อดีตเลขาฯส.ป.ก. จี้ฟ้องร้องดำเนินคดีแพ่ง ฟาร์มไก่ “ปารีณา” บุกรุกที่ดินรัฐ ชี้ผู้ยึดถือครอบครองไม่ออกจากพื้นที่ถือว่ากระทำผิดต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 21 พ.ย.62 นายสรรเสริญ อัจจุตมานัส อดีตเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่า กรณีที่ดินส.ป.ก. ถือครองโดยมิชอบ อาทิ ที่ดินฟาร์มไก่ ของน.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ต้องดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ที่ยึดคือครอบครองที่ดินรัฐโดยมิชอบด้วยกฎหมายนั้นสามารถทำได้ ขอให้ดำเนินการอย่างจริงจัง โดยสมัยที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ส.ป.ก.ช่วงปี 2558-2559 ได้ตรวจสอบที่ดิน ส.ป.ก. ซึ่งมีประมาณ 40 ล้านไร่ทั่วประเทศพบว่า จัดสรรไปแล้ว 36 ล้านไร่ เหลือที่ยังจัดสรรไม่ได้ 4 ล้านไร่ ในจำนวนนี้รังวัดแล้ว 2 ล้านไร่ ส่วนอีก 2 ล้านไร่ยังไม่ได้รังวัด ทั้งนี้เป็นการดำเนินงานต่อจากนายวีรชัย นาควิบูลย์วงศ์ อดีตเลขาธิการส.ป.ก. ซึ่งดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2554-2558 ที่ประสงค์ตรวจสอบให้แน่ชัดว่า พื้นที่ 2 ล้านไร่ที่ยังไม่ได้รังวัดอยู่บริเวณใดบ้างเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการจัดสรรสิทธิ ซึ่งพบว่า หลายแปลงถูกยึดถือครอบครองโดยนักการเมือง นายทุน คนร่ำรวย และผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นจึงได้สั่งเอาแผนที่ทั่วประเทศมาต่อกันจึงทราบว่า บริเวณใดยังไม่ได้รังวัด นายสรรเสริญ กล่าวว่า ในขณะนั้นต้องการนำพื้นที่ที่ถูกครอบครอบโดยมิชอบด้วยกฎหมายกลับคืนมาให้รัฐ จึงเสนอพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้นให้ใช้คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 36/2559 ตามมาตรา 44 ดำเนินการตามกฎหมายซึ่งพล.อ. ฉัตรชัยมีดำริให้ยึดคืนที่ดินแปลงใหญ่ ผู้ถือครองขนาด 500 ไร่ขึ้นไปก่อน ทางส.ป.ก. จึงกำหนดแนวทางดำเนินการโดยเรียกผู้ครอบครองมาแสดงตัว ถ้าไม่มาแสดงตัวหรือไม่มีหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ ตลอดจนครอบครองพื้นที่เกิน 500 ไร่จะยึดคืนทันที ส่วนที่ปัจจุบันยังพบว่า มีผู้ครอบครองที่ดินส.ป.ก. เกิน 500 ไร่ เนื่องจากหน่วยงานในจังหวัดมีการปกปิดพื้นที่นั้นแบ่งแปลงให้มีเนื้อที่ต่ำกว่า 500 ไร่ แต่อยู่ติดกันและครอบครองโดยบุคคลเดียวกัน ในขณะนั้นจึงใช้มาตรา 44 ยึดคืนไม่ได้หมด นายสรรเสริญ กล่าวว่า กรณีที่มีการเข้าไปบุกรุกปลูกสร้างที่พักอาศัยและสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ในพื้นที่ป่า อันเป็นการยึดถือครองที่ดินของรัฐโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (1) ถ้าบุกรุกเนื้อที่เกิน 50 ไร่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 108 ทวิ ซึ่งจะถือว่า มีความผิดครั้งแรกที่เข้าไป แต่กฎหมายมีอายุความ 10 ปี หากไม่ได้ดำเนินการ เมื่อขาดอายุความไม่สามารถดำเนินคดีอาญาได้แล้ว แต่ตามประมวลกฎหมายการป่าไม้ซึ่งหากบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองนับเป็นความผิดต่อเนื่อง ไม่มีอายุความ โดยในพ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2485 มาตรา 54 หากบุกรุกเนื้อที่เกิน 25 ไร่ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2-15 ปีและปรับตั้งแต่ 10,000-1000,000 บาทตามมาตรา 72 ตรี เป็นต้น นายสรรเสริญ กล่าวว่า ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา เคยทำหนังสือมาถึง ส.ป.ก.ว่าทำไมที่ดิน ส.ป.ก.จึงมีการถือครองเกิน 50 ไร่ ซึ่งส.ป.ก.ชี้แจงกลับไปว่าก่อนเป็นที่ของ ส.ป.ก.เป็นที่ของกรมป่าไม้ มาก่อนโดยส่งมอบมาให้จัดสรร เมื่อ ส.ป.ก. รับมานั้น มีผู้ครอบครองมาก่อนแล้ว ซึ่งส.ป.ก. ต้องไปรังวัด ซึ่งผู้ครอบครองรายย่อยแสดงตัว แล้วได้รับเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 ไป แต่ผู้ครอบครองรายใหญ่ไม่ยินยอมให้รังวัด เมื่อสอบถามไปยังผู้ใหญ่บ้าน แล้วผู้ใหญ่บ้านบอกชื่อผู้ครอบครองมา เจ้าหน้าที่ระดับจังหวัดบางส่วนทราบว่า เป็นผู้มีอิทธิพลจึงถอย ไม่ดำเนินการต่อ ต่อมาได้เปลี่ยนตัวเจ้าหน้าที่และกำชับให้ดำเนินการอย่างถูกต้อง โดยขอความร่วมมือจากผู้ใหญ่บ้านให้ระบุผู้ครอบครอง ทางผู้ใหญ่บ้านส่วนใหญ่ไม่ระบุว่าใครเป็นเจ้าของ ปัญหาการครอบครองที่ดินส.ป.ก. โดยมิชอบด้วยกฎหมายจึงเรื้อรังมาจนปัจจุบัน “หากภาครัฐจะดำเนินการอย่างจริงจัง โดยไม่ยำเกรงการใช้อิทธิพลของผู้ครอบครองนั้น ในส่วนของส.ป.ก. สามารถแจ้งความดำเนินคดีทางแพ่งฐานบุกรุกที่ของรัฐและเรียกร้องค่าเสียหายจากการเข้าทำประโยชน์โดยมิชอบ ตลอดจนค่าชดเชยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ของรัฐ รวมทั้งหากพิสูจน์ได้ว่า ครอบครองเกินกว่า 500 ไร่ ส.ป.ก. สามารถดำเนินการตามมาตรา 44 กำหนดเป็นพื้นที่เป้าหมายเพื่อยึดคืนได้แล้วนำเข้าสู่กระบวนการจัดสรรสิทธิ์ใหม่ โดยกลไกการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐ (คทช.) ส่วนตามประมวลกฎหมายป่าไม้สามารถดำเนินคดีได้ทั้งตามพ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติและพ.ร.บ. ป่าไม้ซึ่งไม่มีอายุความ” นายสรรเสริญ กล่าว