สุพิศ ปราณีตพลกรัง ศาลเป็นสถานที่สำหรับผู้ที่มีความเดือดร้อนทางอรรถคดี ต้องการมาแสวงหาความยุติธรรม มุ่งหวังว่าความไม่เป็นธรรมจะได้รับการขจัดปัดเป่าให้ผ่านพ้นไป ศาลจึงเป็นองค์กรที่มุ่งมั่นรักษาความเป็นธรรม อำนวยความยุติธรรม ทำให้ความเสมอภาคกันทางกฎหมายของประชาชนทุกคนเกิดผลในทางรูปธรรมอย่างแท้จริง จึงเป็นสถานที่ที่ได้รับการยอมรับ เป็นเวทีของทุกฝ่ายที่มุ่งแสวงหาความยุติธรรม ในด้านของความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยนั้น เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ศาลเป็นสถานที่ที่มีความปลอดภัยสูง ทุกฝ่ายและประชาชนที่มาติดต่อกับศาลไม่ต้องกังวลใจ มีความมั่นใจและอบอุ่นใจได้ว่าจะได้รับการดูแลคุ้มครองความปลอดภัยเป็นอย่างดี และคงไม่มีใครกล้ากระทำการที่อุกอาจหรือก่อเหตุร้ายในบริเวณศาล อย่างไรก็ตาม การก่อเหตุร้ายในบริเวณศาลหรือการกระทำที่เกิดผลกระทบต่อความปลอดภัยในบริเวณศาลก็มีปรากฏเสมอมาเป็นเวลายาวนาน เพียงแต่อาจมีการเว้นช่วงเวลา หรือมีเหตุการณ์เป็นครั้งคราว และมีการพยายามแก้ไขด้วยวิธีการต่าง ๆ ตลอดมา การก่อเหตุร้ายในศาลนั้น มีตั้งแต่การแหกหักที่คุมขังของศาล การจี้จับตัวผู้พิพากษาขณะนั่งพิจารณาคดีเป็นตัวประกันเพื่อต่อรองกับการหลบหนีของผู้ต้องหาหรือจำเลย การลอบฆ่าคู่อริบริเวณหน้าศาลหรือในศาล การทะเลาะเบาะแว้งในบริเวณศาลหรือกระทำการละเมิดอำนาจศาล ตลอดจนการกระโดดจากอาคารศาลเพื่อฆ่าตัวตาย จนกระทั่งล่าสุดก็คือการแหกหักที่คุมขังของศาลและการที่คู่ความก่อเหตุร้ายใช้ปืนยิงคู่กรณีและทนายความในห้องพิจารณาของศาลก่อนศาลขึ้นพิจารณาคดี การก่อเหตุร้ายในบริเวณศาลนั้น เป็นปัญหาที่ท้าทายเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยในบริเวณศาลและชื่อเสียงศรัทธาตลอดจนการได้รับการยอมรับนับถือจากประชาชนเป็นอย่างมาก ผู้ที่ต้องมาศาล ไม่เกี่ยวข้องกับทางคดีความหรือประชาชนทั่วไปอาจเกิดความไม่มั่นคงปลอดภัย แม้ว่าจะอยู่ในศาลก็ตาม เนื่องจากสภาพการณ์ต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไป ดังข่าวคราวการก่อเหตุในสถานศึกษา การวิวาททำร้ายกันในโรงพยาบาล เป็นต้น ดังนั้น ศาลก็อาจจะไม่อยู่ในฐานะเป็นสถานที่ที่ยกเว้นอีกต่อไป ในขณะที่ระบบการรักษาความปลอดภัยของศาลก็ยังเป็นระบบที่อาศัยความร่วมมือจากเจ้าพนักงานตำรวจที่มีงานล้นมือ หรือมีภารกิจที่ต้องรับผิดชอบจำนวนมากและรองรับไม่ไหวอยู่แล้ว การจัดเจ้าพนักงานตำรวจมาช่วยเหลือดูแลประจำศาลจึงออาจมีการจัดสรรเจ้าพนักงานตำรวจที่อาจมีข้อจำกัดหรือปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพหรือไม่อาจรองรับภารกิจอันสำคัญนี้ได้อย่างแท้จริง เพราะภารกิจในด้านของการดูแลรักษาความปลอดภัยในศาลนั้นเกี่ยวข้องทั้งการดูแลผู้ถูกคุมขังที่ทางราชทัณฑ์นำมาส่งศาลในแต่ละวัน การควบคุมเคลื่อนย้ายผู้ต้องงหาหรือจำเลยจากที่คุมขังของศาลศู่ห้องพิจารณาและนำกลับมาควบคุมที่เดิมหลังเสร็จการพิจารณาในแต่ละวัน ในขณะที่ด้านของพนักงานรักษาความปลอดภัยของศาล หรือ รปภ. ก็มีบทบาทเพียงด้านการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและดูแลความเรียบร้อยทั่วไปในลักษณะของการประสานความร่วมมือกับเจ้าพนักงานตำรวจเป็นหลัก สภาพปัญหาดังกล่าว ได้นำมาสู่ความพยายามในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน คือการออกกฎหมายพระราชบัญญัติเจ้าพนักงานตำรวจศาล พ.ศ. 2562โดยกำหนดให้มีเจ้าพนักงานตำรวจศาลเพื่อปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการดูแลรักษาความปลอดภัยในบริเวณศาล กล่าวคือ ตามมาตรา 5 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดหน้าที่และอำนาจของเจ้าพนักงานตำรวจศาลไว้ ดังนี้ มาตรา 5 เจ้าพนักงานตำรวจศาลมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้ (1) รักษาความสงบเรียบร้อยและรักษาความปลอดภัยบุคคลและทรัพย์สินในบริเวณศาล (2) ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในบริเวณศาล (3) รักษาความปลอดภัยและคุ้มครองข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วย ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พนักงานและลูกจ้างของศาลและสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่จะกระทำหรือได้กระทำการตามหน้าที่ รวมทั้งอาคารสถานที่ และทรัพย์สินของศาลและสำนักงานศาลยุติธรรม (4) ปฏิบัติตามคำสั่งศาลในการแจ้งให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจับผู้ต้องหาหรือ จำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวโดยศาลแล้วหนีหรือจะหลบหนี หรือถ้ามีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถ ขอความช่วยเหลือจากพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจได้ทันท่วงที ก็ให้ำนาจจับผู้ต้องหาหรือ จำเลยนั้นได้ และเมื่อจับได้แล้ว ให้นำผู้ถูกจับไปยังศาลโดยเร็ว จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า กฎหมายกำหนดให้มีเจ้าพนักงานตำรวจศาลเพื่อปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยในบริเวณศาลและดูแลคุ้มครองบุคคลและสถานที่ของศาลในลักษณะคล้ายกับเจ้าหน้าที่ court marshal ของประเทศสหรัฐอเมริกาหรือประเทศอื่นๆ คล้ายๆ กับเป็นผู้พิทักษ์ศาลหรือคุ้มครองศาล ซึ่งบทบาทหรือภารกิจดังกล่าวเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เจ้าพนักงานตำรวจศาลจึงต้องเป็นผู้ที่ต้องผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มงวด มีการฝึกอบรมในทุก ๆ ด้านที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถรองรับภารกิจและปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งก็จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการอบรมและทดสอบวัดผลและมีข้อจำกัดแปรผันตามงบประมาณที่สำนักงานสาลยุติธรรมได้รับการจัดสรร ในระยะเริ่มแรกจึงปรากฏว่ามีการคัดสรรและอบรมเจ้าพนักงานตำรวจศาลชุดแรกได้เพียง 35 ราย ซึ่งหากมีการจัดสรรกระจายไปประจำตามศาลต่าง ๆ ก็ยังไม่เพียงพอแม้กระทั่งศาลในกรุงเทพมหานคร เพราะศาลทั่วราชอาณาจักรมีทั้งหมดประมาณ 275 ศาล ทุกศาลต่างก็มีความเสี่ยงเกี่ยวกับด้านความปลอดภัยมากน้อยลดหลั่นก็ไปหรืออาจจะมีการก่อเหตุร้ายในศาลได้ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันโดยเฉพาะศาลที่มีปัญหาความขัดแย้ง