เมื่อวันที่ 15 พ.ย.62 ที่ กองปราบ พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช ผบก.ป. พ.ต.อ.สุรพงษ์ ชาติสุทธิ์ พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ รอง ผบก.ป พ.ต.อ.วิจักขณ์ ตารมย์ ผกก.สสน. บก.ป. พ.ต.อ.บุญลือ ผดุงถิ่น ผกก.3 บก.ป. และ พ.ต.อ.วิระชาญ ขุนไชยแก้ว ผกก.6 บก.ป. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.6 บก.ป. กก.3 บก.ป. และ กก.สสน. บก.ป. ทำการเปิดยุทธการ “ทลายแก๊งค์หลอกลวงจ่าย 1 พัน ได้ 1 ล้าน” เพื่อปราบปราม กลุ่มผู้หลอกลวงประชาชนที่อ้างว่ามีโครงการ นำเงินทุนจากธนาคารโลก World Bank มาพัฒนาประเทศไทย ซึ่งหลอกลวงโดยอ้างว่าในการนำเงินออกจากกองทุนโลกจะต้องมีค่าใช้จ่ายสูง โน้มน้าวให้ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการนี้โดยอ้างว่าเป็นการช่วยเหลือประเทศชาติ ผู้ที่สนใจลงทุนนำเงินมาลงทุน 1 พันบาท จะได้รับผลตอบแทน 1 ล้านบาท สืบเนื่องจาก มีบุคคลอ้างชื่อว่า “น้าหลุย” ได้สร้างเรื่องว่าประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการนำเงินจากธนาคารโลก (World Bank) มาเพื่อพัฒนาประเทศ โดยมีคณะทำงานส่วนกลางเป็นผู้ประสานงาน วัตถุประสงค์ในการระดมเงินคือนำเงินมาเพื่อจ่ายเป็นค่าภาษีและค่าใช้จ่ายอื่นๆในการดำเนินการ ซึ่งการช่วยเหลือในครั้งนี้จะได้รับผลตอบแทน คือจ่ายเงินให้ 1 พันบาท จะได้รับผลตอบแทน 1 ล้านบาท บางครั้งเพิ่มเป็น 2 ล้านบาท และ 4 ล้านบาท ทำให้มีผู้หลงเชื่อช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก และมีหลายคนได้ทำการกู้ยืมเงินหรือนำทรัพย์สินไปวางจำนำเพื่อให้มีเงินมาร่วมลงทุน ระยะเวลาผ่านไปหลายปีไม่มีการจ่ายผลตอบแทนตามที่อ้างแต่ต้น บ่ายเบี่ยงว่ารอผู้ประสานงานส่วนกลางยังทำเอกสารไม่แล้วเสร็จ ทำให้มีผู้ที่ร่วมระดมเงินลงทุนได้รับความเดือดร้อนเกี่ยวกับหนี้สินหลายราย จึงได้มาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กก.6 บก.ป. ประกอบกับมีการแอบอ้างธนาคารแห่งประเทศไทยโดยการปลอมแปลงเอกสารประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการปล่อยระบบเงินภายในประเทศ พุทธศักราช 2562 เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ 23 ล้านล้านบาท ซึ่งทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการแจ้งความดำเนินคดีกับคนร้ายแล้ว ทั้งนี้สืบเนื่องจากตำรวจกองปราบ ได้ดำเนินการตรวจสอบสืบสวนสอบสวนนำไปสู่การออกหมายจับผู้ต้องหา 10 ราย ต่อมาผู้บังคับบัญชาจึงได้มีการสั่งการให้ดำเนินการตามแผนยุทธการ “ทลายแก๊งค์หลอกลวงจ่าย 1 พัน ได้ 1 ล้าน” ผลการปฏิบัติตามยุทธการได้เข้าตรวจค้นบ้านพักอาศัยของกลุ่มผู้ต้องหาในหลายจังหวัด ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา ศรีสะเกษ สมุทรปราการ และนนทบุรี โดยสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ทั้งหมด 10 คน 1.นางพันธุ์ทิพา นัยยทิพย์ อายุ 66 ปี 2.น.ส.ปรีดาภรณ์ คำหอม อายุ 35 ปี 3.นายณัฐพงษ์ อำไพ อายุ 53 ปี 4.นางนภาดา แต้มเจริญ อายุ 48 ปี 5.นายสายัณห์ นิราช อายุ 51 ปี 6.นายธนกร สุขสมบูรณ์ อายุ 53 ปี 7.นางชลเทวี อินทโพธิ์ อายุ 57 ปี 8.นายละมัย ชูอิ่ม อายุ 54 ปี 9.นายประภาส ศรีวรรณา อายุ 42 ปี และ 10..นายอุดร ธนะฤกษ์ อายุ 39 ปี ทั้งหมดในข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน,ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันฟอกเงิน” โดยผู้ต้องหาทั้งหมดถูกนำตัวเพื่อดำเนินคดีต่อไป และผู้ต้องหาทั้งหมดยังคงให้การปฏิเสธ จึงนำตัวส่งศาลอาญารัชดา จากการตรวจสอบพบว่า ผู้ต้องหากลุ่มนี้บางรายถูกดำเนินคดีในลักษณะเดียวกันนี้หลายคดี และในคดีนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจยึดของกลางกว่า 200 รายการ ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบทรัพย์สิน โดยมีการประสานความร่วมมือกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน จากการรวบรวมพยานหลักฐานในชั้นนี้ผู้เสียหายแจ้งมูลค่าความเสียหายเบื้องต้น 8 ล้านบาท และคาดว่าหลังจากการจับกุมในครั้งนี้จะมีผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก เพราะจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินของผู้ต้องหาพบว่าความเสียหายตีเป็นมูลค่ากว่าห้าร้อยล้านบาท ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