"ปิยบุตร"เปิดปมญัตติม.44 ซัดระบอบคสช.5 ปีใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ เปรียบเปรยใช้เวทย์มนต์เสกปืนให้เป็นกฎหมาย เป็นคณะรัฐหารที่ออกคำสั่งมากที่สุดเทื่อเทียบกับยุคพล.อ.สฤษดิ์ มีอำนาจมากกว่าสมัยจอมพลถนอม แถมใช้รธน.60 ล้างผิดให้ทุกกรณี เมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯทำหน้าที่ เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาญัตติด่วน เรื่อง ให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการใช้อำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามมาตรา 44 ซึ่งจำนวน 7 ญัตติที่เสนอโดยส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาล โดยนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะหนึ่งในผู้เสนอญัตติอภิปรายว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ได้มีคณะทหารนำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.เวลานั้น ได้ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน และยกเลิกรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 ตามข้อเท็จจริงถือมีความผิดฐานกบฎ แต่อีกสองเดือนต่อมาได้ออกรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดให้การรัฐประหารไม่มีความผิด "พูดง่ายๆ คือ ตัวคนทำคือคสช.รู้ทั้งรู้ว่าเป็นความผิดแต่ก็ยังทำ และมาออกคำสั่งและประกาศว่าสิ่งที่ตัวเองทำได้ให้ถือไม่ผิดและนิรโทษกรรมตัวเอง แนวคำพิพากษาศาลฎีกายึดถือกันว่าเป็นอำนาจรัฎฐาธิปัตย์มีอำนาจสูงสุดออกคำสั่งใดๆก็ได้" นายปิยบุตร กล่าวว่า คสช.มีกองกำลังอาวุธทางกายภาพยึดอำนาจปกครองประเทศ คือ เป็นเผด็จการ จริงๆแล้วไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายก็ได้ แต่กลับเลือกใช้มาตรการทางกฎหมายตลอด 5 ปีที่ผ่านมา โดยระบอบคสช.ใช้มาตรการทางกฎหมายหลายรูปแบบ โดยรูปแบบที่ 1 การพยายามแปลงความต้องการของคสช.ให้เป็นกฎหมายด้วยการออกประกาศคำสั่งหัวหน้าคสช. อยากได้อะไรก็เขียนลงในกระดาษและลงนามโดยพล.อ.ประยุทธ์ ให้มีค่าบังคับตามกฎหมาย หรือแม้จะมีรัฐธรรมนูญชั่วคราวแต่ก็ให้มีสนช.ที่มาจากคสช. เพื่อให้สนช.ตราเป็นพระราชบัญญัติ ไม่ว่าจะทำด้วยวิธีการใด เบื้องหลังการถ่ายทำทั้งหมดก็คือเงาทมึฬอำนาจของคสช. รูปแบบที่ 2 เมื่อมีการออกกฎหมายมาแล้วก็จะบังคับใช้ เพื่อจะบอกว่าทุกอย่างที่คสช.ทำเป็นไปตามกฎหมาย บรรดาคำสั่งทั้งหลายเป็นการเอากฎหมายไปห่อหุ้มปืน เอาความต้องการของคสช.ไปแปลงรูปเป็นกฎหมายเพื่อบังคับใช้ เช่น คสช.ไม่อยากให้ใครชุมนุมก็ออกประกาศห้ามชุมนุมและให้มีโทษทางอาญา เป็นต้น คสช.ใช้อำนาจทั้งหลายเรื่องและไม่อยากให้ใครมาตรวจสอบและไปโต้แย้งที่ศาล จึงเขียนป้องกันตัวเองไว้ว่าทุกอย่างชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนิรันดร์กาล ต่อให้ใครไม่เห็นด้วยก็ทำอะไรไม่ได้ และรูปแบบที่ 3 คสช.มีความพยายามใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างไม่สุจริต เช่น ปัจจุบันมีประมวลกฎหมายอาญาที่กำหนดความผิดฐานยุยงปลุกปั่นมาตรา 116 และพระราชบัญญัติความผิดทางคอมพิวเตอร์ แต่คสช.