นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมาธิการงบประมาณ ได้มีการสอบถามเรื่องการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ว่าแผนการดำเนินงานไม่ได้ครอบคลุมในการฟื้นฟูหางแร่ตะกั่ว ซึ่งยังปนเปื้อนในพื้นที่ชุมชนในป่า รวมถึงที่อื่นๆ ในชุมชนบ้านห้วยคลิตี้บนและคลิตี้ล่าง อีกทั้งขอให้ไปดูเรื่องของคุณภาพน้ำในลำห้วยคลิตี้ ว่ามีค่าปนเปื้อนอย่างไรบ้าง จึงขอให้ทาง คพ. ได้ไปดำเนินการเพิ่มเติม เพื่อชุมชนห้วยคลิตี้ จะได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย ซึ่งนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวง ทส. ได้สั่งการให้ คพ. ลงพื้นที่เพื่อสำรวจพื้นที่เพิ่มเติมในบริเวณที่อาจจะมีการปนเปื้อนตะกั่วดังกล่าว นายประลอง กล่าวต่อว่า การฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ประกอบด้วย 1) การจัดทำบ่อฝังกลบแบบปลอดภัย (Secure landfill)ได้ดำเนินการก่อสร้างบ่อฝังกลบแบบปลอดภัยและปูชั้นวัสดุกันซึมแล้วเสร็จ เพื่อรองรับดินที่มีการปนเปื้อนตะกั่ว และตะกอนท้องน้ำที่จะขุดลอกขึ้นมาสามารถจุได้ ขนาด 100,000 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) 2) การฟื้นฟูหางแร่ตะกั่วในลำห้วย เป็นการขุดลอกตะกอนใต้ท้องน้ำ ตามงบประมาณ ประมาณ 40,000 ลบ.ม. เพื่อไปฝังกลบในบ่อฝังกลบแบบปลอดภัย ขณะนี้ โครงการอยู่ระหว่างการดูดตะกอนขึ้นมาจากลำห้วย 3)การสร้างฝายดักตะกอน ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ และ 4) ปิดคลุมพื้นที่ปนเปื้อน ได้ดำเนินการแล้วเสร็จแล้วเช่นกัน ในส่วนของการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมและคุณภาพน้ำ คพ.ได้ดำเนินการและชี้แจงประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง “ในการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ในระยะแรก ทางโครงการขุดลอกตะกอนเฉพาะใต้ท้องน้ำ ตามคำฟ้องว่ามีการปนเปื้อนของสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ การเสนอให้มีการฟื้นฟูในลำห้วยคลิตี้จึงยังไม่ครอบคลุมการปนเปื้อนของสารตะกั่วซึ่งมีอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ทั้งพื้นที่บนบก พื้นที่ชุมชนและพื้นที่ในป่า ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามคำแนะนำของคณะกรรมาธิการงบประมาณในการแก้ไขและฟื้นฟูหางแร่ตะกั่วดังกล่าว ในเบื้องต้น คพ.ได้ประสานกับสำนักงบประมาณในช่วงเวลาการชี้แจง งบประมาณของกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอเสนอโครงการฟื้นฟูคลิตี้ระยะที่ 2 ในการดำเนินการในบริเวณพื้นที่ยังมีการปนเปื้อนในพื้นที่บนบก พื้นที่ชุมชนและพื้นที่ในป่า ซึ่งล่าสุด(เมื่อวันที่10 พฤศจิกายน 2562) คพ.ได้ลงพื้นที่ร่วมกับผู้นำชุมชนบ้านคลิตี้ พบว่ายังมีหางแร่ตะกั่วปริมาณค่อนข้างมากและบางจุดมีค่าความเข้มข้นของสารโลหะหนักของตะกั่วสูงถึง 70,000-100,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม(มก./กก.) ซึ่งเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ไม่เกิน 400 มก./กก. จึงสูงเกินค่ามาตรฐานกว่า 200-250 เท่า ซึ่งจะต้องนำไปฝั่งกลบในบ่อฝังกลบแบบปลอดภัย อีกประมาณ 150,000 ตัน ทั้งนี้ คพ.จะได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว เพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่พี่น้องประชาชนชาวคลิตี้ ต่อไป” นายประลอง กล่าว +++++++++++++