เด็กภท.ข้องใจรัฐไฟเขียวให้เอกชนฮุบผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ทำสัดส่วนกฟผ.ลดลงเหลือตำ่กว่า 50% ด้าน“สนธิรัตน์”แจง มีกลไกบังคับให้ขายผ่านกฟผ. เท่ากับอำนาจสั่งการให้ผลิต-หยุดผลิตยังอยู่ที่กฟผ. เมื่อวันที่ 13 พ.ย. เวลา 15.30 น. ที่รัฐสภา เกียกกาย มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานในการประชุม ทั้งนี้ได้พิจารณากระทู้ถาม เรื่องขอให้ทบทวนแผนยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน ของนายบุญลือ ประเสริฐโสภา ส.ส.ราชบุรี พรรคภูมิใจไทย ถามนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยนายบุญลือ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญกำหนดว่า โครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานนั้น รัฐจะดำเนินการกิจการใดรัฐจะต้องเป็นเจ้าของไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 แต่วันนี้รัฐกลับให้เอกชนเข้าไปดำเนินกิจการพลังงานอย่างมากมาย ส่งเสริมให้บริษัทเอกชนรายหนึ่งมีสัดส่วนในการผลิตไฟฟ้าจนทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเหลือกำลังการผลิตเพียงร้อยละ 37 จึงอยากถามว่ารัฐบาลจะมีการกำหนดและดูแลตรงนี้อย่างไร นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าที่จะหมดสัญญาในปี 63 นั้น รัฐบาลจะมีมาตรการดำเนินการอย่างไร และโรงไฟฟ้าราชบุรีนั้น อาจจะกระทำผิดพระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงานด้วยหรือไม่ เพราะไม่มีการดำเนินการเรื่องของกองทุนทดแทนใดๆ ด้านนายสนธิรัตน์ ชี้แจงว่า เรื่องไฟฟ้าเป็นการวางแผนในระยะยาวเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน ซึ่งขณะนี้เป็นยุคเปลี่ยนผ่านของวงการพลังงานที่ไม่แตกต่างไปกับวงการอื่นๆ ที่สำคัญคือ ทำอย่างไรให้ต้นทุนถูกลง และไม่เป็นภาระให้กับประชาชน ทั้งนี้ แม้สัดส่วนการผลิตของเอกชนเพิ่มขึ้น และมองว่าการผลิตของกฟผ.ต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ในข้อเท็จจริงการผลิตเราจะมีกลไกบังคับให้ขายผ่านกฟผ.เท่านั้น และการแข่งขันจะเปิดให้แข่งขันอย่างโปร่งใส เพื่อเอาต้นทุนที่ถูกลง ดังนั้น อำนาจสั่งการให้ผลิตและหยุดผลิตจึงยังอยู่ที่กฟผ. ซึ่งเท่ากับว่าอำนาจในการควบคุมสั่งการยังอยู่ที่กฟผ. ขณะที่กรณีของโรงไฟฟ้าราชบุรีนั้น ได้มีการเทียบเคียงกับกรณีที่จะมีการเปิดให้มีการประมูลใหม่แล้วพบว่า มีความคุ้มค่ากว่าการเปิดให้มีการประมูลใหม่ ทั้งในเรื่องของระบบต้นทุนการส่งไฟฟ้าต่างๆ ซึ่งมีระบบโครงสร้างพื้นฐานอยู่แล้ว