ความมั่นใจของ “แม่ทัพอนาคตใหม่” ที่มีต่อ “สถานะ” ของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ดูจะลดน้อยถอยลงไปลำดับ เมื่อตลอดหลายวันที่ผ่านมา พวกเขาต่างเผชิญหน้ากับ “กระแส” ที่สะพัดว่า “ คำวินิจฉัย” ของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ในวันนี้ 20 พ.ย.62 ผลจะออกมาในทางที่เป็น “โทษ” มากกว่า ทางที่เป็น “คุณ” และที่สุดแล้ว ธนาธร อาจต้องพ้นจากสถานะความเป็นส.ส.ลงเมื่อสิ้นคำพิพากษาจากองค์คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ! “ ผลตามข้อกฎหมายและรัฐธรรมนูญก็เฉพาะตัวนายธนาธรที่จะสิ้นสุดสถานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่สามารถถึงขึ้นยุบพรรคได้ แต่ถ้าไม่เป็น ส.ส. แล้วยังสามารถเป็นกรรมาธิการวิสามัญต่างๆ หรือไม่ ยังคงเป็นรัฐมนตรีได้ ยังเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้” ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ระบุเอาไว้เมื่อวันที่ 12 พ.ย.62 ก่อนวันที่จะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ขณะที่ก่อนหน้านี้ “พรรณิการ์ วานิช” ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคอนาคตใหม่ ได้ออกมาบอกกับสื่อ เมื่อ 18 พ.ย 62 โดยยืนยันว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ธนาธร ก็จะไม่หายไปไหน “ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เตรียมไปฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีถือครองหุ้นสื่อในวันที่ 20 พฤศจิกายนว่า ในวันนั้น นายธนาธรจะเดินทางถึงศาลในเวลา 13.30 น. ซึ่งผลจะออกมาทางไหนก็ได้ เราคาดการณ์ไม่ได้ ซึ่งแม้จะออกมาทางไหนก็ตาม ไม่ได้หมายความว่านายธนาธรจะต้องหยุดการทำงาน เพียงแต่จะเป็นการทำงานในรูปแบบไหน ถ้าได้สถานะส.ส.ก็ทำงานในรูปแบบส.ส. แต่ถ้าไม่มีตำแหน่งส.ส. ก็ยังเป็นหัวหน้าพรรคและเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 งานก็ดำเนินต่อไป” สิ่งที่ทั้งปิยบุตร และพรรณิการ์ ระบุออกมานั้นแน่นอนว่าไม่มีอะไรผิดเพี้ยน เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าธนาธร ยังถือหุ้นสื่อในบริษัท วี ลัค มีเดีย จำกัด ขณะที่มาสมัครเป็นส.ส. จนทำให้สมาชิกภาพความเป็นส.ส.ต้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ ธนาธร ก็เพียงแต่จะเสียเก้าอี้ ส.ส.ไป ซึ่งถือว่าเป็นเรื่อง “เฉพาะตัว” และก็เป็นความจริงที่ธนาธร จะเข้ามาทำหน้าที่กรรมาธิการฯ หรือเป็นรัฐมนตรี ไปจนถึงแคนดิเดต “นายกรัฐมนตรี” ได้ตามที่ปิยบุตร ระบุ ในฐานะ “คนนอก” ได้ ทั้งนี้การที่ธนาธร เข้ามาเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 63 ก็ยังเดินหน้าได้ต่อไป เพราะมาในฐานะ “โควตาคนนอก” แต่ทว่าทั้งปิยบุตรและพรรณิการ์ เองก็รู้ดีว่าสถานะการเป็นส.ส. ได้เข้ามาทำหน้าที่ในเวทีสภาผู้แทนราษฎร เผชิญหน้ากับ “คสช.” ที่บัดนี้แปรเปลี่ยนมาสู่ รัฐบาล “ประยุทธ์2/1” นั้นมีความสลักสำคัญยิ่งต่อตัวธนาธร และที่ลึกไปกว่านั้นคือการตอกย้ำ และยืนยันถึง “ชัยชนะ” ว่าพรรคอนาคตใหม่ ยังมีโอกาสอยู่ในมือ ภายใต้การถือธงนำ โดยธนาธร เศรษฐีหมื่นล้าน สิ่งเหล่านี้ต่างหาก คือ “จุดขาย” และยังเป็น “จุดแข็ง” ที่ “ฝ่ายบุ๋น” ในพรรคอนาคตใหม่เองต่างรู้กันว่านี่คือโจทย์ข้อยาก และถึงแม้ ธนาธร อาจจะยังทำหน้าที่เป็นหัวหน้าพรรคได้ต่อไป แต่อย่าลืมว่า ในเชิงการต่อสู้แล้ว ไพร่พลในพรรคอนาคตใหม่ จะฟังใคร อย่างไรก็ดี จุดโฟกัสที่น่าสนใจ หากจากนี้ไป ธนาธร ไม่เหลือสถานะการเป็นส.