วันที่ 20 พ.ย.62 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯคนที่ 1 เป็นประธานการประชุม หลังจากพิจารณากระทู้ถามเสร็จแล้วได้เข้าสู่การพิจารณาตามระเบียบวาระ ได้แจ้งต่อที่ประชุมสภาฯให้ทราบถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยให้นายนวัธ เตาะเจริญสุข พ้นจากการเป็นส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย และ คำวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญเรื่องพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 พ.ศ. 2562 ทั้งนี้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ขอเสนอให้ที่ประชุมสภาฯเปลี่ยนระเบียบวาระการประชุมโดยให้นำญัตติเรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาพิจารณาต่อจากพระราชกำหนดฯ เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นที่สนใจของประชาชน และสมัยประชุมที่ผ่านมา สภาฯได้เคยเลื่อนมาแล้ว แต่เวลาผ่านมาเป็นเดือนกลับยังไม่ได้รับการพิจารณา เพราะติดปัญหาเรื่องการบรรจุระเบียบวาระของสภาฯ และการใช้เวลาไปกับวาระการรับทราบรายงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ทั้งๆที่กฎหมายผ่านสภาแค่สองฉบับเท่านั้น "เราว่างเว้นจากการไม่มีสภามา 5 ปีแต่เรื่องสำคัญกลับไม่ได้รับการพิจารณา เราก็รอความหวังจากประธานสภาทีละสัปดาห์ แต่ผมดูแล้วเรามีเรื่องรับทราบอีกหลายเรื่อง ทำให้โอกาสที่จะมีการพิจารณาเรื่องญัตติการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญแทบไม่มีทางจะเป็นไปได้ จึงอยากขอให้ที่ประชุมสภาฯได้พิจารณาเปลี่ยนระเบียบวาระ" นพ.ชลน่าน กล่าว ต่อมา นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ก่อนการปิดสมัยประชุมสภาที่ผ่านมาที่ประชุมสภาฯได้มีการอภิปรายและพวกเราทุกคนได้ทำความตกลงกันตอนนั้นว่าเมื่อเปิดสมัยประชุมสภาที่สอง เรื่องที่มีความสำคัญ คือ ญัตติด่วนเรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการศีกษาผลกระทบจากมาตรา 44 ซึ่งตอนนั้นมีการจัดกลุ่มของญัตติที่เป็นประเภทเดียวกัน และ กลุ่มญัตติเรื่องการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ "เราความเข้าใจถึงความเร่งด่วน จึงขอให้พิจารณากลุ่มญัตติด่วนเรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาผลกระทบมาตราา 44 ก่อน และเมื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวเสร็จแล้วถึงจะพิจารณาญัตติเรื่องรัฐธรรมนูญต่อไป" จากนั้น นายสุชาติ ได้ขอมติจากที่ประชุมเนื่องจากไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ปรากฎว่าที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 228 ต่อ 240 เสียงไม่เห็นด้วยกับการให้เลื่อนญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาพิจารณาต่อจากพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 พ.ศ.2562 ส่งผลให้การประชุมสภาฯต้องพิจารณาเรื่องพระราชกำหนดฯและเรื่องรับทราบรายงานขององค์กรต่างๆและเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณเสร็จแล้วตามลำดับและต่อด้วย ญัตติด่วน เรื่อง ให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการใช้อำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามมาตรา 44 ก่อนจะต่อด้วยเรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามลำดับ