วันที่ 16 พ.ย.62 นายบรรยง พงษ์พานิช อดีตคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ โพสต์เฟสบุ๊ก Banyong Pongpanich ระบุว่า...การบินไทย…ทำยังไงให้ได้อยู่คู่ฟ้า ผลประกอบการการบินไทยสำหรับไตรมาสสามซึ่งเป็นไตรมาสที่ธุรกิจชะลอตัวที่ประกาศมาในวันสุดท้ายตามกฎตลาดหลักทรัพย์ ไม่นอกเหนือความคาดหมายว่ามีการขาดทุนอีกกว่าสี่พันหกร้อยล้านบาททำให้ยอดรวมขาดทุนสามไตรมาสทะลุไปกว่า1.1หมื่นล้านบาท ต้อนรับประธานกรรมการคนใหม่ที่ประกาศว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่เพราะยอดดขายปีละสองแสนล้าน ขาดทุนแค่ห้าหกเปอร์เซนต์เอง แก้ไม่ยาก(ผมเอามาจากข่าวนะครับ) ที่น่ากังวลก็จะเป็นสถานะการเงิน ที่ทุนหดหายไปเรื่อยๆ เหลือแค่ 12,000ล้านบาท ทำให้หนี้สินต่อทุน(Debt to Equity)พุ่งไปกว่ายี่สิบเท่า แถมมีโครงการอยากลงทุน ใหญ่จะซื้อเครื่องบินตั้งแสนห้าหมื่นล้าน...เลยเกิดคำถามว่าจะเอาเงินจากไหน หากู้ก็คงยาก เพราะหนี้ท่วมแล้ว D/Eสูงเกิน Debt to EBITDAก็เกือบร้อยเท่า(ปกติไม่ควรเกิน8เท่า) แถมDebt service Ratioก็ตำ่กว่า50%แล้ว(ปกติควร>200%) ถ้าจะกู้เพิ่มคงหนีไม่พ้นต้องให้รัฐบาลค้ำประกัน เสียวินัยการคลังเป็นภาระต่อหนี้สาธารณะเพิ่มอีก …ไอ้ครั้นจะเพิ่มทุน(ควรต้องเพิ่มทุนอีกมากกว่าแสนล้านบาทเพื่อให้สถานะการเงินกลับมาปกติ) ถ้าจะขอให้นักลงทุนในตลาดทุนเพิ่มให้ก็คงไม่มีหวังเพราะเขาใส่ให้มาสามครั้งรวมห้าหมื่นล้านบาท ตอนนี้มันมีค่าเหลือแค่ไม่ถึงสามพันล้าน เหลือไม่ถึงหนึ่งในสิบของที่ใส่มา ก็เหลือแค่ต้องให้รัฐใส่ให้อีก อันนี้ก็ต้องไปเบียดบังงบประมาณจากภาคส่วนอื่นอีก ลงท้ายที่หนี้สาธารณะเพิ่มเดือดร้อนผู้เสียภาษีอีกเช่นเคย แถมจะเป็นในลักษณะ Throw good money after bad คือใส่เงินเข้าไปทั้งๆที่ไม่มีอะไรให้มั่นใจได้เลยว่าจะพลิกกลับมาทำกำไรได้เมื่อไหร่ อย่างไร เข้าทำนองถมเท่าไหร่ไม่รู้จักเต็มเหมือนรถไฟรถเมล์ ซึ่งคนที่มีสติเขาไม่ทำกัน แต่ท่ามกลางความย่ำแย่ทั้งหลาย ก็ยังมีตัวเลขหนึ่งที่ดีขึ้น นั่นก็คือ อัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร(Passenger Load Factor ที่เพิ่มขึ้นจาก 77.5%เป็น 80% เกือบเท่ากับอัตราเฉลี่ยของอุตสาหกรรม(ที่82.1%) ซึ่งตัวเลขLoad Factorนี้สำคัญมากสำหรับ อุตสาหกรรมการบินพาณิชย์ ถ้าสายการบินไหนทำได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ก็ยากที่จะทำกำไรได้ แต่เดี๋ยวก่อนครับ ทั้งๆที่Load Factorดีขึ้นอย่างนี้แต่ยังขาดทุนตั้งเยอะ 4.6พันล้านบาท คิดเป็นกว่า10%ของรายได้ ก็แปลได้อย่างเดียวเลยครับ ว่าขายตั๋วโดยสารในราคาต่ำกว่าต้นทุน(ทั้งๆที่ชาวบ้านบ่นกันระงมว่าราคาแพงกว่าคู่แข่งทั้งหมดเยอะแยะนี่แหละครับ) ซึ่งจากตัวเลขนี้พอจะสรุปประมาณว่า ถ้าจะให้เท่าทุน(breakeven)และยังขายราคานี้ ก็จะต้องทำLoad Factor ให้ได้ 88% ซึ่งขอบอกเลยว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย (โดยเฉพาะราคาตั๋วแพงกว่าเขาอย่างนี้) และถ้าจะลดราคาตั๋วเพื่อเพิ่มLoad Factor ก็จะยิ่งขาดทุนหนักเข้าไปอีก ขอบอกเลยว่า ถ้าAirlineไหน Breakeven Load Factor อยู่ที่88%ก็ขอแนะนำให้เลิกกิจการดีกว่า เพราะไม่มีทางทำกำไรได้เลยครับ …อย่างSingapore Airlineที่เพิ่งประกาศกำไร 5พันล้านบาทในไตรมาสเดียวกันก็มี Load Factor แค่81%เท่านั้นเอง ของTHAIถ้าขายราคานี้ ต้นทุนอย่างนี้ ต้องมีLoad Factor 96%ทีเดียวถึงจะกำไรไตรมาสละห้าพันล้านอย่างเขา แล้วอะไรมันผิดละครับ....มันถึงได้เป็นอย่างนี้ ก็ต้นทุนไงครับ ผมบอกมาหลายสิบครั้งแล้ว ว่า ถ้าเราลดต้นทุนอย่างมากไม่ได้ ไม่มีทางที่จะอยู่ในสภาพแข่งขันกับใครเขาได้เลย และก็ไม่มีทางกลับมากำไรอย่างยั่งยืนได้เลย อย่างตัวเลขปัจจุบันก็ค่อนข้างชัดนะครับว่า THAIต้องลดต้นทุนให้ได้อย่างน้อยปีละหมื่นห้าพันล้านบาทถึงจะกลับมาเท่าทุน และถ้าอยากมีกำไรบ้างก็ต้องลดให้ได้ถึงสองหมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งถึงจะเป็นเรื่องยากเย็นกัดลูกปืนแค่ไหน แต่ก็ต้องทำให้ได้ ไม่มีทางเลือกอื่น เพราะoptionที่จะขึ้นราคานั้นไม่มีทาง(ก็แพงสุดอยู่แล้วน่ะครับ) เรื่องนี้หลายคนคงบอกว่า เค้ารู้มาตั้งนานแล้วล่ะลุง DDเขาก็ประกาศมาตรการมาตั้งหลายอย่าง ลดค่าใช้จ่ายค่าเพอร์เดี้ยม ไม่ให้เดินทางไปประชุม สาระพัดมาตรการลดค่าใช้จ่าย ประกาศโครงการขอความร่วมมือทั้งองค์กร ซึ่งผมขอบอกเลยว่าที่ประกาศมานั้นยังจิ๊บจ้อยมาก ไม่มีทางลดเป็นหมื่นล้านได้เลย ได้อย่างมากก็แค่หลักสิบหลักร้อยล้านต่อปี แล้วจะให้ลดอะไรล่ะครับ… อย่างค่าใช้จ่ายใหญ่สุดคือค่าน้ำมัน(ประมาณ30%ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดก็ไม่มีทางลดได้เพราะมันเป็นราคาตลาดโลก(ยกเว้นรัฐลดภาษีนำ้มันเครื่องบินซึ่งก็จะช่วยได้นิดหน่อย แต่รายได้รัฐลดสิบบาทช่วยการบินไทยได้แค่ห้าสิบสตางค์) …มันก็เหลือค่าใช้จ่ายที่ใหญ่ที่สองคือ ค่าใช้จ่ายบุคคลากร(ประมาณ20%)ซึ่งเงินเดือนต่อคนของการบินไทยก็ไม่ได้สูงอะไร ค่อนข้างต่ำด้วยซ้ำเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ก็เลยเหลือทางแค่ต้องลดจำนวนคนลงอย่างค่อนข้างมากจากสองหมื่นแปดอาจจะควรเหลือแค่สองหมื่น พนักงานofficeที่มีเกือบสี่พันต้องให้เหลือแค่สองพัน(Sing Airมีแค่พันห้า) เลขาหน้าห้องผู้บริหารระดับสูงที่เคยมีกันคนละสี่ห้าคน อาจต้องขอลดเหลือครึ่งคน(แบ่งกัน) สำนักงานต่างประเทศหดให้เหลือเท่าที่จำเป็น ค่าใช้จ่ายที่พอจะลดได้เร็วอีกอย่างก็คือการจัดซื้อ ทั้งในครัวการบิน และวัสดุที่ใช้ทั้งหลายเช่น ของแจกบนเครื่อง ซึ่งปีหนึ่งๆมีซื้อเป็นหมื่นล้าน แล้วล้วนแต่เคยซื้อแพงๆ มีนายหน้าจัดซื้ออยู่เต็มไปหมด (ซึ่งส่วนนี้ตอนผมเป็นกรรมการเคยประเมินว่าน่าจะลดได้อย่างน้อยสามพันล้านต่อปี …เสียดายที่ว่าจ้างAccentureมาช่วยลด ทำได้แค่เดือนเดียวลดได้สามร้อยกว่าล้าน ผมก็ถูกขอเชิญออกแล้วaccentureก็ถูกเลิกจ้าง) ขอบอกเลยว่า ลดค่าใช้จ่ายปีละหมื่นล้านนั้นเป็นเรื่องยากแสนเข็ญ การเลิกจ้างพนักงานของรัฐวิสาหกิจนั้นก็ทำไม่ได้ เลยทำให้งานนี้ยากขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว ทางอื่นที่ต้องทำควบคู่กันไปก็คือ ต้องทบทวนกลยุทธทั้งหมด ต้องทบทวนเส้นทางบิน ปรับฝูงบิน อาจต้องหดตัวอย่างมากก่อน เหลือเฉพาะเส้นทางที่ทำกำไรได้ พอตั้งหลักได้ค่อยขยายใหม่เป็นต้น ยังไงก็มีสายการบินอื่นให้บริการ ไม่ต้องกลัวประชาชนเดือดร้อน(เพราะตอนนี้เขาก็ไม่ค่อยยอมใช้เราอยู่แล้ว…เพราะมันแพง) บอกตรงๆว่างานพลิกฟื้นการบินไทยนี้มันยากแสนยาก แทบจะหาคนไทยที่มีทั้งความรู้ทั้งฝีมือทั้งยอมทุ่มเทมาทำ นึกชื่อหาไม่ได้เลยครับ โดยเฉพาะเรื่องทบทวนกลยุทธใหม่ ผมไม่คิดว่ามีคนไทยคนไหนมีความรู้ประสบการพอ ครั้นจะว่าจ้างที่ปรึกษาเก่งๆอย่างMackenzie ,BCG หรือBaineมันก็แสนแพง และIMFก็เตือนว่าอย่าจ้างซะอีก ต้องบอกเลยว่า การบินไทยอยู่ในวิกฤติหนักจริงๆ แทบมองไม่เห็นทางออก คงได้แต่สวดมนต์ภาวนาเอาใจช่วย หวังว่า รัฐมนตรีนักกฎหมายที่เขามอบหมายให้ดูแล ข้าราชการคนเก่งที่เป็นประธาน เหล่ากรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทั้งหลายจะร่วมมือร่วมใจกันพลิกฟื้นให้กลับมายิ่งยงอยู่คู่ฟ้าเมืองไทยไปได้อย่างยั่งยืนนะครับ (ขอให้สิ่งที่ผมเตือนผมคิดนั้นผิดหมดเถิด) ขอให้โชคดีครับ ยังไงๆผมก็ยังรักคุณเท่าฟ้าอยู่ตลอดไปนะครับ