ศาลแพ่งพิพากษายกฟ้องนายศุภนันท์ อดีตกรรมการและผู้บริหาร “ไอเฟค” คดีที่ ก.ล.ต.เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกรณีขายหุ้นโดยอาศัยข้อมูลภายใน หลังนายศุภนันท์ แสดงหลักฐานเด็ด ส่วนสาเหตุที่ผู้ลงทุนเทขายหุ้นของบริษัทเกิดจากความไม่มั่นใจในการบริหารงานตามโครงสร้างใหม่ที่ปรากฏในสื่อ น.ส.พ. รวมถึงเกิดความขัดแย้งภายในของกรรมการผู้บริหารของบริษัท “IFEC” เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นโจทก์ ฟ้องนายศุภนันท์ ฤทธิไพโรจน์ ต่อศาลแพ่ง รัชดาฯ เช้าวานนี้ ศาลได้นัดคู่ความฟังคำพิพากษา จากพยานหลักฐานข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า วันที่ 4 พ.ย.59 นายศุภนันท์ ขายหุ้นบริษัท“ IFEC” ผ่านบัญชี ซื้อขายหลักทรัพย์ 2 บัญชี เหตุเกิดขณะนายศุภนันท์ เป็นกรรมการของบริษัท “IFEC” ก.ล.ต.ให้นายศุภนันท์ ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว มีความเห็นว่าไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานจากการตรวจสอบของ ก.ล.ต.ได้ ทั้งนี้ ตัวแทนระดับผู้อำนวยการของ ก.ล.ต. เบิกความว่า เมื่อวันนายศุภนันท์ฯ ขาย หุ้นของบริษัท “IFEC” จำนวน 140,000 หุ้น โดยวันที่ 1 พ.ย.59 บริษัท “IFEC” จัดประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 11/2559 ซึ่งนายศุภนันท์ฯเข้าร่วมประชุมด้วย ในการประชุมมีผู้กล่าวถึงสถานะทางการเงินของบริษัท ว่ามีกระแสเงินสดไม่พอชำระหนี้ตั๋วแลกเงินที่จะครบกําหนดปลายปี 2559 จํานวน 1,635 ล้านบาท ซึ่งหากบริษัทผิดนัดชําระหนี้ตั๋วแลกเงินเป็นจำนวนรวมกันเกินกว่า 300 ล้านบาท บริษัทจะต้องถูกบังคับให้ชําระหนี้หุ้นกู้ 3,000 ล้านบาท วันที่ 4 พ.ย.59 นายศุภนันท์ ขายหุ้นบริษัท “IFEC” ถือได้ว่านายศุภนันท์ ล่วงรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสําคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาหุ้น และกระทําความผิดโดยอาศัยข้อมูลภายใน อันเป็นสาระสําคัญต่อการ และเปลี่ยนแปลงราคาหุ้น บริษัท “ IFEC" ที่ยังมิได้เปิดเผยต่อประชาชน ในประการที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบต่อบุคคลภายนอก ซึ่งที่ประชุม มีการกล่าวว่า “กระแสเงินสดปัจจุบันมีอยู่ไม่พอจ่ายในช่วงสิ้นปี” คำพูดนี้ กล่าวโดยผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และไม่ได้รับมอบหมายจากบริหารด้านการเงิน ที่คิดเอาเอง และในช่วงที่มีผู้พูดเช่นนั้น นายศุภนันท์ฯ ไม่ได้อยู่ในห้องประชุม เนื่องจากออกไปเตรียมเอกสารและเทปเพื่อจะเข้าไปพูดเสนอต่อที่ประชุมฯ ในวาระอื่น เมื่อพิจารณาปัญหาและแนวทางแก้ไขมีใจความพอสรุปได้ว่างบการเงินของบริษัท" IFEC"ตั้งแต่เดือน ม.ค.ถึงเดือน ส.ค.59 ยังดีอยู่ สินทรัพย์ทั้งหมดประมาณ 8,000 ล้านบาท แต่มีภาระหนี้ 7,500 ล้านบาท เบื้องต้นแก้ไขปัญหาตั๋ว BE โดยการเจรจา ในส่วนตั๋ว PE ควรจะทําProject Finance อย่างจริงจัง หากขาย Solar 4 โครงการ และ Biomass กับ โรงแรมดาราเทวี จะเหลือหนี้น้อยลงมากจะเป็นผลดีต่องบการเงิน การเจรจากับสถาบันการเงินจะง่ายขึ้น” บริษัทจึงก็ยังมีทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยการขายทรัพย์สินของบริษัทชําระหนี้ จึงไม่ใช่ข้อมูลในทางลบเสียทีเดียว เนื่องจากที่ผ่านมาผลประกอบการของบริษัทก็มีแนวโน้มที่ดี ทั้งนี้สาเหตุที่ทําให้ราคาหุ้นของบริษัท “ IFEC” ในระหว่างวันที่ 6 ม.ค.60 ถึงวันที่ 11 ม.ค.60 มีแนวโน้มลดลง โดยวันที่ 11 ม.ค.60 มีราคาปิดอยู่ที่ 3.10 บาท เป็นการปรับตัวลดลงร้อยละ 11.93 ตามข้อมูลซื้อขายหุ้นเอกสารหมาย จ.18 ก็น่าจะมีสาเหตุมาจากการที่นักลงทุนทราบข้อมูลทางสื่อ ในวันที่ 27 ธ.ค.59 เกี่ยวกับข่าวลือการผิดนัดชําระหนี้ตั๋วแลกเงิน อีกทั้งโจทก์ก็ได้หยุดพักการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท “IFEC” เป็นการชั่วคราว ซึ่งจะทําให้นักลงทุนลังเลใจว่าจะลงทุนต่อหรือไม่ อีกทั้งวันที่ 30 ธ.ค.59 และวันที่ 5 ม.ค.60 บริษัท “ IFEC” ได้แจ้งข่าวผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยชี้แจงปัญหาการชําระหนี้ตั๋วแลกเงินโดยให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนต่อผู้ลงทุน อีกทั้งนายศุภนันท์ ถูกกลุ่มบุคคลที่ขัดแย้งกับนายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ (ประธานกรรมการ) พูดจาข่มขู่ให้วางมือและให้ลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัท หรือไม่ก็ให้มาเป็นพวกเดียวกับพวกตน นายศุภนันท์ จึงเกิดความกังวล รู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิต จึงตัดสินใจจะลาออกจากบริษัทและขายหุ้นออกไป เรื่องที่ถูกข่มขู่นี้ นายศุภนันท์ ได้แจ้งความลงบันทึกประจําวันให้ดําเนินคดีต่อกลุ่มบุคคลดังกล่าว มีหลักฐานแสดงต่อศาล นอกจากนี้ยังได้ความจากนายแพทย์วิชัย ว่าการประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 11/2559 มีผู้แจ้งต่อ คณะกรรมการว่า ในการชําระหนี้ตั๋วแลกเงินที่ถึงกําหนดในเดือน ธ.ค.59 จํานวน 800 ล้านบาท บริษัท “IFEC" สามารถชําระได้โดยหักเงินจากบัญชีธนาคาร 2 เล่ม จํานวน 700 ล้านบาท ช่วงนั้นผู้ถือหุ้นรายหนึ่ง กับพวก ถือหุ้นร้อยละ 25.20 ของทุนจดทะเบียน ทำหนังสือถึงกรรมการบริษัท โดยขอเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของบริษัท “IFEC"ทั้งหมด อันมีนัยสำคัญที่จะต้องทำคำเสนอซื้อมายังบริษัท ต่อมาบริษัท “IFEC"เป็นโจทก์ฟ้องผู้ถือหุ้นรายนั้นกับพวกที่ศาลอาญา เกี่ยวกับความผิดฐานเข้าครอบงำบริษัทมหาชนโดยมิชอบ ปรากฏเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ ย่อมทำให้มีเจ้าหนี้ของบริษัทหลายรายไม่แน่ใจถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารงานอันเป็นสาเหตุที่บริษัทต้องจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ 700 ล้านบาท และเป็นมูลเหตุให้หุ้นของบริษัท “IFEC” ตกจากราคาหุ้นละ 4.84 บาทเรื่อยมา พยานหลักฐานที่นำสืบมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า การที่นายศุภนันท์ ขายหุ้นฯ ไม่ได้อาศัยข้อมูลภายใน แต่เป็นการขายเนื่องจากถูกคุมคามข่มขู่จากกลุ่มบุคคล ตามที่นายศุภนันท์ ได้แจ้งความดำเนินคดีไว้ และเหตุที่ผู้ลงทุนเทขายหุ้นของบริษัทเกิดจากความไม่มั่นใจในการบริหารงาน ตามโครงสร้างใหม่ที่ปรากฏในสื่อหนังสือพิมพ์ รวมถึงเกิดความขัดแย้งภายในของกรรมการผู้บริหารของบริษัท “IFEC” ซึ่งการกระทำของนายศุภนันท์ จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 241 ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์