แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคมเปิดเผยว่า หลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)ได้ปรับไทม์ไลน์ ร่นระยะเวลาการจัดประมูลเพื่อออกใบอนุญาต 5จี จากเดิมที่จะดำเนินการในช่วงปลายปี 2563 ถึงต้นปี 64 มาเป็นต้นปี 63 เพื่อที่ประเทศไทยจะได้ไม่ตกขบวนรั้งท้ายเฉกเช่นการประมูลเพื่อออกใบอนุญาต 3 จี และ 4 จีในอดีต โดย กสทช.ร่วมกับอีกหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ก็ทุ่มทุนจัดสัมมนาใหญ่ “โร้ดแม็พ 5 จี ดันไทยนำASEAN” เพื่อเร่งกระบวนการเปิดให้บริการ 5 จีให้เร็วขึ้น ระดมทุกภาคส่วนทั้งผู้ประกอบการ หอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งภาคบริการต่างๆ ซึ่งทุกฝ่ายต่างขานรับความจำเป็นที่ต้องเร่งรัดการพัฒนา5 จีให้เกิดขึ้น เพื่อที่ประเทศไทยจะได้ไม่ตกเทรนด์โลก ทั้งนี้ล่าสุดกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา กสทช.ได้ไฟเขียวหลักเกณฑ์การประมูลคลื่น 5 จี ที่จะทำการประมูลไปพร้อมกันทั้งแพคเกจใน 4 ย่านความถี่ ประกอบด้วยคลื่น 700,1800,2600 เมกะเฮิร์ตซ์(MHz)และ 26 กิกะเฮิร์ตซ์(GHz) และเตรียมนำร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวไปทำการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ พร้อมกำหนดไทม์ไลน์จัดประมูล 5จีในวันที่ 16 ก.พ.563 “ดูเหมือนกระแสตอบรับที่มีต่อร่างหลักเกณฑ์ประมูล 5 จีที่ กสทช.เพิ่งทำคลอดออกมานั้นจะไม่ได้รับความสนใจ ผู้ประกอบสื่อสารโทรคมนาคมแทบจะไม่มีการตอบรับกับเกณฑ์การประมูลของ กสทช.โดยเมื่อดูการประมูลคลื่นทั้ง 4 ย่านความถี่ที่จะประมูลในต้นปี 2563 ในส่วนของหลักเกณฑ์การประมูลคลื่น 700 MHz และ 1800 MHz ยังคงตั้งราคาประมูลขั้นต่ำจากราคาประมูลในครั้งก่อน โดยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆแม้แต่น้อย” ขณะที่คลื่น 2600 MHz ที่ กสทช.นำออกมาประมูลที่ถือเป็นคลื่นใหม่ที่ยังไม่มีประเทศใดดำเนินการมาก่อนนอกจากจีนที่มีการทดลองนำมาใช้ จึงทำให้ไทยกลายเป็นประเทศเดียวในโลกที่จะมีการนำคลื่นนี้ออกมาประมูล จนทำให้เกิดคำถาม เรากำลังจะเอาอนาคตประเทศเป็นหนูตะเภาทดลองยาหรือไม่ โดยสิ่งที่ กสทช.และรัฐบาลโดยเฉพาะคณะกรรมการขับเคลื่อน 5จีแห่งชาติควรตระหนักคือ การประมูลและออกใบอนุญาตในการพัฒนา5 จีนั้นแท้จริงแล้วคือ บริการโครงสร้างพื้นฐานที่ถือเป็น Infrastructure ไม่ต่างไปจากการโครงสร้างสร้างพื้นฐานที่เป็นถนนหนทาง หรือการลงทุนระบบรางที่รัฐบาลเป็นผู้ลงทุน 100% สำหรับในส่วนของการลงทุน 5จีที่รัฐบาลต้องการให้บริการให้ได้ในกลางปี 2563 มีคำถามว่า รัฐบาลและกสทช. มีมาตรการในการส่งเสริมช่วยเหลือภาคเอกชนที่จะลงทุนในกิจการเหล่านี้อย่างไรบ้าง เพราะขณะนี้มีความเสี่ยงและความผันผวนของตลาดโลกที่เราเองยังไม่รู้ว่า อนาคตเศรษฐกิจไทยประเทศไทยจะอยู่ตรงไหนหากประมูลไปแล้ว ผู้ประกอบการไม่มีศักยภาพจะลงทุนได้ หรือลงทุนไปแล้วไม่มีเครื่องลูกข่ายรองรับ หรือเครื่องลูกข่ายรองรับในราคาที่แพงแล้ว 5จี ที่ได้อาจเป็บดาบ2คมที่ทำให้ผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการตายทั้งเป็นได้