นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผยในงานสัมมนา “EEC Next ทุนไทย-เทศ ปักหมุด EEC”ว่า หลังจากรัฐบาลวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้วยการพัฒนาเขตอีอีซี และมีความคืบหน้าต่อเนื่องจากการเร่งรัดของรัฐบาล ทำให้นักลงทุนต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาติดต่อ เพื่อเข้ามาขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง นับเป็นโอกาสของไทยในฐานะประตูสู่อาเซียน ในส่วนของสำนักงานอีอีซี ต้องทำให้ภาคธุรกิจทั้งนักลงทุนไทยและต่างประเทศมองเห็นความชัดเจน เพื่อตัดสินใจลงทุนในเขตอีอีซีอย่างจริงจัง ไม่ใช่เพียงนำเงินลงทุนอย่างเดียว แต่ต้องการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาถ่ายทอดจากต่างชาติ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องเตรียมพร้อมทั้งการพัฒนาบุคลากร การพัฒนาสาธารณูปโภค การเตรียมพร้อมพลังงานเพื่อป้อนโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งได้เตรียมพร้อมรองรับทุกแผนงาน โดยหลังจากนี้ต้องขับเคลื่อนให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด โดยเฉพาะการตัดสินใจลงทุนต้องเริ่มเกิดขึ้นในการพัฒนาบุคลากร รองรับการทำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาลงทุน การพัฒนาสภาพแวดล้อมรองรับการตั้งนิคมอุตสาหกรรม การดูแลขยะอุตสาหกรรม และการดูแลด้านการแพทย์ ซึ่งหากเขตอีอีซีสร้างความเชื่อมั่นดึงนักลงทุนเข้าประเทศได้มาก ก็จะส่งผลดีต่อการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ เพราะเมื่อไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ต้องพึ่งพาการส่งออกถึงร้อยละ 70 เอสเอ็มอี เอกชนรายย่อย ย่อมได้ผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว เพราะยอดขายลดลง ต้องมีการปรับลดต้นทุน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพื่อให้เกิดลงทุนจริงผ่านความร่วมมือแบบประชารัฐ และประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมกับการลงทุนของรัฐบาล คาดว่านักลงทุนต่างชาติ ทั้งจีน ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศตัดสินใจเข้ามาลงทุนปี 2563 และต้องการใช้พื้นที่นับหมื่นไร่ เกินเป้าหมายจากที่เตรียมพื้นที่ 6,500 ไร่ ในการรองรับการลงทุนภาคอุตสาหกรรมทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมใหม่ นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้เสนอให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาแผนพัฒนาระยะปานกลาง และระยะยาว ระหว่างปี 2562-2571 หวังผลักดันอุตหสกรรมกลุ่มเป้าหมาย ทั้งการตั้งศูนย์การผลิตอาหารแห่งอนาคตแห่งอาเซียน การส่งเสริมกลุ่มยานยนต์แห่งอนาคต การพัฒนาระบบราง เพื่อย้ายฐานการผลิตระบบรางมายังไทย นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ปัจจุบันบุคลากรยังไม่ตรงกับความต้องการของตลาด จึงมุ่งเน้นพัฒนานักเรียนอาชีวะรองรับความต้องการของเอกชนในเขตอีอีซี และพบว่านักเรียนยังรับข้อมูลข่าวสารไม่ครบถ้วน หลายคนต้องการเรียนด้านบัญชี ขณะที่ปัจจุบันมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์จัดทำบัญชีรองรับการทำบัญชีงบดุลทั้งหมดแล้ว จึงต้องเปลี่ยนไปเรียนด้านวิเคราะห์ข้อมูลการเงิน และการบริหารจัดการข้อมูลการเงิน ดังนั้น แรงงานยุคใหม่ต้องปรับตัวรองรับกระแสโลกที่เปลี่ยนไป จากนี้ไปจึงต้องร่วมกับสถาบันการศึกษาเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาบุคลากรให้ตรงกับความต้องการภาคอุตสาหกรรม นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า การลงทุนภาคเอกชนในการพัฒนาด้านการศึกษาสัดส่วนร้อยละ 50 สามารถนำค่าใช้จ่ายหักลดหย่อนภาษีได้ถึง 2.5 เท่าของค่าใช้จ่าย เพื่อส่งเสริมให้เอกชนมาร่วมลงทุน สำหรับความคืบหน้าพัฒนาเขตอีอีซี การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จะก่อสร้างเสร็จในช่วง 4-5 ปีข้างหน้า หลังจากนั้นเฟสต่อไปต้องดูแลด้านสังคม การเติบโตของเมืองในช่วง 20 ปีข้างหน้า และการพัฒนาระบบสาธารณสุขให้พร้อม ทุกคนเข้าไปทำงานอยู่ในเขตอีอีซี ต้องมีประกันสังคม ประกันสุขภาพทุกชนชั้น มีการดูแลสุขภาพอย่างมีระบบ รวมทั้งต้องมีเครือข่ายรักษาศูนย์รวมระบบเดียวไม่ต้องส่งต่อไปต่างจังหวัด ผ่านการรักษาพยาบาลด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างครบถ้วน