เมื่อ เวลา 13.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อดำเนินการกระบวนการถอดถอนนายประชา ประสพดี อดีตรมช.มหาดไทย ออกจากตำแหน่ง กรณีแทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการองค์การตลาด(อต.) กระทรวงมหาดไทย ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.2557 ประกอบมาตรา 64 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2552 ซึ่งเป็นขั้นตอนซักถามคู่กรณีคือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่ง ชาติ (ป.ป.ช.)ในฐานะผู้กล่าวหา มีน.ส.สุภา ปิยะจิตติ และนายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการป.ป.ช.ตัวแทน และนายประชา ในฐานะผู้ถูกกล่าวหา ทั้งนี้กรรมาธิการซักถามชี้แจงว่ามีสนช.ตั้งคำถามจำนวน 3 ญัตติ 14 คำถาม โดยถามป.ป.ช. 5 คำถามและถามนายประชา 9 คำถาม ผู้สื่อข่าว รายงานว่า คำถามที่ถามป.ป.ช.ว่า ความผิดของนายประชาที่ใช้อำนาจเข้าไปแทรกแซง ก้าวก่ายสั่งชะลอการประชุมคณะกรรมการอต. มีข้อกล่าวหาอะไร รวมทั้งเหตุใดไม่นำคำพิพากษาของศาลปกครองที่ระบุว่าคำสั่งในการแต่งตั้งโยก ย้ายบอร์ดอต.เป็นการดำเนินการถูกต้องแล้ว โดยน.ส.สภา ชี้แจงว่า พฤติกรรมของนายประชาเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงการสั่งงานของฝ่ายประจำ โดยได้โทรศัพท์สั่งการไปยังรองประธานบอร์ดอต.ในขณะนั้น ให้ชะลอการประชุมบอร์ดอต.ในวันที่ 12 พ.ย.55 ที่มีวาระการพิจารณาลงโทษกรณีการทุจริตของนายธีธัช สุขสะอาด อดีตผอ.อต. ออกไปก่อน แม้นายประชาจะเป็นรมช.มหาดไทยในเวลานั้น แต่ยังไม่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแล อต. พฤติการณ์ของนายประชาจึงเป็นการเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานของหน่วยงานรัฐ ตามความผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 เพราะรัฐมนตรีที่ มีอำนาจเพียงดูแลเฉพาะเรื่องนโยบายเท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจสั่งการให้ชะลอหรือเลื่อนการประชุมอต. ที่เป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของบอร์ดอต. จากนั้นได้ถามนายประชาว่า ได้โทรศัพท์สั่งให้ชะลอการประชุมคณะกรรมการอต.ซึ่งจะพิจารณาลงโทษนายธีธัช สุขสะอาด ผอ.องค์การตลาด และมีอำนาจรมช.มหาดไทยมีอำนาจมากน้อยแค่ไหนในการกำกับอต. โดย นายประชา ยืนยันว่า ยอมรับว่าได้โทรศัพท์สั่งการรองประธานอต.ในวันที่ 11 พ.ย.เพื่อให้ชะลอการประชุมบอร์ดอต.วันที่ 12 พ.ย.55 โดยไม่ทราบว่าในวันดังกล่าวมีวาระการพิจารณาเรื่องการลงโทษนายธีธัช เจตนาของตนเพียงแค่ให้บอร์ดอต.รอมอบนโยบายจากรมต.ก่อน เพราะตนได้รับคำสั่งให้กำกับดูแลบอร์ดอต.ในวันที่ 12 พ.ย.55 ตนไม่ได้มีความโกรธแค้นบอร์ดอต.หรือรู้จักกับนายธีธัชมาก่อน ส่วนอำนาจในการกำกับดูแลอต.ตามพ.ร.ฏ.กำกับดูแลอต.ให้อำนาจรัฐมนตรีที่ดูแล หน่วยงานดังกล่าว แตกต่างจากหน่วยงานอื่น โดยให้รัฐมนตรีมีอำนาจเรียกประธานและรองประธาน รวมทั้งพนักงานอต.มาชี้แจงให้ข้อเท็จจริงหรือทำรายงานได้ และให้อำนาจแต่งตั้ง ถอดถอน ผอ.อต.ได้ ดังนั้นอำนาจของรัฐมนตรีในการกำกับดูแลอต.จึงครอบคลุมทั้งหน่วยงานและตัว บุคคล จึงมีสิทธิ์เรียกประธานอต. มาให้การหรือชี้แจงใดๆได้ หากเห็นว่าทำหน้าที่ไม่ถูกต้อง ไม่ใช่มีเฉพาะอำนาจกับดูแลเฉพาะเรื่องนโยบายเท่านั้น อย่างไรก็ตามยอมรับว่ารัฐมนตรีไม่มีอำนาจไปถึงขั้นสั่งการห้ามประชุมหรือ เลื่อนบอร์ดอต.ได้ จากนั้นที่ประชุมสนช.ได้นัดประชุมแถลงปิดสำนวนด้วยวาจาในวันที่ 18 ส.ค.เวลา 10.00 น.