คุยเฟื่องเรื่องต่างประเทศ / ดร.วิวัฒน์ เศรษฐช่วย แทบจะไม่มียุคใดเลยในประวัติศาสตร์การเมืองของสหรัฐอเมริกาที่ผู้ดำรงอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีต้องกลายเป็นที่โจษจันได้มากเทียบเท่ากับ “ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์” และนั่นจึงเป็นที่มาทำให้มีผู้เขียนเรื่องราวชีวิตแปลกๆพิลึกพิลั่นของเขาอย่างมากมาย ช่วงหนึ่งปีแรกในการบริหารประเทศของประธานาธิบดีทรัมป์ปรากฏว่ามีหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับเขามากถึง 4,500 เล่ม ขณะที่หนังสือของประธานาธิบดีบารัก โอบามามีออกมาเพียง 800 เล่มเท่านั้นในปีแรก!!! และเป็นที่น่าสังเกตอีกด้วยว่าหนังสือดังกล่าวจำนวนหลายสิบเล่มที่เขียนเกี่ยวกับประธานาธิบดีทรัมป์ได้กลายเป็นหนังสือฮิตติดอันดับยอดนิยมถึง 18 เล่ม โดยผู้เขียนหนังสือเหล่านี้บ้างก็เป็นผู้ที่เคยทำงานใกล้ชิดกับประธานาธิบดีทรัมป์ บ้างก็ยังคงทำงานอยู่ในทำเนียบขาวและบ้างก็เป็นนักหนังสือพิมพ์มืออาชีพ อนึ่งจะมีหนังสือเล่มใหม่ชื่อ “A Warning” ออกสู่ท้องตลาดในวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งมีข่าวเล็ดลอดออกมาว่าผู้เขียนมีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสที่ยังคงทำงานในทำเนียบขาว แต่แน่นอนว่าคงจะต้องใช้นามแฝง โดยสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นได้อ่านหนังสือเล่มนี้มาล่วงหน้าแล้วและออกมารายงานว่า หนังสือเล่มนี้กล่าวประณามตำหนิติเตียนถึงประธานาธิบดีทรัมป์ว่าเป็นบุคคลที่ไร้ศีลธรรม ทำงานเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนโดยใช้ทำเนียบขาวเป็นส่วนหนึ่งในการกอบโกยเพื่อธุรกิจของตนเอง!!! อย่างไรก็ตามการไต่สวนในขบวนการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ออกจากตำแหน่งนั้น กำลังกลายเป็นจุดสนใจของคนอเมริกันมากที่สุดในขณะนี้ โดยเริ่มต้นเมื่อวันพุธที่ 12 พฤศจิกายนที่เพิ่งผ่านมานี้เป็นต้นไป และแน่นอนว่าคงจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาอีกวาระหนึ่ง โดยการสอบปากคำไต่สวนจากพยานหลายๆคนจะมุ่งเจาะประเด็นที่ว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีความผิดจริงและสมควรที่จะถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งหรือไม่? ส่วนเบื้องหลังข้อกล่าวหาที่ว่า ประธานาธิบดีทรัมป์กอบโกยผลประโยชน์เข้าหาตนเองนั้น เราน่าจะวิเคราะห์จากข้อเท็จจริงในการรวบรวมข้อมูลของสามนักข่าวมืออาชีพประจำสำนักหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ตามหัวข้อพาดหัวข่าว “Trump, Ukraine and Impeachment: The Inside Story of How We Got Here” ที่พวกเขาได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 11 พฤศิจกายนนี้!!! โดยทีมนักข่าวของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ได้บรรยายว่าเมื่อเวลา 09.03 น.ของวันที่ 25 กรกฎาคมนี้เหล่าที่ปรึกษาของประธานาธิบดีทรัมป์หลายคนได้นั่งห้อมล้อมฟังการสนทนาระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์กับประธานาธิบดีของยูเครนเป็นเวลาสามสิบนาที โดยเริ่มต้นประธานาธิบดีทรัมป์ได้สนทนากับประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกีของยูเครนตามสคริปต์ แต่ก่อนจะจบประธานาธิบดีทรัมป์ได้เรียกร้องแกมออกปากบังคับให้ประธานาธิบดีของยูเครนตรวจสอบพฤติกรรมของอดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดนและลูกชายในยูเครน ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์คิดว่าโจ ไบเดนคงจะได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครตและจะเข้ามาเป็นคู่แข่งคนสำคัญกับตน โดยการสนทนาครั้งนี้ได้จุดประกายให้มีการดำเนินการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ออกจากตำแหน่ง เพราะนักการเมืองค่ายพรรคเดโมแครตเชื่อมั่นว่า ประธานาธิบดีทรัมป์กระทำความผิดทางกฎหมายเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการเมือง แถมประธานาธิบดีทรัมป์ยังเอ่ยปากข่มขู่ว่า หากประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ไม่ยอมปฏิบัติตามเงื่อนไข ก็จะไม่ปล่อยเงิน 391 ล้านเหรียญที่สภาคองเกรสอนุมัติเรียบร้อยแล้วให้แก่ยูเครน การใช้เล่ห์เหลี่ยมออกอุบายหาผลประโยชน์เช่นนี้ พรรคเดโมแครตอ้างว่าเป็นการยื่นหมูยื่นแมว (Quid Pro Quo) ตั้งข้อเสนอกับประธานาธิบดียูเครน ทั้งนี้เป้าหมายของสภาคองเกรสเกี่ยวกับงบ 391 ล้านเหรียญนี้ ก็เพื่อต้องการให้ยูเครนที่เป็นประเทศใหญ่ที่สุดในแถบทวีปยุโรปตะวันออก ซึ่งมีประชากรถึง 45 ล้านคน นำไปใช้ในการป้องกันการรุกรานจากรัสเซีย เพราะในช่วงสี่ปีที่ผ่านมาทหารของยูเครนต้องเสียชีวิตไปกว่า 13,000 คน ในการสู้รบกับรัสเซีย ทั้งนี้ผู้ที่ร่วมฟังการสนทนาระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์กับประธานาธิบดียูเครนต่างมีความรู้สึกไม่สบายใจ โดยมีถึงห้าคนที่ทำใจไม่ได้ยื่นซองขอลาออกจากตำแหน่ง!!! และในเรื่องนี้ยังมีผู้โชคร้ายที่กลายเป็นเหยื่ออันโอชะของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งคนแรกก็คือ“อดีตเอกอัครราชทูตแมรี โยวาโนวิช” ประจำยูเครน ที่ออกมาแสดงความจำนงต้องการให้ประธานาธิบดีทรัมป์ปล่อยเงินช่วยเหลือยูเครนจำนวน 391 ล้านเหรียญในทันที โดยยึดเอาความมั่นคงปลอดภัยของยูเครนเป็นที่ตั้งและเธอยังกล่าวว่า ถือเป็นผลประโยชน์ที่สหรัฐฯจะได้รับในระยะยาวอีกด้วย ซึ่งงบประมาณครั้งนี้เป็นเพียง 10% ของยอดงบประมาณด้านความมั่นคงทั้งหมดของยูเครน คนต่อมาก็คือ “วิลเลียม เทย์เลอร์” อุปทูตในยูเครน ซึ่งเขาออกมากล่าวว่า “ไม่พอใจในการกระทำของประธานาธิบดีทรัมป์ในครั้งนี้ถึงกับคิดจะลาออกเป็นการประท้วง” โดยเขาเป็นนักการทูตมืออาชีพมาอย่างยาวนานกว่าห้าสิบปีในกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม “ส.ส.อดัม ชิฟฟ์”ประธานคณะกรรมาธิการข่าวกรอง ผู้รับผิดชอบในขบวนการไต่สวนพยานได้เลือกให้มร.วิลเลียม เทย์เลอร์ ผู้นี้เข้าเป็นพยานรายแรก โดยเชื่อมั่นว่าเทย์เลอร์มีความซื่อสัตย์สุจริตและทุ่มเทรับใช้ประเทศชาติมาอย่างยาวนานน่าจะสร้างความเชื่อถือให้แก่คนอเมริกันได้ดีที่สุด!!! และทันทีที่ชื่อของมร.วิลเลียม เทย์เลอร์ ปรากฏออกมาว่า จะเข้าเป็นพยานคนแรกที่ถูกไต่สวน ประธานาธิบดีทรัมป์ก็มิได้รอช้าเริ่มออกมาโจมตีอย่างทันควัน เพื่อหวังดิสเครดิตนักการทูตท่านนี้ให้หมดความน่าเชื่อถือในทุกๆด้าน อย่างไรก็ตามวันแรกของการไต่สวน นับว่าสำคัญที่สุดเพราะคนอเมริกันจะให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ โดยประเด็นหลักๆอยู่ที่ว่า พยานแต่ละคนจะสร้างความน่าเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด? และจากสำนักวิเคราะห์สำรวจความคิดเห็น “FiveThirtyEight” ที่ได้รับความเชื่อถือเป็นอย่างสูงได้ออกมาเปิดเผยล่าสุดนี้ว่า โดยเฉลี่ยแล้วผู้ที่เห็นว่าประธานาธิบดีสมควรที่จะถูกถอดถอนมีถึง 49.4% และที่ไม่เห็นด้วยอยู่ที่ 45.6% กล่าวโดยสรุปเนื่องจากวุฒิสภาจะเป็นฝ่ายตัดสินชะตากรรมทางการเมืองของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ฉะนั้นเป็นที่แน่นอนว่า เขาจะต้องดิ้นรนทำทุกทาง เพื่อมิให้สมาชิกพรรครีพับลิกันในวุฒิสภาเกิดเสียงแตก โดยขณะนี้พรรครีพับลิกันมีเสียงข้างมากเหนือพรรคเดโมแครต 53 ต่อ 47 ทั้งนี้ก่อนที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะถูกถอดถอนนั้นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสมาชิกอย่างน้อย 67 เสียงขึ้นไป ซึ่งคงจะเป็นการยากอย่างมากที่จะระดมเสียงได้มากขนาดนั้นเพราะนักการเมืองแต่ละคนต่างคำนึงถึงอนาคตการเมืองของตนโดยมองๆไปแล้วยากแสนยากเปรียบเสมือนดั่งเข็นครกขึ้นภูเขาแต่อย่างไรก็ตามเรื่องนี้คงจะจบลงราวๆช่วงก่อนคริสต์มาสนี้ละครับ