“นิพนธ์” ลุยถกแผนบูรณาการป้องกันลดอุบัติเหตุ รับเทศกาลปีใหม่ 63 ดัน 878 อำเภอจับมือ อปท. ทำ”ตำบลขับขี่ปลอดภัย” เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 18 พ.ย. 2562 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยกระทรวงมหาดไทย (มท.2 ) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 3/2562 เพื่อเตรียมความพร้อมแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่พ.ศ.2563 พร้อมขับเคลื่อนโครงการ “ตำบลขับขี่ ปลอดภัย” มุ่งลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่ เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในสังคมไทยอย่างยั่งยืน นายนิพนธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า อุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาสำคัญที่สร้างความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแบบองค์รวมเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนนควบคู่กับการสร้างเครือข่ายความร่วมมือของทุกภาคส่วน จึงได้กำหนดให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเป็นนโยบายสำคัญที่ต้องขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างจริงจังและต่อเนื่องทั้งในช่วงปกติและช่วงเทศกาลสำคัญ การประชุมคณะกรรมการ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนในวันนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณา (ร่าง) แผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2563 ซึ่งดำเนินการภายใต้แนวคิด “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” มุ่งเน้น 6 มาตรการสำคัญ ได้แก่ มาตรการลดปัจจัยเสี่ยงด้านคน มาตรการลดปัจจัยเสี่ยงด้านถนนและสภาพแวดล้อม มาตรการลดปัจจัยเสี่ยงด้านยานพาหนะ มาตรการด้านการช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ มาตรการความปลอดภัยทางน้ำ และมาตรการดูแลความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว เพื่อให้การดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนมีประสิทธิภาพสูงสุด นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่ ศปถ.ได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดโครงการเสริมสร้าง “ตำบลขับขี่ ปลอดภัย” กำหนดดำเนินการในพื้นที่ทั้ง 76 จังหวัด 878 อำเภอ และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น.(อปท.)ที่มีพื้นที่เสี่ยง ใช้กลไกศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนในการกำหนดนโยบายนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในทุกระดับ เพื่อให้ประชาชนทุกคนในพื้นที่มีความปลอดภัยในการสัญจร ทั้งนี้ การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างยั่งยืนนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังให้พื้นที่ในระดับตำบลสามารถลดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงได้อย่างน้อย 1 ราย จะทำให้ภาพรวมของประเทศมีสถิติการเสียชีวิตจากการใช้รถใช้ถนนลดลงได้อย่างเป็นรูปธรรม