ความเสี่ยงภัยสูง ตลอดจนศาลที่มีคดีอุกฉกรรจ์ร้ายแรงต่าง ๆ สภาพการณ์ดังกล่าว นับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายเกี่ยวกับการจัดการด้ายการรักษาความปลอดภัยในบริเวณศาลเป็นอย่างมาก และหากสภาพปัญหาเป็นไปในลักษณะดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่ท้าทายที่ยาวนานเลยทีเดียว การผจญกับสภาพปัญหาอาจต้องอยู่ในสภาพเป็นไปตามยถากรรม รอความพร้อมต่างๆ ที่อีกยาวนานกว่าจะมาถึงหรือครบถ้วนสมบูรณ์ตามที่ควรจะเป็น ซึ่งความสูญเสียหรือความรุนแรงของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่คาดการณ์หรือควบคุมได้ยาก กรณีจึงไม่อาจปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมตามที่กล่าวหรือรอให้มีการปรับสภาพไปอย่างเชื่องช้าไม่ได้ ในแง่ของการดำเนินการจัดการจึงต้องมีการกำหนดการวางแผนการดำเนินการทั้งระยะสั้นและระยะยาว มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่และความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาปรับใช้อย่างเหมาะสมเพื่อให้สามารถป้องกันปัญหา เกิดความปลอดภัยในระดับที่วางใจได้และก่อให้เกิดความอบอุ่นใจแก่ประชาชนผู้มาติดต่อราชการศาลและบุคลากรของศาล มีการให้ความสำคัญกับการโอนคดี การติดตามและประสานงานด้านการข่าว การประสานความร่วมมือกับภายนอก ในด้านของเจ้าพนักงานตำรวจนั้น แม้จะเป็นไปในลักษณะของความร่วมมือ แต่ก็ควรจะเป็นการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด กล่าวคือ หน่วยงานต้นสังกัดจะต้องตระหนักถึงสภาพของภารกิจรักษาความปลอดภัยในศาลว่าไม่ใช่เป็นเรื่องของงานฝากที่จะส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไม่พร้อมมาดูแลก็ได้ เพราะหากเกิดเหตุร้ายขึ้น หน่วยงานด้านตำรวจนั่นเองเป็นหน่วยแรกที่จะต้องเดือดร้อนติดตามจับกุมหรือแก้ไขปัญหา กรณีจึงไม่อาจปล่อยให้เป็นไปตามสภาพเดิมได้อีกต่อไป ต้องถือว่าความปลอดภัยในศาลเป็นภารกิจหลักที่สำคัญไม่ย่อหย่อนไปกว่าภารกิจหลักที่ปฏิบัติอยู่ จึงต้องมีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีศักยภาพพร้อมและสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำนักงานศาลยุติธรรมและหน่วยงานด้านตำรวจอาจต้องปรึกษาทำความเข้าใกี่ยวสภาพปัญหาที่ถูกต้องตรงกันและกำหนดแนวทางต่างๆ ที่ชัดเจนเพื่อถือปฏิบัติทั่วประเทศ โดยในระยะแรก เจ้าพนักงานตำรวจศาลที่มีอยู่จำกัดอาจทำหน้าที่พี่เลี้ยงในภาพรวมเพื่อทำเข้าใจปัญหาต่าง ๆ และกำหนดแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมสอดคล้องกัน เป็นไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้แล้ว ในส่วนของสำนักงานศาลยุติธรรมก็อาจต้องศึกษามองปัญหาการรักษาความปลอดภัยให้ถูกต้องครอบคลุมครบถ้วนในทุกมิติและดำเนินการบริหารจัดการทั้งในด้านของการป้องกันและแก้ไขปัญหา ซึ่งการดำเนินการต่าง ๆ ก็จำต้องมีการประสานความร่วมมือจากประชาชนและสังคมส่วนรวมอย่างใกล้ชิด ประชาชนทุกภาคส่วนจำต้องสนับสนุนและให้ความร่วมือเพื่อความปลอดภัยซึ่งเป็นประโยชน์ร่วมกันของทุกคนและศาลนั้นเป็นศาลของประชาชน เป็นองค์กรหลักที่เป็นที่พึ่งพาของทุกคน