จากการติดตามความคืบหน้าของโครงการขนาดใหญ่ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ที่มีหลายโครงการเริ่มนับหนึ่งในการดำเนินงาน ถือเป็นความหวังของประเทศไทย ที่จะก้าวสู่การพัฒนาเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่มีอีกหนึ่งโครงการที่กำลังถูกจับตาจากหลายฝ่าย นั่นคือ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่ขณะนี้มีเสียงวิจารณ์ถึงผลการตัดสินแหลมออกมาทางสื่อ พร้อมดราม่า ความเห็น อารมณ์ ความรู้สึก ที่ออกจะหมิ่นเหม่การกดดันศาล จนน่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตาม เมื่อมองอย่างเป็นกลาง หากมีใครมาวิจารณ์คำตัดสินของศาลได้ ประเทศคงเดินหน้าไปต่อยาก!! หลายวันที่ผ่านมาเกิดประเด็นที่สื่อออกมาพาดหัวว่า ทัพเรือเดือด! หากคืนสิทธิซีพีปมอู่ตะเภาสร้างค่านิยมใหม่-ทำผิดกฎได้ ทำให้สังคมถามกลับไปว่า เดือดใคร? มีสิทธิ์เดือดหรือไม่ โดยเฉพาะบทบาทภาครัฐที่ต้องสร้างบรรยากาศที่ดีในการลงทุน เมื่อมีรายละเอียดที่ไม่เข้าใจกัน ศาลก็ทำหน้าที่ไปตามกระบวนการ และอย่าลืมว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นวานนี้ เป็นเพียงคำแถลงของตุลาการเพียงท่านเดียวเท่านั้น ยังไม่ใช่คำพิพากษา ขั้นตอนต่อจากนี้จะต้องส่งสำนวนคดีไปให้องค์คณะผู้พิพากษาเพื่อตัดสินคดีต่อไป ซึ่งจะตัดสินเหมือนหรือแตกต่างจากคำแถลงของตุลาการก็เป็นได้ได้ ความเห็นส่วนตัว การสร้างกระแสดราม่าออกมาในลักษณะนี้ คงไม่เป็นผลดีเท่าไหร่ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ประเทศไทยต้องการประชาสัมพันธ์ให้โลกรู้ว่า เรากำลังพัฒนาโครงสร้างพื่นฐาน ดึงดูดการลงทุน แต่ภาพที่ออกมา ดูเหมือนจะเป็นเจ้าบ้านไล่แขกเสียมากกว่า ดังนั้น การไม่ตัดสินใจทำเอง เชิญคนมาร่วมลงทุนแล้ว การรักษาบรรยากาศที่ดีเป็นเรื่องสำคัญ ต้องตัดเรื่องอารมณ์และการเสียหน้า เพราะราคาค่าหน้าตาคงไม่คุ้ม หากตัดสิทธิ์แล้วผลออกมารัฐเสียหาย เวลานั้นค่าหน้าตาคงหลายหมื่นล้าน ซึ่งไม่มีใครได้ประโยชน์ ทางที่ดีเชิญชวนคนเข้ามาลงทุน ก็ว่าไปตามคำตัดสิน ตรงไปตรงมา เดินหน้าเป็นมิตรกับทุกคน ไม่ดีกว่าหรือ เมื่อมีข้อสงสัยก็ว่ากันไปตามกฏหมาย แต่ต้องไม่เอาอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาใช้ในการตัดสิน เพราะไม่มีใครแพ้ชนะ เพราะถ้ายิ่งทร.ออกมาแสดงความไม่พอใจ จะยิ่งมีคำถามว่า มีใครเสียประโยชน์อะไรหรือไม่ จึงได้ออกอาการดราม่าผ่านสื่อ จะว่าไปแล้ว ประเด็นในช่วงที่ผ่านมา สุ่มเสี่ยงต่อการกดดันศาล เพราะการออกมาให้ข่าว หวังพลิกคำสั่งศาลนั้น ได้ไม่คุ้มเสียหรือไม่ เพราะคำพิพากษาศาลปกครอง-ศาลรธน. มีข้อห้ามละเมิด วิจารณ์แง่ลบ หรือในทางกดดันศาลไว้ชัดเจน โดยมีผลผูกพันผู้วิจารณ์ และหน้าที่ในองค์กร เพื่อคุ้มครองตุลาการให้ปฎิบัติหน้าที่อย่างอิสระ ไม่ถูกคุกคาม นายบรรเจิด สิงคะเนติ ผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า กฎหมายได้ให้หลักอิสระองค์กรตุลาการตามอำนาจกฎหมาย ซึ่งจุดมุ่งหมายสูงสุดของการบัญญัติให้ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เพื่อคุ้มครองอำนาจตุลาการให้ทำหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระในต่างประเทศได้มีการกำหนดความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญไว้หลายประเทศ เช่น เยอรมัน สเปน เกาหลี และสาธารณรัฐเช็ค ซึ่งแต่ละประเทศมีการกำหนดองค์คณะที่มีอำนาจในการพิจารณาในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ขั้นตอนและวิธีการพิจารณาความผิดละเมิดอำนาจศาลและบทลงโทษที่แตกต่างกัน ดังนั้น ทุกฝ่ายอย่าคิดว่าชนะหรือแพ้ แต่เอาประเทศชาติเป็นที่ตั้ง เคารพคำตัดสิน ว่าไปตามขั้นตอน ประเทศชาติถูกจับตา วันข้างหน้าจะมีการลงทุนอีกมากมาย ไม่ว่าผลการตัดสินออกมาเช่นไร เคารพคำตัดสินเอาไว้ รับรองไม่มีใครเสียประโยชน์!!