เหตุการณ์ไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ก่อให้เกิดผลกระทบหลายอย่างในพื้นที่ หนึ่งในนั้นคือแม่บ้านที่สูญเสียสามี เสาหลักของครอบครัวไปอย่างไม่มีวันกลับ ซึ่งไม่เพียงสร้างความเจ็บปวดในจิตใจ หน้าที่ในการดูและครอบครัวที่เคยมีสามีร่วมคิดร่วมทำก็ต้องมาจัดการคนเดียว ลดทอนคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัวลงไป มาเรียม โสะ จังหวัดปัตตานี มาเรียม โสะ หนึ่งในสตรีที่ได้รับผลกระทบจากจังหวัดปัตตานี บอกเล่าถึงความยากลำบากในการดำเนินชีวิตหลังต้องสูญเสียสามีไปอย่างไม่มีวันกลับจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ “เมื่อก่อนเราไม่เคยทำงาน เป็นแม่บ้านเลี้ยงลูกอย่างเดียว แต่พอสามีมาถูกยิงเสียชีวิต ภาระหน้าที่ทั้งหมดตกมาอยู่ที่เรา จากคนที่ไม่เคยทำงาน ก็ต้องพยายามทำให้ได้ ล้มลุกคลุกคลานไปบ้างก็ต้องสู้ มันก็สะเทือนใจนะ เพราะตอนนั้นลูกก็ยังเล็ก แต่ก็บอกตัวเองว่าถ้าเราล้มไปอีกคน ลูกจะอยู่ยังไง ลูกคือกำลังใจที่ดีที่สุดที่เป็นแรงผลักดันให้เราสู้ต่อ” คำบอกเล่าของเธอสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบมากมายต่อแม่บ้านที่ต้องสูญเสียหัวหน้าครอบครัวที่เป็นเสาหลักของบ้าน ซึ่งพวกเธอต้องปรับตัวอย่างหนักทั้งสภาพจิตใจที่ต้องแบกรับความเจ็บปวดและบทบาทที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่มีหน้าที่เลี้ยงลูกอยู่บ้าน ดูแลความเรียบร้อยของสมาชิกในครอบครัว กลับต้องกลายมาเป็นหัวเรือใหญ่แบกรับภาระดูแลทั้งการเงินและงานบ้าน ทำหน้าที่เป็นทั้งพ่อและแม่ให้กับลูกในคราวเดียวกัน เพื่อมอบโอกาสและเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้หญิงกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียคนในครอบครัวจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่ยังไม่สงบ ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างเข้มแข็ง ด้วยเหตุนี้ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จึงได้ร่วมกับมูลนิธิรักษ์ไทย จัดทำโครงการ “เชฟรอน-ทุนเพื่อชีวิต” ในพื้นที่ จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการประกอบอาชีพให้แก่กลุ่มสตรีที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบจากการสูญเสียบุคคลในครอบครัว ให้มีช่องทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และดูแลครอบครัวของตนเองได้อย่างมั่นคง โดยดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลากว่า 5 ปี มีกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการแล้วทั้งสิ้น 405 กลุ่ม สมาชิกมากกว่า 4,500 คน ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ฝึกอบรม ได้รับความรู้เพื่อเสริมทักษะอาชีพ ทั้งด้านการจัดการตลาด การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย การบริหารจัดการกลุ่ม รวมทั้งได้รับอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ สำหรับประกอบอาชีพและค้าขาย และไม่หยุดเพียงเท่านี้ เมื่อสตรีที่ผ่านการอบรมได้ถ่ายทอด แลกเปลี่ยนและต่อยอดความรู้ทั้งในและนอกกลุ่มอาชีพ เกิดเป็นเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สร้างความสุขให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง หลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ และได้รับการพัฒนาทักษะอาชีพ มาเรียม โสะ ในวันนี้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเข้มแข็งในฐานะหัวหน้าครอบครัว “ดีใจมากที่ได้รับโอกาสนี้ จากคนที่ไม่เคยทำอะไรเลย หลังจากที่ได้เข้ามาอบรมเสริมทักษะอาชีพในโครงการนี้ ทำให้เรามีความรู้หลายๆ ด้านที่นำไปพัฒนาอาชีพของเราให้ดีขึ้น เช่นเรื่องของการทำบัญชีราย-รายจ่าย และการคำนวณต้นทุน ซึ่งทำให้ครอบครัวมีเงินเหลือเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายภายในครอบครัว ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นมาก รวมถึงอุปกรณ์ที่ได้รับมาจากโครงการก็จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด” รอคาเย๊อะ ปูลาปะระเป๊ะ จังหวัดยะลา ขณะที่ รอคาเย๊อะ ปูลาปะระเป๊ะ อีกหนึ่งสตรีที่เข้าร่วมโครงการจากจังหวัดยะลา ได้นำความรู้ที่ได้จากการอบรมจนสามารถเพิ่มศักยภาพและพัฒนาอาชีพขายมะพร้าวคั่วที่เป็นผลผลิตจากต้นมะพร้าวที่บ้าน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ของตนเอง จนสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ “การอบรมช่วยเพิ่มศักยภาพให้เรา เพิ่มความรู้ ทักษะการขาย แรกเริ่มบรรจุภัณฑ์เราก็ไม่มี ขายตามท้องตลาด แต่พอได้มาอบรมทำให้เรามีความรู้เรื่องบัญชีรายรับ-รายจ่าย ทำให้เราเรียนรู้การทำให้ผลิตภัณฑ์มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ตอนนี้มีรายได้มากขึ้นแล้ว ต่อไปในอนาคตมีความคิดว่าอยากเป็นิวทยากร สอนคั่วมะพร้าวให้กับเพื่อนๆ ในเครือข่าย เพื่อเป็นความรู้และทางเลือกในการประกอบอาชีพของเพื่อนๆ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป” สุวรรณา มะหะมะ จังหวัดนราธิวาส เช่นเดียวกับ สุวรรณา มะหะมะ ซึ่งมีอาชีพทำเบเกอรี่ในจังหวัดนราธิวาส ที่ได้รับเครื่องนวดแป้ง ช่วยให้ทำขนมได้มากขึ้น และได้นำความรู้ในการบริหารธุรกิจที่ได้จากการเข้าอบรมมาใช้สานฝันในการเปิดร้านเบเกอรี่ของตนเองจนสำเร็จ และยังมีแผนที่จะใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของร้านในการฝึกอบรมให้กับคนอื่นๆ ที่สนใจและอยากสร้างอาชีพเช่นเดียวกัน วิษุวัต สิงหศิริ ผู้จัดการศูนย์เศรษฐพัฒน์ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “เป็นเรื่องน่ายินที่โครงการเชฟรอน-ทุนเพื่อชีวิต ได้มีส่วนช่วยให้สตรีที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ มีคุณภาพชีวิตทีดีขึ้น สามารถดูแลครอบครัวของตนเองได้ ด้วยการเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพ ทั้งการสร้างอาชีพใหม่ และการส่งเสริมให้สามารถประกอบอาชีพเดิมให้ดียิ่งขึ้น มีรายได้เพิ่ม มีเงินออม สามารถสนับสนุนให้เด็ก ๆ ได้มีการศึกษาที่สูงขึ้น และที่สำคัญโครงการฯ ยังได้สร้างเครือข่ายแห่งการช่วยเหลือพึ่งพา แบ่งปันหยิบยืมอุปกรณ์ไปใช้ แลกเปลี่ยนแนะนำอาชีพซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดกลุ่มอาสาสมัครเกิดขึ้นในแต่ละจังหวัด คอยช่วยเหลือกลุ่มผู้หญิงที่ไม่มีอาชีพ ให้เข้ามาร่วมฝึกทักษะอาชีพ เป็นที่ปรึกษาเป็นพี่เลี้ยงให้ผู้อื่นได้พึ่งพา เป็นต้นแบบที่ดีให้กับชุมชนอื่นได้เรียนรู้และนำไปปรับใช้ในชุมชนของตนเองต่อไปในอนาคต อันเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืน” อุปกรณ์ประกอบอาชีพ กิจกรรมโครงการเชฟรอน-ทุนเพื่อชีวิต