ฝ่่ายค้านถล่มรบ.ออกพรก.ไม่ดูความเป็นจริงของสังคมก่อทำให้เกิดความเสียหายต่อสังคม ขณะที่ "ปิยบุตร"ซัดสนช.ออกกม.เหมือนเล่นขายของ เปรียบโรงงานปั๊มกฎหมายรายวัน วันที่ 20 พ.ย. มีรายงานว่า สภาฯได้พิจารณาพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 พ.ศ. 2562 โดยนายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน อภิปรายว่า พระราชบัญญัติฯมีผลใช้บังคับไปแล้ว แต่มีความไม่พร้อมบางประการทำให้ต้องมีการออกพระราชกำหนด กล่าวคือ ออกกฎหมายมาโดยไม่ได้ประเมินว่ารัฐจะมีความพร้อมจะปฎิบัติได้หรือไม่ สะท้อนให้เห็นว่าเป็นการออกกฎหมายโดยไม่ได้ดูความเป็นจริงของสังคมทำให้เกิดความเสียหายขึ้น เรื่องนี้ต้องตำหนิสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ออกกฎหมายโดยไม่ได้ดูความพร้อม แต่เพราะเป็นสภาที่ไม่ได้มาจากประชาชน จึงเพิกเฉยต่อเสียงท้วงติงและออกมาโดยมีเสียงเห็นชอบไม่ครบตามองค์ประกอบด้วย ทำให้ไม่ชอบด้วยกระบวนการของสภาและความต้องการของสังคม จึงเกิดผลเสีย ทำให้วันนี้ต้องตามมาแก้ไขด้วยการระงับการใช้ไว้ก่อน "ที่สำคัญไม่ได้มีกฎหมายนี้เพียงฉบับเดียวแต่ยังมีกฎหมายอื่นๆที่ออกโดยสนช.ที่มีปัญหาอีก เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย จึงเรียนว่าเราไม่สบายใจและเราต้องตามแก้อีกเยอะ ขอตำหนิรัฐบาลว่าการออกพระราชกำหนดยังไม่เพียงพอ เพราะต้องไปปรับปรุงอีกมากเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของสังคม ดังนั้น พวกเราจึงไม่เห็นด้วยกับการออกพระราชกำหนด ทางที่ดีที่สุดเพื่อให้เกิดความรอบคอบ คือ การแก้ไขโดยทำเป็นพระราชบัญญัติเพื่อแก้ไขกฎหมายดังกล่าว" นายสุทิน กล่าว ด้าน นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ กล่าวว่า พระราชบัญญัติฉบับนี้ออกโดยสนช.ที่ใช้เวลาเพียง 7 นาทีเท่านั้น และเมื่อกฎหมายฉบับนี้ออกมาแล้วปรากฎว่ามีข่าวออกมาว่ากระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีความพร้อม แต่ถัดมาไม่นานกลับมีพระราชกำหนดออกมาโดยอ้างถึงความไม่พร้อมในการปฏิบัติให้สอดรับกับพระราชบัญญัติ "การออกพระราชบัญญัติไม่ใช่การเล่นขายของที่ออกไปแล้วและไปนึกออกว่าไม่มีความพร้อมจนต้องไปออกพระราชกำหนด แบบนี้ไม่ต่างอะไรกับโรงงานปั๊มกฎหมายรายวัน" นายปิยบุตร กล่าว นายปิยบุตร กล่าว สำหรับพระราชกำหนดฉบับนี้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้วและยืนยันว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ผูกมัดต่อการประชุมสภาฯในการพิจารณาว่าจะอนุมัติพระราชกำหนดฉบับนี้หรือไม่อนุมัติ ดังนั้น สภาฯจึงมีดุลพินิจในการพิจารณาพระราชกำหนด "รัฐบาลดำรงตำแหน่งมาประมาณ 6 เดือน ออกพระราชกำหนดไปแล้ว 2 ฉบับ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้จะมีความพยายามในการตราพระราชกำหนดบ่อยครั้งต่อไปหรือไม่ เป็นความกังวลใจว่านายกฯและรัฐมนตรีจะติดเป็นนิสัยจากเมื่อครั้งทีมีมาตรา 44 ในมือ แต่เวลานี้ไม่มีอำนาจมาตรา 44 แล้ว ดังนั้น ต่อไปต้องใช้อำนาจให้รอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดการใช้พระราชกำหนดที่คิดเป็นยาวิเศษ ผมจึงไม่เห็นด้วยกับพระราชกำหนดฉบับนี้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการยุติการกฎหมายที่มักง่ายเสียทีและยืนยันว่าไม่ให้คณะรัฐมนตรีใช้อำนาจออกพระราชกำหนดพร่ำเพรื่อนจนกลายเป็นมาตรา 44จำแลง" นายปิยบุตร กล่าว