ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 17.00 น. มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธาน โดยได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.สภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จเสร็จแล้ว โดยร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีสาระสำคัญคือ ปรับปรุงร่างพ.ร.บ.สภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2502 และร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงแห่งชาติ (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2507 โดย การกำหนดคำนิยามความมั่นคงแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติ ว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติและภัยคุกคาม เพื่อกำหนดขอบเขต วัตถุประสงค์และกิจการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภาความมั่นคง ปรับปรุงองค์ประกอบของ คณะกรรมการสภาความมั่นคงแห่งชาติ จากเดิม 9 คน เป็น 11 คนโดยเพิ่ม รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที และ รมว.กระทรวงยุติธรรม เนื่องจาก ทั้ง 2 กระทรวงมีความเกี่ยวข้องเรื่องภัยคุกคามด้านไซเบอร์และความยุติธรรม และกำหนดให้สภาความมั่นคงแห่งชาติจัดทำแผนนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ เป็นที่ปรึกษาในกิจการด้านความมั่นคงให้กับคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีพล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ สนช.ได้ขอแปรญัตติเพียงคนเดียว จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาเรียงลำดับรายมาตรา โดยในมาตรา 6 (2) เกี่ยวกับองค์ประกอบของสมาชิกสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งเป็นมาตราสำคัญ พล.อ.อกนิษฐ์ ได้ขอแปรญัตติเพิ่มผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ จากร่างเดิมที่ประกอบด้วย รมว.กระทรวงกลาโหม รม.กระทรวงการคลัง รมว.การต่างประเทศ รมว.คมนาคม รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รมว.มหาดไทย รมว.ยุติธรรมและผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยให้เหตุผลว่า ผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติเหมือนเป็นข่าวฝ่ายกรองทางหน่วยทหาร ขณะที่เลขาสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นเหมือนงานทางวิชาการที่จะตอบสนองงานของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานนี้ควรจะทำงานควบคู่กัน นอกจากนี้ยังขอเพิ่ม สมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 6 คน อาทิ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด อดีตผู้บัญชาการทหารบกฯ เพื่อให้เกิดการถ่วงดุล ทั้งนี้คณะกรรมาธิการฯไม่เห็นด้วย โดยพล.ท.เจรศักณิ์ อานุภาพ ประธานคณะกรรมาธิการฯชี้แจงว่า ในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีการถ่วงดุลอยู่แล้ว ซึ่งการทำงานของสภาความมั่นคงแห่งชาติจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และต้องเป็นผู้รับผิดชอบในนโยบายความมั่นคง อีกทั้งตัวของผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติก็จะเป็นผู้ที่ให้ข้อมูลหรือเป็นแหล่งข้อมูลที่จะต้องทำงานป้อนข้อมูลให้กับสภาความมั่นคงแห่งชาติอยู่แล้วให้คงตามร่างเดิม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติเห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการให้คงตามร่างเดิมด้วยคะแนน 120 ต่อ 21 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง และได้พิจารณาจนครบ 24 มาตรา และได้ลงมติในวาระ 3 เห็นชอบร่างพ.ร.บ.สภาความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ.. ด้วยคะแนน 142 เสียง งดออกเสียง 3 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป