เป็นหนึ่งในความหวังการกำจัดศัตรูพืช หลังจากบ้านเราเดินหน้ายกเลิกการใช้ 3 สารเคมีพิษทางการเกษตร กับผลงานอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ดร.วนิดา เพ็ชร์ลมุล อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการฯ มรภ.สงขลา ที่ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ ผลงานระดับดีมาก จากงานวิจัย “การผลิตและการประยุกต์ใช้เชื้อราบิวเวอเรียจากวัสดุเศษเหลือทางการเกษตรในท้องถิ่น โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน” โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้มอบให้แก่นักวิจัยที่มีผลงานในการสร้างความรู้และนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาในระดับฐานราก สร้างศักยภาพให้กับคนในท้องถิ่น ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ กทม. เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.วนิดากล่าวว่า การวิจัยครั้งนี้นอกจากจะเป็นกระบวนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าของวัสดุเศษเหลือทางการเกษตร มุ่งเน้นควบคุมศัตรูพืชแบบชีววิธี สร้างเครือข่ายเกษตรกรที่เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันจากการมีส่วนร่วมของชุมชน สำหรับงานวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาชุดควบคุมและตรวจวัดด้วยระบบอัตโนมัติในโรงบ่มเชื้อและผลิตเชื้อราบิวเวอเรียระดับชุมชน รวมทั้งเพื่อผลิตและประยุกต์ใช้เชื้อราบิวเวอเรียที่ผลิตได้จากวัสดุเศษเหลือทางการเกษตรในท้องถิ่น และศึกษารูปแบบการจัดการโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน เนื่องจากเห็นว่าปัจจุบันยังมีเกษตรกรที่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเคมีทางวิทยาศาสตร์อย่างแพร่หลาย โดยตลอดระยะเวลากว่าสิบปีการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2544 ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ การทำการเกษตรที่ปลอดภัยจากสารพิษ หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี และหันมาเน้นการใช้ชีววิธี จึงจำเป็นต้องผลักดันให้เกิดการประยุกต์ใช้อย่างจริงจัง และทั่วถึงในทุกระดับการผลิต ไม่เพียงเน้นเฉพาะกับสินค้าเกษตรส่งออกเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการผลิตในระดับครัวเรือนและชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต มีรากฐานการผลิตสินค้าคุณภาพที่ดี พร้อมทั้งต่อยอดขยายการผลิตสินค้าเกษตรในระดับวิสาหกิจชุมชน และระดับที่สูงขึ้น เกิดสังคมเกษตรที่ยั่งยืนในอนาคต อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมฯ กล่าวอีกว่า การควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธีเป็นกระบวนผลิตสินค้าเกษตรที่หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี ผลิตสินค้าเกษตรได้ตามมาตรฐาน การใช้เชื้อราฆ่าแมลงเป็นวิธีการทางชีววิธีที่ใช้ศัตรูธรรมชาติชนิดที่เป็นเชื้อจุลินทรีย์ในการควบคุมกำจัดแมลงศัตรูพืช โดยเฉพาะเชื้อราบิวเวอเรียซึ่งเป็นเชื้อราฆ่าแมลงที่สามารถใช้ควบคุมแมลงได้หลายชนิด และมีประสิทธิภาพในการควบคุมแมลงศัตรูผัก เช่น หนอนกระทู้ผักได้ถึง 80% อย่างไรก็ตาม แม้มีการรณรงค์ให้ใช้เชื้อราบิวเวอเรียทางการเกษตร แต่เกษตรกรเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ใช้เชื้อราบิวเวอเรียในการควบคุมแมลง ซึ่งเป็นผลมาจากมีเกษตรกรเพียงจำนวนน้อยที่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ของเชื้อราบิวเวอเรีย เข้าถึงผลิตภัณฑ์เชื้อราบิวเวอเรีย รวมทั้งวิธีการใช้ที่ถูกต้อง ดังนั้น การสร้างเครือข่ายเกษตรกรให้เรียนรู้การผลิต และการประยุกต์ใช้เชื้อราบิวเวอเรีย โดยการมีส่วนร่วมของเกษตรในชุมชน ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตั้งแต่การกระบวนการคัดเลือกวัตถุดิบ กระบวนการผลิตเชื้อราบิวเวอเรีย และสามารถประยุกต์ใช้เองในพื้นที่เกษตรของตน จึงนับว่าเป็นการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ที่ตรงกลุ่มเป้าหมายผู้ผลิตสินค้าเกษตร ศูนย์การเรียนรู้เกษตรธรรมชาติของชุมชนบ้านต้นมะพร้าวสูง ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นหน่วยงานเครือข่ายในท้องถิ่นที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการทำเกษตรแบบปลอดภัยจากสารพิษ ซึ่งเชื้อราที่ผลิตได้เองนี้นอกจากจะสะดวกต่อการนำไปใช้ เกษตรกรยังจะได้เชื้อที่สดใหม่มีประสิทธิภาพ สำหรับควบคุมศัตรูพืชทางการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเมื่อเกษตรกรเห็นถึงประสิทธิภาพของเชื้อราที่ใช้ควบคุมแมลงแล้ว จะเกิดความตระหนักในการนำมาใช้ทดแทนสารเคมี สร้างความยั่งยืนในการทำระบบเกษตรปลอดสารพิษอย่างแท้จริง