สั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาตัวเองไปร้องทุกข์แจ้งความ เพื่อสร้างให้เป็นคดีความปักหลังบุคคลที่เห็นต่างกับคสช. นายปิยบุตร กล่าวว่า สำหรับสาเหตุคสช.ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ เพราะ1. การใช้กฎหมายสร้างความแน่นอนชัดเจนว่าจะทำอะไรได้บ้างและสร้างความชัดเจนไปยังประชาชนว่าประชาชนที่อยู่ใต้อำนาจจงรู้ไว้ว่าจะทำอะไรได้บ้าง ถ้าทำแล้วจะโดนโทษอย่างไร และจัดระเบียบกับเจ้าหน้าที่ใต้บังคับบัญชาว่าจงจำไว้ว่าอำนาจสูงสุดอยู่ที่คสช. และ 2.เป็นการทำให้อำนาจดิบเถื่อนแบบอำนาจทางอาวุธ กลายเป็นความอ่อนนุ่มมากขึ้น เนื้อแท้มันดูน่าเกลียดแต่เอาเสื้อผ้าที่ชื่อกฎหมายไปห่อหุ้มเอาไว้ "กระบวนการใช้กฎหมายของคสช.เรียกว่าเป็นการใช้เวทย์มนต์เสกปืนให้เป็นกฎหมาย กระบวนการเช่นนี้จึงไม่แปลกเลยที่จะได้ยินพล.อ.ประยุทธ์ บอกว่าให้คนอื่นเคารพกฎหมาย การรัฐประหารครั้งนี้ได้สร้างประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะตลอด 5 ปีที่ผ่านมาได้สร้างปรากฎการณ์ ดังนี้ 1.ในแง่จำนวน คสช.เป็นคณะรัฐประหารที่ออกคำสั่งเป็นจำนวนมาก โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้รวบรวมไว้ว่ามีคำสั่งหัวหน้าคสช.217 ฉบับ ประกาศหัวหน้าคสช. 1 ฉบับ ประกาศคสช. 133 ฉบับ และคำสั่งคสช. 214 ฉบับ รวมทั้งหมด 565 ฉบับ เมื่อเทียบกับคณะรัฐประหารสมัยจอมพลสฤษดิ์ที่ปกคครองบประมาณ 5 ปี ออกประกาศคำสั่ง 57 ฉบับ สมัยจอมพลถนอมครองอำนาจ 1 ปี 10 เดือน ออกประกาศคำสั่ง 966 ฉบับ"ประหารที่มีอำนาจมากที่สุด ในอดีตเราจะนึกถึงมาตรา 17 ของจอมพลสฤษดิ์ แต่ถ้ามองในระบบกฎหมาย พล.อ.ประยุทธ์มีอำนาจมากตรงที่ขนาดเรามีรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 แต่หัวหน้าคสช.ก็ยังมีอำนาจพิเศษอยู่ 3.การรัฐประหารที่รับรองประกาศคำสั่งของคณะรัฐประหารได้อย่างรัดกุมมากที่สุด รัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 มาตรา 279 รับรองให้ทุกการกระทำของคณะรัฐประหารชอบด้วยรัฐรรมนูญ เราแค่ยกเลิกประกาศคำสั่งคสช.ยังไม่พอ แต่ต้องทำลายเกราะคุ้มกันประกาศคำสั่งคสช.ด้วย คือ รัฐธรรมนูญ มาตรา 279 จึงต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกมาตรานี้ "4.เป็นการใช้อำนาจครอบคลุมหลายมิติ เพราะไม่ได้มีประกาศคำสั่งที่มีเป้าประสงค์ทางการเมืองเท่านั้นแต่ยังไปกระทบเรื่องอื่นๆ ด้วยเช่น ป่าไม้ การประมง องค์กรอิสระ สิ่งแวดล้อม การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ กระบวนการยุติธรรม เป็นต้น ก่อนที่คสช.จะจากไปก็ยังออกคำสั่งคสช. 9/2562 เพื่อยกเลิกประกาศคำสั่งรวม 78 ฉบับ และยังมีการเอาประกาศคำสั่งคสช.ไปฝังไว้ในพระราชบัญญัติ" เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวอีกว่า ทั้งหลายทั้งปวงได้สร้างมรดกบาปของระบอบคสช. ได้แก่ 1.ทำให้ประเทศไทยมีระบบกฎหมายสองระบบคู่ขนานโดยไม่รู้ตัว โดยหลักแล้วสิ่งใดที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมันจะชอบด้วยตัวมันเอง แต่ถ้าสิ่งใดที่ชอบด้วยรัฐธรรมนญเพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้ให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แสดงว่าเนื้อแท้แล้วสิ่งนั้นมันไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ คุณเลยเขียนรับรองไว้ให้มันชอบด้วยรัฐธรรมนูญ" "พวกเราเป็นสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจตราพระราชบัญญัติและส่งให้วุฒิสภา และนายกฯทูลเกล้าฯและเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พระราชบัญญัติมีโอกาสขัดรัฐธรรมนูญ หากมีใครไปร้องศาลรัฐธรรมนูญและศาลวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ แต่ประกาศคำสั่งคสช.ที่ลงนามโดยพล.อ.ประยุทธ์ คนเดียวไม่มีวันขัดรัฐธรรมนูญ และการใช้อำนาจแบบนี้เราเรียกว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเหรอครับ" นายปิยบุตร กล่าวว่า 2.ประเทศไทยกลายเป็นรัฐทหาร ให้ทหารเข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น อย่างการรัฐประหารปี 2549 ทิ้งมรดกชิ้นใหญ่ไว้ คือ พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมพ.ศ.2551 ให้มีคณะกรรมการแต่งตั้งระดับนายพล พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551ต่อมาปี 2557 ทหารเข้ามามากขึ้น ตั้งแต่การมีบทบาทในนิติบัญญัติและบริหารมากขึ้นเรื่อยๆ หรือแม้แต่รัฐวิสาหกิจจำนวน 40 แห่งพบว่ามีนายทหารเข้าเป็นกรรมการบริหารจำนวน 80 คน หรือการเข้าไปมีบทบาทในกระบวนการยุติธรรม เช่น คำสั่ง 3/2558 ให้ทหารไปมีส่วนในการจับกุมคุมขัง หรือ คำสั่ง 13/2559 เข้าไปมีส่วนร่วมกับพนักงานสอบสวน เป็นต้น" นายปิยบุตร กล่าวว่า 3.ทหารเข้าไปมีบทบาทในชีวิตประจำวัน เพราะปัญหาแต่ละเรื่องจะมีนายทหารเข้าไปหมด เช่น ประมง สิ่งแวดล้อม การปราบพนัน ปฎิบัติการจิตวิทยา 4.การฝังตัวอำนาจของทหารเข้าไปอยู่ในรัฐธรรมนูญ เช่น คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ วุฒิสภา เป็นต้น 5.การแผ่ขยายอำนาจทหารครอบคลุมผ่านกลไกกอ.รมน. ทำให้แม่ทัพภาคกลายเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดทางทหารคู่ไปกับผู้ว่าราชการจังหวัดทางพลเรือน ทั้งหมดจึงมีความจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเพื่อศึกษาว่าประกาศคำสั่งฉบับไหนต้องเลิกหรือต้องใช้ต่อ ซึ่งฉบับไหนต้องใช้ต่อต้องเปลี่ยนให้เป็นกฎหมายตามระบบปกติ ส่วนฉบับไหนละเมิดความยุติธรรมก็ต้องยกเลิกและเยียวยาให้กับผู้เสียหายด้วย "ผมได้ยินมาว่าส.ส.รัฐบาลจะลงมติไม่เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ทั้งๆที่ญัตตินี้มีส.ส.รัฐบาลเสนอเข้ามาด้วย หลังการประหารรัฐประหาร 2557 หลายคนเป็นส.ส.รัฐบาล รัฐมนตรี ฝ่ายค้าน แต่ทุกคนยังจำตอนที่ถูกเรียกรายงานตัวและถูกข่มขู่ได้หรือไม่ วันนี้เรามีการเลือกตั้งและมีอำนาจนิติบัญญัติจากประชาชน ถึงเวลาแล้วที่สภาฯต้องยืนตรงทระนงองอาจต่ออำนาจเผด็จการ ประเทศไทยไม่มีทางสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญได้ หากยังมีระบอบรัฐประหารฝังตัวอยู่ ประเทศไทยไม่มีทางสถาปนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริงได้ หากยังมีมรดกคสช.อยู่ จึงเป็นภารกิจสำคัญของสภาฯที่จะต้องคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเพื่อศึกษาเรื่องนี้" นายปิยบุตร กล่าว