นายกรณ์ จาติกวณิช สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ อดีต รมว.คลัง อภิปรายในวาระรับทราบรายงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน โดยเป็นช่วงที่ นายศุภชัย ใจสมุทร เป็นประธานในการประชุม โดยนายกรณ์ ได้อภิปรายถึงประเด็นคำถามต่อบทบาทหน้าที่ในการกำกับดูแลการผลิตไฟฟ้า และประเด็นที่มีความสำคัญมากที่สุดคือเรื่องการแข่งขันในการผลิตไฟฟ้าซึ่งต้องเป็นการแข่งขันที่เป็นธรรมโปร่งใส นำมาซึ่งผลตอบแทน หรือค่าไฟที่ต่ำที่สุดให้พี่น้องประชาชน นายกรณ์ ระบุว่า ก่อนการอภิปรายตนได้หารือกับประธานฯ ว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะขอให้ กกพ.มานำเสนอรายงานประจำปีงบประมาณ 2560-2561 ซึ่งได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สภาฯว่า รายงานปี 2561 ยังไม่ได้พิจารณาในชั้นรัฐมนตรี จึงไม่สามารถนำมารายงานได้ทัน ทั้งที่ความเป็นจริงรายงานได้ออกมาตั้งแต่เมื่อต้นปีแล้วทั้งสองปี หากทาง กกพ.ต้องการยกระดับในการทำงาน นำเสนอคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาในช่วงดังกล่าว วันนี้เราก็คงนำมาพิจารณาพร้อมกันได้แล้ว ดังนั้นจึงต้องเสียเวลารอไปอีกหนึ่งปี อย่างไรก็ตามถือเป็นโอกาสที่ดี ที่จะได้มีโอกาสพูดคุยเกี่ยวกับการทำงานของ กกพ. นายกรณ์ กล่าวว่า เมื่อปี 61 ได้ยื่นหนังสือต่อ ประธาน กกพ. เพื่อขอให้ตรวจสอบการเข้าซื้อหุ้นในบริษัท โกลว์ พลังงงาน จำกัด (มหาชน) หรือ GLOW ของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ จีพีเอสซี (GPSC) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ปตท. พื่อต้องการให้กกพ.ในฐานะผู้มีอำนาจพิจารณาอนุมัติโอนย้านใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน เข้าไปตรวจสอบกรณีการเข้าซื้อหุ้นดังกล่าวของเครือ ปตท.ที่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่เข้าไปแข่งขันกับเอกชนในธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งมีต่างชาติถือหุ้นอยู่เกิน 60% ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 75 ที่มีข้อห้ามให้หน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจทำธุรกิจเพื่อแข่งขันกับเอกชน และตามกฎของ กลต. เมื่อเข้าไปซื้อหุ้นเกิน 50 เปอร์เซ็น บริษัท จีพีเอสซีก็มีความจำเป็นตามกฎหมายที่จะต้องรับซื้อหุ้นที่เหลือให้ครบ 100 เปอร์ สรุปคือ จีพีฯ จะไปครอบงำกิจการผลิตไฟฟ้าของคู่แข่งผลิตไฟฟ้าเอกชนอีกเจ้าคือ โกลว์ ถือเป็นการลดการแข่งขัน เนื่องจากทั้งสองบริษัท เป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศ การควบรวมกันลักษณะนี้จะกระทบการแข่งขันอุตสาหกรรมไฟฟ้าลดลง ส่งผลต่อต้นทุนของค่าไฟของประชาชนจะสูงขึ้นอย่างแน่นอน “ ในมุมมองของผม ปตท.ผูกขาดด้านการขายแก๊ส และแก๊สก็เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าในประเทศไทย กล่าวคือ 70 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตไฟฟ้า ผลิตจากการเผาแก๊ส ยิ่งเป็นการไม่เหมาะสมที่บริษัท ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจอย่าง ปตท. จะผูกขาดแต่ผู้เดียวในการขายแก๊ส ให้กับบริษัทผลิตไฟฟ้าทุกบริษัท โรงผลิตไฟฟ้าทุกโรง และยิ่งไม่เหมาะสมหนักขึ้นไปอีก ที่บริษัทผูกขาดการขายแก๊สจะลงไป ทำธุรกิจปั่นไฟ แข่งกับลูกค้าของตัวเอง ทุกคนคงนึกภาพออกว่ามันสุ่มเสี่ยงต่อความขัดแย้งในแง่ของผลประโยชน์ ระหว่าง ปตท.