แพร่ เตรียมความพร้อมแก่กำลังแรงงาน ปีงบประมาณ 2563 สร้างเครือข่ายการแนะแนวอาชีพ จ.แพร่ เพิ่มทักษะด้านอาชีพ ช่วยแก้ปัญหาการว่างงาน 13 พ.ย.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณห้องประชุมมเหสักข์ วิทยาลัยเทคนิคแพร่ อ.เมืองแพร่ จ.แพร่ นายนิธิวัชร์ ศิรโภคาวิโรจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นประธานพิธีเปิด “โครงการเตรียมความพร้อมแก่กำลังแรงงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 และกิจกรรมสร้างเครือข่ายการแนะแนวอาชีพ” จังหวัดแพร่ โดยบูรณาการร่วมกับโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ โดยมีนายปัญญา ขาวเขียว จัดหางานจังหวัดแพร่ กล่าวรายงงาน ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงแรงงาน ร่วมสังเกตุการณ์ ผู้เข้าร่วมอบรมสัมมนา ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา ครูแนะแนว และบุคลากรด้านการแนะแนว จากสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดแพร่ จำนวน 201 คน นายนิธิวัชร์ ศิรโภคาวิโรจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวว่า “การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้พร้อมกับการมีงานทำและประกอบอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืน เป็นภารกิจที่สำคัญอีกด้านหนึ่งในการพัฒนาประเทศและเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในวัยแรงงาน เพื่อลดปัญหาการว่างงานและปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอนาคต รวมทั้งกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยุทธศาสตร์ ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นประเทศ พัฒนาแล้ว จำเป็นจะต้องยกระดับผลิตภาพการผลิตและการใช้นวัตกรรมในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งแรงงานเป็นทุนมนุษย์ที่ถือเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญและมีคุณค่าต่อการพัฒนาประเทศในทุกระดับของระบบเศรษฐกิจ” ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 29 ธันวาคม 2558 ยังเห็นชอบ แนวทางการเตรียมความพร้อมแก่กำลังแรงงานก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยให้กระทรวงแรงงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) และหน่วยงานต่าง ๆ ที่จัดให้มีการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา ดำเนินการให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ มัธยมศึกษาตอนปลายทุกคนต้องผ่านการแนะแนวการศึกษาและอาชีพก่อนสำเร็จการศึกษาตามกระบวนการแนะแนวครบถ้วนทุกขั้นตอน โดยกระทรวงแรงงานให้การสนับสนุนแบบทดสอบศักยภาพต่างๆ และการประมวลผลการทดสอบในระบบออนไลน์แก่นักเรียนและสนับสนุนข้อมูลอาชีพและข้อมูลเกี่ยวกับทิศทางตลาดแรงงานแก่เครือข่ายครูแนะแนวของสถานศึกษา และนโยบายจากคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ได้กำหนดให้กระทรวงแรงงานร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ แนะแนวอาชีพให้กับนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ตอบรับและดำเนินการตามมติ ครม. และนโยบายดังกล่าวโดยการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือร่วมกัน นายนิธิวัชร์ กล่าว. ด้านนายปัญญา ขาวเขียว จัดหางานจังหวัดแพร่ กล่าวว่า การจัดการอบรมสัมมนาโครงการเตรียมความพร้อมแก่กำลังแรงงาน “กิจกรรมสร้างเครือข่ายการแนะแนวอาชีพ” มีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนด้านการแนะแนวอาชีพให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญยิ่งที่จะทำให้คนรู้ศักยภาพของตนเอง มีความรู้ ในทิศทางตลาดแรงงาน และโลกอาชีพ เพื่อให้มีความสามารถในการวางแผนการศึกษา หรือประกอบอาชีพได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสม กระบวนการแนะแนวอาชีพ และการส่งเสริมการประกอบอาชีพเป็นกระบวนการสำคัญที่จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาการว่างงานการเปลี่ยนงาน