ชาวเผ่าลั๊ว บ้านก่อก๋วงนอก ต.บ่อเกลือใต้ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ถือเป็นหมู่บ้านหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมให้ชาวบ้านหันมาทำการเกษตรที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยการปลูกพืชผักที่มีความปราณีต ใช้พื้นที่น้อย แต่มีมูลค่าสูง อย่างเช่น สตรอว์เบอร์รี่ และผักสลัด แทนที่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทำให้ลดการบุกรุกทำลายป่าได้เป็นจำนวนมาก นางอภิสรา จ๋มล้า หัวหน้ากลุ่มปลูกผักเมืองหนาว หมู่บ้านก่อก๋วงนอก กล่าวว่า เดิมตนเองเป็นบ้านก่อก๋วงใน ซึ่งห่างจากที่อยู่ปัจจุบัน 4 กม. แต่หลังจากที่มีถนนตัดผ่าน และประกอบกับที่บ้านก่อก๋วงในมีสภาพแออัด ทำให้ชาวบ้านบางส่วนย้ายมาตั้งถิ่นฐานใหม่ใกล้ถนน ตั้งเป็นหมู่บ้านก่อก๋วงนอก โดยก่อนหน้านี้ชาวบ้านก็มีการทำไร่ทำสวนตามฤดูกาล อาศัยเทวดาฟ้าดินดูแลผลผลิต ปลูกทุกอย่างในไร่ ตอนหลังมีกระแสเรื่องการปลูกข้าวโพดเข้ามาในพื้นที่ซึ่งชาวบ้านก็สนใจเกือบจะหันมาปลูกข้าวโพดเหมือนพื้นที่อื่นๆเพราะข้าวโพดปลูกง่าย และมีบริษัทเอกชนเข้ามาเสนอความช่วยเหลือเรื่องปุ๋ย เรื่องยาเรียบร้อยแล้ว แต่โชคดีที่หน่วยงานของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.) เข้ามาให้ความรู้และแนะนำให้ปลูกปลูกสตอว์เบอร์รี่ และผักสลัด ทำให้ชาวบ้านเปลี่ยนใจ เนื่องจากการปลูกผักนั้นสามารถสร้างรายได้ให้ทั้งปี ส่วนข้าวโพดนั้นมีรายได้แค่ปีละครั้ง ซึ่งหลังจาก มจธ.เข้ามาให้ความรู้เรื่องการใช้พื้นที่ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ ปลูกผัก ทำการเกษตรได้ทั้งปี ให้มีรายได้ทั้งปี ชาวบ้านจึงสนใจ โดยขณะนี้มีชาวบ้าน 21 ครัวเรือนเข้าร่วม โดยใช้พื้นที่ข้างบ้านที่เคยปล่อยทิ้งไว้เฉยๆมาปลูกสตอร์เบอรี่และผักสลัด สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว โดยไม่ต้องไปบุกรุกป่าเพื่อทำไร่ข้าวโพด ด้านนายมนต์ชัย นีซัง นักวิจัยและผู้ประสานงานศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนมูลนิธิโครงการหลวงและโครงการตามพระราชดำริ สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มจธ. กล่าวว่า บ้านก่อก๋วงนอก อ.บ่อเกลือ เป็นพื้นที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1300 เมตร และเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำมาง ซึ่งเป็นต้นน้ำที่ไหลลงไปสู่แม่น้ำว้า และแม่น้ำน่าน ถือเป็นต้นน้ำที่สำคัญ การเข้ามาให้ความรู้และสนับสนุนให้ชาวบ้านประกอบอาชีพอื่นที่ไม่ใช่การทำไร่ข้าวโพดถือเป็นเรื่องจำเป็น เพราะการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้นถ้าชาวบ้านอยากได้เงินเยอะก็ต้องถางป่าให้เยอะ ซึ่งป่าก็จะหายไปเยอะ แต่การหาพืชปลูกทดแทนการทำไร่ข้าวโพดก็จำเป็นที่จะต้องเลือกพืชผักที่มีมูลค่าสูง เพื่อให้มีมูลค่าเพียงพอกับเกษตรกร และไม่อยากให้ใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ในการผลิต ซึ่งพืชที่ได้ทำการเลือกเข้ามา จึงเลือกพืชที่มีความปราณีต ใช้พื้นที่ขนาดเล็ก และมีมูลค่าสูง “สตอร์เบอรี่ และผักสลัด ถือเป็นพืชที่ตอบโจทย์ข้อนี้ได้ เนื่องจากปัจจุบันเมืองน่านได้รับความนิยมด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น มีรีสอร์ท และผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวเกิดขึ้นมากมาย ทำให้ผักสลัดเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการ จึงได้มีการนำผักสลัดมาทดลองให้ชาวบ้านปลูก โดยขณะนี้ทำการปลูกได้ประมาณปีกว่าๆ แล้ว ซึ่งต้องยอมรับว่าพืชผักเหล่านี้ชาวบ้านในพื้นที่แห่งนี้ไม่เคยปลูกมาก่อน ไม่มีความรู้ว่าต้องปลูกอย่างไร ต้องทำอย่างไรให้มีผลผลิตออกอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากแต่เดิมนั้นชาวบ้านก็จะปลูกพืชผักตามฤดูกาล อาศัยฝนฟ้าอากาศเป็นหลัก ไม่มีการจัดการที่เป็นระบบ ทำให้มีปัญหาเรื่องผลผลิต ทั้งเรื่องคุณภาพ ทำให้ได้ผลผลิตไม่ต่อเนื่อง บางครั้งก็มีปัญหาเรื่องผลผลิตล้นตลาด การเข้ามาของมจธ.จึงมาดูเรื่องการจัดการ ให้เขาปลูกให้เป็น จัดการให้ได้ รู้จักวางแผนการผลิต ปัจจุบันชาวบ้านสามารถวางแผนการผลิต จนสามารถมีผักออกสู่ตลาดได้ทุกสัปดาห์ แต่ยังมีปัญหาเรื่องการตลาดอยู่บ้าง ซึ่งจะต้องมีเรียนรู้และการแก้ไขปัญหากันต่อไป” นายมนต์ชัย กล่าว ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการส่งเสริมให้ชาวบ้านได้ประกอบอาชีพสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวโดยไม่ต้องมีการบุกรุกทำลายป่า ถึงแม้วันนี้จะยังไม่ประสบผลสำเร็จแบบครบวงจรเต็มร้อยเปอร์เซ็น แต่ก็ถือว่าได้สร้างองค์ความรู้และสนับสนุนให้ชาวบ้านได้มีทางเลือกที่เป็นผลดีต่อทั้งตัวเองและส่วนรวม ทีมข่าวภูมิภาค