ในฐานะผู้ผูกขาดการขายแก๊ส กับผู้ผลิตไฟฟ้าทุกบริษัท รวมถึงคู่แข่งของ จีพีเอสซี ซึ่งเป็นบริษัทลูกของปตท.ด้วย ซึ่งขัดต่อพันธกิจของปตท.ตั้งแต่แรก ถ้าบอกว่าเพื่อมั่นคงทางพลังงาน เราก็มีรัฐวิสาหกิจที่ดูแลเรื่องการผลิตไฟฟ้าอยู่แล้ว คือ กฟผ. วันนี้ กฟผ.ไม่ดีพอหรือบกพร่องอย่าง เราถึงต้องมีนโยบายให้รัฐวิสาหกิจ อย่างปตท.ลงไปทำธุรกิจนี้ซ้ำซ้อน ผมมองว่าเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของ กกพ.ที่จะแสดงจุดยืน ในการสร้างบรรยากาศความเป็นธรรมเพื่อประโยชน์สูงสุดของพี่น้องประชาชน” นายกรณ์ กล่าว นายกรณ์ กล่าวอีกว่า ไม่เพียงเฉพาะตนเท่านั้นที่ร้องเรียนต่อ กกพ. แต่ยังมีบริษัทเอกชนกว่า 10 บริษัท ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่จะได้รับผลกระทบหาก ปตท. จะเข้ามาผูกขาดในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้าแต่ผู้เดียว โดยกลุ่มบริษัทเหล่านั้นอยู่ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ถือเป็นคู่แข่งโดยตรงของ ปตท. การส่งบริษัทในเครืออย่าง จีพีเอซี มาผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้กับบริษัท ที่เขาถูกบังคับว่าต้องซื้อไฟฟ้าจาก จีพีเอสซี เพราะอยู่ในนิคมมาบตามพุด เขายิ่งเสียเปรียบ อย่างไรก็ตามในชั้นแรก กกพ. มีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่อนุมัติให้บริษัทจีพีเอสซี ซื้อบริษัทโกลว์ ก็เฮกันเนื่องจากนาน ๆ จะเห็นองค์กรอิสระทำหน้าที่เต็มภาคภูมิปกป้องผลประโยชน์ของประชน แต่ไม่กี่เดือนหลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้นไม่ทราบ มีการยื่นเรื่องใหม่เข้าไปที่ กกพ. อีกครั้ง และครั้งนี้ กกพ.อนุมัติ กลับลำมติที่เป็นเอกฉันท์เดิม ให้บริษัทจีพีเอสซี ซื้อ บริษัทโกลว์ได้ โดยกำหนดเงื่อนไขสวยหรู 12 ข้อ แต่ที่สำคัญที่สุดมีเพียงข้อเดียวคือ เงื่อนไขที่ว่า ก่อนที่ ปตท.จะไปซื้อโกลว์ ต้องขายโรงไฟฟ้าออกมาหนึ่งโรง เพื่อให้เห็นว่า ยังมีบริษัทที่ยังผลิตไฟฟ้าแข่งขันอยู่ ปตท.ไม่ได้ผูกขาดร้อยเปอร์เซ็นต์ เหมือนกับแผนเดิมที่เคยเสนอไว้ “แต่ตามข้อเท็จจริง การจะอ้างว่าภาพกรณ์มันเปลี่ยนไป จึงมีการอนุมัติให้ ปตท.เข้าไปซื้อได้ มันฟังไม่ขึ้น ใครที่อยู่ในวงการรู้ดีว่ามัน “ปาหี่” เพราะโรงไฟฟ้าที่ถูกบังคับให้ขายเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กนิดเดียว มีกำลังการผลิตไม่ถึง 5% ของกำลังการผลิตของโกลว์ และถ้านับเป็นกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าในนิคมมาบตาพุดมีกำลังแค่ 2% เศษๆ ไม่ได้มีผลต่อการรักษาการแข่งขัน” นายกรณ์ กล่าว สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ยังกล่าวถึงกรณี ที่รัฐบาลมีนโยบายล้ม แอลเอ็นจี ของกฟผ. ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นในอนาคต หาก กฟผ.ถูกบังคับให้ต้องไปซื้อแก๊สจาก ปตท.เหมือนกับที่ต้องทำอยู่ปัจจุบัน ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็ไม่เห็น กกพ.ออกมาทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ตามบทบาทภารกิจ ดังนั้นจึงอยากให้ทาง กกพ.ชี้แจงเรื่องนี้ด้วย