กรมชลประทาน เฝ้าระวังและดำเนินการตามแผนบริหารจัดการน้ำ พร้อมจัดเตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือ หนุนการช่วยเหลือพื้นที่ภัยแล้ง ย้ำขอความร่วมมือประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดและจริงจัง เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศว่า ปัจจุบัน(18 พ.ย. 62) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 46,753 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 66 ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 23,231 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 49 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 11,864 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 48 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 5,168 ล้าน ลบ.ม. สำหรับอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ มีจำนวน 6 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ มีปริมาณน้ำ 71 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 27 ของความจุอ่างฯ น้ำใช้การได้ 56 ล้าน ลบ.ม. , เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น มีปริมาณน้ำ 561 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 23 ของความจุอ่างฯ ปัจจุบันเริ่มนำน้ำก้นอ่างฯมาใช้แล้ว ซึ่งจะไม่กระทบต่อความมั่นคงของตัวเขื่อนแต่อย่างใด , เขื่อนลำพระเพลิง จังหวัดนครราชสีมา มีปริมาณน้ำ 27 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 18 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 26 ล้าน ลบ.ม. , เขื่อนลำนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ มีปริมาณน้ำ 25 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 21 ของความจุอ่างฯ น้ำใช้การได้ 22 ล้าน ลบ.ม. , เขื่อนทับเสลา จังหวัดอุทัยธานี มีปริมาณน้ำ 38 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 24 ของความจุอ่างฯ น้ำใช้การได้ 21 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี มีปริมาณน้ำ 63 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 21 ของความจุอ่างฯ น้ำใช้การได้ 23 ล้าน ลบ.ม. ทั้งหมดสามารถสนับสนุนการใช้น้ำเฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้สั่งการให้ทุกโครงการชลประทานทั่วประเทศ บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเฝ้าระวังและสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง พร้อมกับวางแนวทางในการช่วยเหลือประชาชน นอกจากนี้ ยังเตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำกว่า 2,000 เครื่อง รถบรรทุกน้ำกว่า 100 คัน ประจำไว้ในพื้นที่โครงการชลประทานทั่วประเทศ ที่พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งต่อเนื่องไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า