​วันที่ 21 พ.ย. 2562 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการอนุรักษ์และพัฒนา กรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า ครั้งที่ 3/2562 โดยมี ดร. รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกรรมการและเลขานุการ พร้อมด้วยกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล สำหรับที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับเรื่องการก่อสร้างอุโมงค์ทางเดินลอดถนนหน้าพระลานและถนนมหาราช เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมบริเวณสนามหลวง ถนนหน้าพระลานและถนนมหาราชให้เป็นระเบียบเรียบร้อย มีศักยภาพรองรับนักท่องเที่ยว และเกิดความปลอดภัยในการสัญจร โดยมอบให้กรุงเทพมหานคร พิจารณาปรับปรุงรายละเอียดรูปแบบโครงการให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกลมกลืนในพื้นที่ เช่น การเชื่อมต่ออุโมงค์ทางเดินลอดถนน ตำแหน่งทางขึ้น-ลง และการออกแบบใช้ประโยชน์ในลักษณะอารยสถาปัตย์ เพื่อทุกคนในสังคม สามารถมาใช้บริการได้อย่างสะดวกและปลอดภัย นอกจากนี้ยังได้หารือการปรับปรุงพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ บริเวณถนนราชดำเนินกลาง และสวนนาคราภิรมย์ โดยมุ่งหมายให้อาคารและที่ดินตลอดสองฝั่งถนนราชดำเนินกลางได้รับการปรับปรุงพัฒนาให้มีความสวยงาม มีคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมและเป็นที่ท่องเที่ยว โดยเบื้องต้นจะดำเนินการปรับปรุงภาพลักษณ์สถาปัตยกรรมภายนอกอาคาร เป็นต้นแบบ 2อาคาร (อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ และอาคารเทเวศประกันภัย) ส่วนพื้นที่บริเวณสวนนาคราภิรมย์ มีแนวคิดให้เกิดการใช้ประโยชน์แบบผสมผสาน เชื่อมโยงกับพื้นที่ตลาดท่าเตียน ที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่และนักท่องเที่ยว โดยมอบให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ นำแนวคิดในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สำคัญไปปรับปรุงให้มีความสอดคล้องกับคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ที่ประชุมยังได้พิจารณาการจัดทำแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่า อาทิ เมืองเก่าระยองครอบคลุมอาณาบริเวณพื้นที่ชุมชนริมฝั่งแม่น้ำระยอง สองฟากถนนยมจินดา และถนนชุมพล (บางส่วน) อาคารโบราณ สถานที่สำคัญ เข่น อาคารพักอาศัยและร้านค้าในย่านถนนบมจินดา มีรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น คือ กลุ่มอาคารชิโนโปรตุกีส และกลุ่มแถวอาคารแถวไม้สองชั้น ตึกแถวโบราณ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของเมืองที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม ส่วนเมืองเก่าสุรินทร์ ครอบคลุมอาณาบริเวณพื้นที่กำแพงเมืองเก่าและคูเมืองสุรินทร์ชั้นนอก ชุมชนและย่านการค้าบริเวณหลังสถานีรถไฟสุรินทร์ อาคารสำคัญในพื้นที่เมืองเก่า เช่น บ้านพักอาศัย 2 ชั้น แบบบ้านไม้ดั้งเดิม เรือนแถวไม้ชั้นเดียว และ 2 ชั้น อาคารแถวคอนกรีตเสริมเหล็ก ในยุคสถาปัตยกรรมแบบสมัยใหม่ ( Modern Architecture ) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญให้กับหน่วยงาน ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่เมืองเก่า สามารถนำไปขับเคลื่อนงานอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าให้มีความสอดคล้องกับบริบทพื้นที่เพื่อดำรงคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมสืบต่อไป โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และ รวมทั้ง การปรับปรุงองค์ประกอบคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าน่าน เมืองเก่าลำพูน และเมืองเก่าราชบุรี ให้มีความสอดคล้องกับพื้นที่และเพิ่มผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องมาร่วมเป็นเครือข่ายในการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า