สทนช. ถก 25 หน่วยงานบูรณาการแผนปฏิบัติการรับมือแล้งระยะ 3-4 เดือนข้างหน้า มอบเจ้าภาพรับผิดชอบในพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำอุปโภค-บริโภค พร้อมประสาน สธ. ชี้เป้าโรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำช่วงแล้ง 38 จังหวัด เร่งวางมาตรการรองรับหวั่นกระทบประชาชน เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช.ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 25 หน่วยงาน อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ, กรมทรัพยากรน้ำบาดาล,การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), การประปานครหลวง, การประปาส่วนภูมิภาค และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นต้น เพื่อกำหนดแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2562/63 ตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โดยมีข้อสรุปที่สำคัญ 3 ประเด็นหลัก คือ 1.ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการจัดสรรน้ำและระบายน้ำของแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางเป็นรายสัปดาห์ ซึ่ง สทนช.ได้ติดตามแผนการจัดสรรน้ำเขื่อนขนาดใหญ่ พบว่ามีการจัดสรรน้ำเกินแผนแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่มอก เขื่อนกิ่วคอหมา และเขื่อนกระเสียว ซึ่งเป็น 1 ใน 5 แห่งของเขื่อนที่มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอทำการเกษตร ปัจจุบันพบว่า แผนการจัดสรรน้ำ 13 ล้าน ลบ.ม. แต่มีการจัดสรรน้ำแล้ว 17.62 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 135% ที่ประชุมจึงได้เน้นย้ำกรมชลประทาน (ชป.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ควบคุมการจัดสรรน้ำให้กับพื้นที่ ตามปริมาณน้ำที่กำหนดอย่างเคร่งครัด โดยขอให้จังหวัด กำกับ ดูแลพร้อมสร้างการรับรู้กับประชาชนในพื้นที่ เพื่อป้องกันปัญหาการสูบน้ำไว้ใช้ระหว่างการส่งน้ำ ทั้งนี้ หากมีเหตุจำเป็นที่ต้องมีการจัดสรรน้ำมากกว่าแผน ต้องมีการรายงานให้ สทนช.ทราบก่อนด้วย เพื่อพิจารณาความเหมาะสมเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนที่ใช้ในการจัดสรรน้ำตลอดฤดูแล้งนี้และต้นฤดูฝนปี’63 ประเด็นที่ 2.การกำหนดเจ้าภาพหลักในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาให้กับพื้นที่เป้าหมายเสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งเบื้องต้นที่ประชุมได้มอบหมายให้การประปานครหลวง (กปน.) พิจารณาการใช้น้ำจากฝั่งตะวันตก มาทดแทนการใช้น้ำจากฝั่งตะวันออกให้มากขึ้น พร้อมทั้งดำเนินการร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาลขุดเจาะน้ำบาดาลเพื่อสำรองน้ำเพิ่มเติม ขณะที่พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคในเขตการประปาภูมิภาค (กปภ.) 48 สาขา 64 อำเภอ 26 จังหวัด ที่มีการสำรวจไว้เดิม และอีก 13 แห่งของ กปภ.ริมแม่น้ำโขง ใน 7 จังหวัด 19 อำเภอ ได้มอบหมายกรมทรัพยากรน้ำบาดาลพิจารณาสนับสนุนการดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาล 13 แห่ง รวมถึงมอบกรมชลประทานจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม 19 แห่ง ส่วนอีก 29 แห่งที่เหลือให้ กปภ.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาหาแหล่งน้ำสำรอง สำหรับนอกพื้นที่บริการ กปภ. ที่มีความเสี่ยง 38 จังหวัด โดยเฉพาะประปาชุมชนและประปาหมู่บ้านซึ่งมักประสบปัญหาขาดแคลนน้ำทุกปี กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะสำรวจสถานภาพแหล่งน้ำที่มีอยู่ หากพื้นที่ใดมีความเสี่ยงขาดน้ำต้องประสานกับกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรน้ำบาดลจัดหาแหล่งน้ำผิวดิน และน้ำบาดาล เป็นแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ รวมถึงพิจารณาหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่การเกษตรที่เป็นไม้ผล พืชต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน สทนช.ได้ประสานกระทรวงสาธารณสุขสำรวจพื้นที่ให้บริการต่างๆ โดยประสานกับหน่วยบริการจ่ายน้ำ เพื่อให้ได้ข้อมูลโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่มีความเสี่ยงขาดน้ำในฤดูแล้ง 38 จังหวัด เพื่อวางมาตรการป้องกันโดยเร่งด่วนด้วย ประเด็นสุดท้าย ที่ประชุมได้มีการพิจารณาพื้นที่น้ำร่องในการกำหนดเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำสำหรับหน่วงและเก็บกักน้ำหลากเพื่อดำเนินการในระยะแล้งนี้ เพื่อเก็บกักน้ำในฤดูฝนหน้า โดยที่ประชุมมอบหมายให้กรมชลประทานเร่งดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยาตอนล่าง 12 ทุ่ง และทุ่งบางระกำ โดยเพิ่มเติมโครงการนำร่องพื้นที่ลุ่มต่ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยัง จ.ร้อยเอ็ด และบางพลวง จ.ปราจีนบุรี พร้อมทั้งให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลัง พิจารณาแนวทางการจ่ายค่าชดเชยตามมติ ครม. 3 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ สทนช.ได้สรุปผลการประชุมเพื่อนำเสนอต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมทำหนังสือถึงหน่วยงานเกี่ยวข้องรับทราบมติที่ประชุมข้างต้น เพื่อให้เกิดผลที่ชัดเจนในทางปฏิบัติในการดำเนินการเชิงป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.พ.- พ.ค.63 เนื่องจากแนวโน้มปริมาณฝนในภาพรวมของประเทศลดลงต่อเนื่องด้วย