ช่วงที่ผ่านมา ต้องบอกว่า ประเทศต่างๆ ในหลายภูมิภาคโลก เผชิญกับปรากฏการณ์ม็อบเขย่าเมือง ไม่ว่าจะเป็น “ฮ่องกง” ภูมิภาคเอเชียตะวันออก ที่ประชาชนส่วนหนึ่งพากันลุกฮือต่อต้านร่างแก้ไขกฎหมายว่าด้วยส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ จนลามเลยไปถึงขับไล่นางแคร์รี หล่ำ ผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ซึ่งนับจนถึงวันนี้สถานการณ์ชุมนุมประท้วงก็ลากยาวมานานร่วม 250 วัน หรือกว่า 35 สัปดาห์ เข้าไปแล้ว และไม่รู้ว่าสถานการณ์จะจบสิ้นลงเมื่อไหร่และอย่างไรท่ามกลางความคาดหมายของบรรดานักวิเคราะห์ที่ต่างระบุว่า จีนแผ่นดินใหญ่ น่าจะปล่อยให้ “เกาะที่มีความสำคัญด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแห่งหนึ่งของโลกเกาะนี้ “ตายซาก” ไปเอง ด้วยน้ำมือของชาวฮ่องกงเองที่เป็นผู้ก่อม็อบ ส่วนที่ภูมิภาคลาติอเมริกา ก็ผจญชะตากรรมปรากฎการณ์ชุมนุมรุนแรงไม่บันเบา ในหลายประเทศ เช่น ที่ “ชิลี” ได้มีประชาชนจำนวนเรือนล้าน ออกมาชุมนุมประท้วงขับไล่ประธานาธิบดีเซบาสเตียน ปิเนรา ผู้นำของพวกเขาให้ลาออกจากตำแหน่ง หลังไม่พอใจอย่างรุนแรงต่อการจัดโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมใหม่ จนหวั่นเกรงกันว่า จะส่งผลกระทบต่อรายได้ ค่าแรงของพวกเขา รวมถึงกระทบไปยังระบบสาธารณสุขและการศึกษาของประเทศด้วย โดยเหตุชุมนุมประท้วง ได้ลุกลามไปกระทบกับการเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด หรือซัมมิต ถึงสองงานใหญ่ นั่นคือ การประชุมสุดยอดเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปกซัมมิต และการประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือโลกร้อน ซึ่งมีอันต้องล้มเลิกไป แต่ที่นับว่า สาหัสสากรรจ์กว่าใคร ก็เห็นจะเป็น “โบลิเวีย” ที่ปรากฏว่า เหตุชุมนุมประท้วงเพราะไม่พอใจอย่างรุนแรงต่อประธานาธิบดีอีโบ โมราเลส ที่ดูจะไม่ชอบมาพากลในการเลือกตั้งรอบใหม่ ผสมผเสกับปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้า ซึ่งผลพวงของปรากฏการณ์ม็อบข้างต้น ก็ส่งผลให้นายโมราเลส ต้องกระเด็นตกจากเก้าอี้ประธานาธิบดี แบบถูกรัฐประหารจากฟากฝ่ายต่างๆ อยู่กลายๆ แถมยังระเห็จระหกระเหินลี้ภัยทางการเมืองไปพักพิงที่เม็กซิโก แดนจังโก้อีกต่างหากด้วย ขณะที่ ภูมิภาคตะวันออกกลาง ก็เผชิญพิษม็อบกันแบบละเลง เริ่มจากที่อิรัก ปรากฏว่า มีประชาชนเซ่นพิษการชุมนุมประท้วงไปแล้วกว่า 300 ศพ บาดเจ็บอีกกว่า 4,000 ราย ในเหตุการชุมนุมเรียกร้องให้ปฏิรูปประเทศ แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และสะสางปัญหาทุจริตคอร์รัปชันของทางการ ล่าสุด ก็เป็นปรากฏการณ์ม็อบที่ “อิหร่าน” ซึ่งประชาชนในหลายสิบเมือง รวมถึงที่กรุงเตหะราน เมืองหลวงของประเทศ ได้พากันรวมตัวประท้วง เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่แล้ว ลากยาวมาถึงช่วงต้นสัปดาห์นี้ ภายหลังจากรัฐบาลเตหะราน มีคำสั่งเพิ่มราคาขายปลีกน้ำมันปิโตรเลียมต่อประชาชน คิดเป็นถึงร้อยละ 50 หรือครึ่งหนึ่งของราคาขายปลีกเดิม จากราคาเดิม 10,000 เรียลต่อลิตร หรือถ้าคิดเป็นเงินไทยก็ประมาณลิตรละ 9.08 บาท เพิ่มขึ้นเป็นลิตรละ 15,000 เรียล หรือคิดเป็นเงินไทยก็ 13.62 บาทต่อลิตร ใช่แต่เท่านั้น คำสั่งของรัฐบาลเตหะราน ยังมีข้อกำหนดอีกด้วยว่า รถยนต์ส่วนบุคคลแต่ละคัน ให้ใช้น้ำมันได้ไม่เกิน 60 ลิตรต่อเดือน สำหรับการซื้อในราคา 15,000 เรียลดังกล่าว หากใช้เกินกว่านั้น ก็จะต้องซื้อในราคาลิตรละ 30,000 เรียล หรือคิดเป็นเงินไทยก็ราวๆ 27.24 บาตต่อลิตร ซึ่งราคา 30,000 เรียลต่อลิตรที่ว่า ก็ต้องถือว่า ทางการอิหร่าน ขึ้นราคาน้ำมันขายปลีกไปถึงร้อยละ 300 หรือ 3 เท่า ของราคาเดิมเลยทีเดียว และก็ค่อนข้างแน่ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ใช้เกิน 60 ลิตรต่อเดือน คือ เฉลี่ยวันละ 2 ลิตร เพราะเป็นไปได้ยากที่จะขับรถยนต์ ใช้น้ำมันเพียงวันละ 2 ลิตร ก็ส่งผลให้ประชาชนชาวอิหร่านในหลายสิบเมือง รวมถึงกรุงเตหะราน ได้ออกมาชุมนุมประท้วงต่อการปรับขึ้นราคาน้ำมันอย่างพุ่งทะยานดังกล่าว โดยมีรายงานว่า ได้เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของทางการอิหร่าน จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า ทางบรรดาผู้นำทางศาสนาอิสลาม นิกายชีอะฮ์ ในสภาผู้พิทักษ์ หรือสภาการ์เดียน ของอิหร่าน ซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้ปกครองสูงสุดของอิหร่านเลยก็ว่าได้นั้น ไม่ได้ตระหนัก หรือยี่หระต่อปรากฏการณ์ม็อบประท้วงข้างต้น เพราะได้ออกมาประกาศสนับสนุนต่อแผนการปรับราคาน้ำมันข้างต้นด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินไปชดเชยกับผลกระทบจากการที่อิหร่าน ถูกนำนานาชาติ ซึ่งนำโดยสหรัฐฯ ดำเนินมาตรการคว่ำบาตร หรือแซงก์ชันต่อพวกเขา โดยมีรายงานระบุว่า อิหร่านเสียหายจากผลพวงที่ถูกนานาชาติคว่ำบาตรไปแล้วไม่น้อยกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยกัน ไม่นับผลกระทบทางเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ปรากฏว่า การแซงก์ชันพ่นพิษต่อเศรษฐกิจโดยรวมของอิหร่านให้ตกอยู่ในสภาพที่เลวร้าย ข้าวยากหมากแพง จนเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยจุดไฟม็อบในอิหร่านปะทุคุโชนให้ลุกไหม้ง่ายขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