เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้อง ต่อ สำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัด นนทบุรี ให้ไต่สวน สอบสวนเอาผิด ส.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ส.ส.สรวุฒิ เนื่องจำนงค์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ และ ส.ส.จิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)นนทบุรี พรรคเพื่อไทย เนื่องจากได้ครอบครองที่ดิน ส.ป.ก. และ ภ.บ.ท.5 โดยที่อาจจะขาดคุณสมบัติของการมีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งที่ดิน ภ.บ.ท.5 นั้นมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 676/2519 กำหนดบรรทัดฐานไว้ว่า “ผู้ที่มีชื่อในใบเสร็จเสียเงินบำรุงท้องที่เป็นเพียงหลักฐานแสดงว่าผู้นั้นเป็นผู้เสียภาษีเท่านั้น ไม่ใช่หลักฐานแสดงว่าผู้นั้นมีสิทธิครอบครอง” และคำพิพากษาฎีกาที่ 4347/2544 ได้กำหนดบรรทัดฐานไว้ด้วยเช่นกันว่า “ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 2518 ม.26(4) บัญญัติว่า “ถ้าเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อคณะรัฐมนตรีปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติส่วนใดแล้ว เมื่อ ส.ป.ก. จะนำที่ดินแปลงใดในส่วนนั้นไปดำเนินการปฏิรูปที่ดิน พรฎ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดิน มีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในที่ดินแปลงนั้น” ดังนั้น ที่ดินพิพาทเมื่อยังมิได้มีการปฏิรูปที่ดิน แม้จะมีพรฎ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินออกมาแล้วก็ตาม พรฎ.ดังกล่าวเป็นเพียงการกำหนดการปฏิรูปที่ดินเท่านั้น ไม่ได้มีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในทันที พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติยังคงเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอยู่” อีกทั้ง ตามบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีเข้ารับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 25 พ.ศ.2562 ของ ส.ส.ทั้ง 3 ราย ปรากฏโดยชัดแจ้งว่ามีทรัพย์สินและรายได้ต่อปีเป็นจำนวนมาก จึงเป็นการขัดต่อ พรฎ.กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเป็นเกษตรกร พ.ศ.2535 และมติคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ครั้งที่ 1/2555 เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2555 ได้กำหนดอัตรารายได้ของผู้ยากจนไว้ คือ ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อคนต่อปีเท่านั้น ดังนั้น ส.ส.ทั้ง 3 คนย่อมรู้ว่าตนเองเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติของการได้สิทธิในการครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. หรือ ภ.บ.ท.5 ดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น แต่กลับไม่ยอมสละที่ดินดังกล่าวคืนให้รัฐเพื่อนำไปจัดสรรให้กับผู้ยากไร้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งเท่ากับว่าอาจมีเจตนาที่จะทุจริตต่อหน้าที่และฝ่าฝืนกฎหมายอันเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯ 2561 อย่างร้ายแรงในข้อ 7 ข้อ 8 และข้อ 9 และยังเข้าข่ายการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลักในข้อ 11 ข้อ 12 ข้อ 17 และฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมทั่วไปในข้อ 21 ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 ม.219 บัญญัติอีกด้วย สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงต้องนำความมาร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการไต่สวน สอบสวน เพื่อดำเนินการเอาผิดหรือลงโทษ ส.ส.ทั้ง 3 คนต่อไป นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด