกอบครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ไม่สามารถให้ต้นไม้กลับคืนดังเดิมได้ ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา (นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา) รู้สึกตกใจว่า ขั้นตอนการตัดควรจะมีกระบวนการใช้เวลาก่อนตัดประมาณ 1 เดือน เพื่อร่วมกันกับพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ พบว่ามีการดำเนินการรวดเร็วมาก ทางแขวงทางหลวงภูเก็ต ก็ตกใจเนื่องจากมีการประสานกับ หมวดทางหลวงถลาง ไม่ได้ประสานกับแขวงภูเก็ตโดยตรง ส่วนความผูกพันระหว่างพี่น้องประชาชน และต้นที่ถูกตัด คงไม่มีสิ่งใดทดแทนได้ ซึ่งทางจังหวัดไม่ได้นิ่งนอนใจ เบื้องต้นประสานงานยังหน่วยงานที่เพาะกล้าไม้ เพื่อต้องการให้พี่น้องประชาชน ร่วมกันปลูกต้นไม้ในบริเวณดังกล่าว โดยต้องการให้พี่น้องประชาชนที่รู้สึกสูญเสียเข้าร่วมการปลูกต้นไม้ต่อไป