หรือการออกจากงาน รวมถึงการมีงานทำที่ยั่งยืน มีความก้าวหน้าในอาชีพมีรายได้ที่เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยการสร้างความร่วมมือและพัฒนาเครือข่ายการแนะแนวอาชีพ ให้ได้รับความรู้ ได้พัฒนาองค์ความรู้ด้านการแนะแนวอาชีพ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านข้อมูลการแนะแนวอาชีพเปิดโลกทัศน์แห่งการแนะแนวการศึกษาและอาชีพที่กว้างขวาง เป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการแนะแนวอาชีพอย่างยั่งยืน ครูแนะแนวและบุคลากรด้านการแนะแนวสามารถใช้เครื่องมือวัดบุคลิกภาพในกระบวนการแนะแนวอาชีพ ให้คำปรึกษาทางอาชีพเพื่อการปฏิบัติงานด้านการแนะแนวอาชีพที่เป็นมาตรฐานและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ประกอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และกรมการจัดหางาน ได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มเป้าหมาย จึงได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ กำหนดขั้นตอน ปฏิทินการดำเนินโครงการ และความชัดเจน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม ทั้งนี้ จังหวัดแพร่ได้บูรณาการโครงการทั้งสองโครงการร่วมกัน เพื่อพัฒนาให้นักเรียนที่จบการศึกษาภาคบังคับที่มีฐานะยากจนและขาดโอกาสในการศึกษาต่อของจังหวัดแพร่ ให้มีทักษะด้านอาชีพในการเข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะ “แรงงานมีฝีมือ” เพื่อหารายได้ช่วยครอบครัว ตลอดจนมีความมั่นคงทางอาชีพและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ตลอดจนชี้แจงให้กับผู้บริหารสถานศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียนและครูแนะแนวได้ทราบเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ ขั้นตอน ปฏิทินโครงการฯ รวมทั้งเตรียมข้อมูลตำแหน่งงานว่างรองรับให้กับกลุ่มเป้าหมายตามความต้องการในพื้นที่หรือในพื้นที่จังหวัดอื่นที่มีความต้องการแรงงานสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย หลังจบการฝึกอบรม นายปัญญา กล่าวอีกว่า การจัดอบรมสัมมนาในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคราชการ เอกชน ชี้แจงวัตถุประสงค์ ขั้นตอน ปฏิทินการดำเนินโครงการฯ รายละเอียดการกรอกแบบสอบถาม และแบบสรุปโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพ แก่นักเรียนครอบครัวยากจนของจังหวัดแพร่ ที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ (ตาม MOU สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน) โดยนายสุนทร จันทร์เกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานแพร่ และนางสาวสุรีย์ภรณ์ บุญคุ้ม ผู้แทนศึกษาธิการจังหวัดแพร่ ทั้งนี้ ได้มีการอภิปรายเรื่องการส่งเสริมทักษะอาชีพ แหล่งงาน และการขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะอาชีพ แก่นักเรียนครอบครัวยากจนของจังหวัดแพร่ที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ ดำเนินรายการโดย ดร.พุทธชาติ เกตุหิรัญ รองผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาแพร่ ผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วย นายปัญญา ขาวเขียว จัดหางานจังหวัดแพร่, นายเศกสรรค์ สุวรรณศิลป์ ผู้แทนหอการค้าจังหวัดแพร่, นายสุนทร จันทร์เกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานแพร่, นายอุบลศักดิ์ ขีดสร้อย ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนแพร่, ดร.ประทีป บินชัย ประธานกรรมการอาชีวศึกษาแพร่และ นางสาวเสาวนีย์ ชาพัฒิพงศ์ ผู้แทน กศน. อำเภอเมืองแพร่ การบรรยาย เรื่อง “ค้นพบตนเอง ค้นพบอาชีพ” ผ่าน SUMSUNG CAREER DISCOVERY บนเว็บไซต์ของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน และการบรรยายเรื่อง กิจกรรมแนะแนวอาชีพให้นักเรียน นักศึกษา สำนักงานจัดหางานจังหวัดแพร่ ร่วมกับสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดแพร่ โดย วิทยากรจากสำนักงานจัดหางานจังหวัดแพร่ นายปัญญากล่าวทิ้งท้าย