ส. อีกทั้งยังไม่มีโอกาสได้ทำหน้าที่ใน “ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ” ชนกับ “บิ๊กคสช.” ในสภาผู้แทนฯ แล้ว พรรคจะต้องหาทาง “ส่งไม้ต่อ” ให้กับ คนใดคนหนึ่งแทน ปิยบุตร เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ หนึ่งในกลุ่มนักคิด ที่ร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่ กับ ธนาธร สร้างพรรคอนาคตใหม่ให้แจ้งเกิดในสนามเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 ที่ผ่านมา คือผู้ที่มีโอกาสและความเป็นไปได้มากที่สุด ที่จะถูกผลักดันขึ้นมาให้ “ถือธงนำ” ต่อจากธนาธร ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนตัว “หัวหน้าพรรคคนใหม่” หรือไม่ก็ตาม ! ในความเป็นจริงแล้ว พรรคอนาคตใหม่ ถูกสร้างขึ้นมาจากกลุ่มนักคิดเพียงไม่กี่คน ประกอบด้วย ธนาธร ปิยบุตร นักวิชาการหนุ่มจากรั้วธรรมศาสตร์ และ “ชัยธวัช ตุลาธน” รองเลขาธิการพรรค ซึ่งนับได้ว่าเป็น กลุ่ม Think Tank ตัวจริงเสียงจริง นับหนึ่งร่วมกันวางแผนก่อตั้งพรรคการเมือง นับตั้งแต่วันที่พรรคยังไม่มีชื่อพรรคด้วยซ้ำ แต่แน่นอนว่านักคิด ที่ร่วมก่อตั้งพรรค ย่อมไม่ใช่ “ศูนย์รวมใจ” เหมือนกับที่ธนาธร เคยสร้างเอาไว้ ดังนั้น ปิยบุตร คือผู้ที่มีโอกาสจะก้าวขึ้นมาทำหน้าที่ทั้งในสภาฯและ เปิดหน้าชนกับปฏิบัติการลอว์แฟร์ ซึ่งปิยบุตรเองเชื่อว่าชะตากรรมของพรรคอนาคตใหม่กำลังเผชิญหน้ากับการใช้ “กฎหมาย” มาเป็น “อาวุธ” ทำลายล้าง ปิยบุตร หรือที่หลายคนเรียกว่า “อาจารย์ป๊อก” เกิดเมื่อ 23 ต.ค. 2522 จบปริญญาตรี นิติศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้รับทุนเรียนต่อปริญญาโท DEA สาขากฎหมายมหาชนและกฎหมายสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย Nantes ประเทศฝรั่งเศส ปริญญาเอก เกียรตินิยมดีมาก มหาวิทยาลัย Toulouse ประเทศฝรั่งเศส ก่อนหน้านี้ผู้คนรู้จักปิยบุตร ในฐานะนักวิชาการด้านกฎหมาย จากรั้วแม่โดม เป็นอาจารย์ประจำ ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สอนและทำงานวิชาการเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง ต่อมาปิยบุตร ร่วมกับกลุ่มเพื่อนนักวิชาการในมหาวิทยาลัยเดียวกันก่อตั้ง “กลุ่มนิติราษฎร์” จากนั้นเมื่อความคิดเริ่มตกผลึก และชัดเจนมากขึ้นว่า การทำพรรคการเมืองขึ้นมาเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร น่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด ปิยบุตร จึงลาออกจากอาจารย์ประจำ แล้วเดินหน้าก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่กับธนาธร และชัยธวัช เมื่อเดือนส.ค. 2561 บทบาทของปิยบุตร ในสภาผู้แทนฯตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าเขาเองทำหน้าที่ตอบโต้ ชี้แจง และสวนกลับฝั่งตรงข้ามด้วย “ข้อกฎหมาย” เป็นหลัก วาระสำคัญในการตรวจสอบรัฐบาลโดยกลไกของฝ่ายนิติบัญญัติ พรรคอนาคตใหม่ก็มี ปิยบุตร ที่ลุกขึ้นอภิปรายตอบโต้ ฝ่ายรัฐบาล หรือแม้แต่การรักษาที่ยืนให้กับพรรคอนาคตใหม่ หากต้อง เปิดศึกวิวาทะกับ “พรรคเพื่อไทย” พรรคร่วมฝ่ายค้านด้วยกัน ปิยบุตร ก็ทำมาแล้ว การขึ้นมาสู่ “การนำ” ของ “ตัวแทน” อย่างปิยบุตร เมื่อ “ตัวจริง” มีอันต้องถูกวินิจฉัยให้พ้นจากสถานะส.ส. อันเป็นจุดเริ่มนับหนึ่งไปสู่การร้องให้มีการตัดสิทธิ์ ธนาธร ทางการเมือง เมื่อเรื่องไปถึง ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่ง กกต. จะเป็นผู้ยื่นคำร้องหลังจากศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยคดีถือหุ้นสื่อ ในวันนี้ 20 พ.ย.จบลง หมายความว่า นับจากวันนี้เป็นต้นไป ธนาธร แม้จะยังสามารถดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค โดยไร้สถานะส.ส. แต่สมาธิและความพร้อมที่ตัวเขาเองจะ “ถือธงนำ” ย่อมสั่นคลอน และเมื่อเหลียวซ้าย แลขวา ก็เห็นจะมีแต่ปิยบุตร เลขาฯพรรคอนาคตใหม่ คนนี้ ที่พอจะแบกรับหน้าที่เป็น “ตัวหลัก” ไม่ว่าจะมีสถานะใด หากแต่ “ตำแหน่ง”ของผู้เล่นสำหรับปิยบุตร ย่อมมีความสลักสำคัญ ในจังหวะที่ธนาธร ไม่พร้อมที่จะนำทัพ !