ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) มีความมุ่งมั่นในการทำกิจกรรมเพื่อเยาวชนและชุมชนมาต่อเนื่อง ซึ่งได้ริเริ่มโครงการไฟ-ฟ้า ขึ้นในปี 2552 ภายใต้ปรัชญา “TMB Make THE Difference” มีจุดมุ่งหมายเพื่อมอบโอกาสและปลูกฝังให้เยาวชนอายุ 12-17 ปี รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์เชิงศิลปะและพัฒนาทักษะการใช้ชีวิต (Art & Life skills) โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อให้เยาวชนเติบโตเป็นผู้ที่มีความพร้อม ในการเป็นผู้นำที่มีคุณภาพ และเป็นบุคลากรที่มีความคิดสร้างสรรค์ เพื่อนำสิ่งที่ได้เรียนรู้คืนสู่ชุมชน และเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน “ทิฆัมพร รักษากิจ” เด็กจากศูนย์ไฟ-ฟ้า บางกอกน้อย สะท้อนให้ฟังถึงสิ่งที่ได้จากการเข้ามาเรียนรู้ในศูนย์ฯแห่งนี้ ว่า ทำให้เด็กๆ ในย่านนี้รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์มากขึ้น และเพิ่มทักษะการใช้ชีวิต สามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ไปต่อยอดเป็นอาชีพได้ ที่สำคัญสอนให้มีจิตอาสา รู้จักแบ่งปันกลับคืนให้กลับชุมชน นอกจากนี้ ยังเรียนรู้ที่จะทำงานเป็นทีม สอนให้ปรับตัวในการอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งเพื่อนๆ หลายคนมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเข้ามาเรียนรู้และทำกิจกรรมร่วมกันในศูนย์ “ก่อนเข้ามาเรียนรู้ในศูนย์ฯ หนูติดโทรศัพท์มาก ทั้งคุยกับเพื่อน ติดโซเชียล เรียกว่าว่างเป็นต้องจับโทรศัพท์ ซึ่งคุณแม่พยายามหาทางให้เลิก พอรู้ว่ามีศูนย์ไฟ-ฟ้าเปิดให้เด็กเรียนรู้ฟรี เลยบังคับให้เข้ามาเรียน วันแรกไม่อยากไปเพราะไม่มีเพื่อน แต่เมื่อเข้าไปแล้วในคลาสให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น จากช่วงแรกที่เรียนเสร็จกลับบ้านก็เริ่มมีเพื่อน ช่วยกันทำกิจกรรมในเวลาว่าง เลิกไม่ติดโทรศัพท์ พ่อแม่ก็วางใจปล่อยให้อิสระมากขึ้น” “ฑิฆัมพร” เลือกเรียนคลาสมวยไทยและศิลปะ โดยเธอบอกว่าเลือกเรียนมวยไทยเพื่อเอาไว้ป้องกันตัว และเคยเรียนมาตั้งแต่ชั้นประถมก็เลยไม่อยากทิ้ง ส่วนคลาสศิลปะมาจากความชอบวาดรูป แต่จุดหมายในการประกอบอาชีพคือ “เชฟ” ซึ่งวิชาศิลปะที่เลือกเรียนจะนำไปประยุกต์ใช้ในการตกแต่งหน้าตาและภาชนะที่ใส่อาหารให้ดูดีมีสีสัน ไม่ใช่แค่การเสิร์ฟความอร่อยในร้านอาหารตามความฝันของเธอ โดยวันนี้ยังร่ำเรียนและฝึกฝนอยู่ในฐานะเด็กปีหนึ่งในวิทยาลัยอาชีวะศึกษา และอยากก้าวไปสู่รั้วมหาวิทยาลัยชื่อดังที่สอนในเรื่องการทำอาหาร ในโอกาสครบรอบ 10 ปี โครงการไฟ-ฟ้า และ ครบรอบ 20 ปี สถาบันประมูลคริสตี้ส์ ประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดงาน Charity Art Auction การประมูลผลงานศิลปะเพื่อการกุศลครั้งสำคัญ โดยทีเอ็มบีได้มอบผลงานศิลปะ 15 ภาพจากอัครศิลปินและศิลปินแห่งชาติ อาทิ ผลงานจาก อ. ถวัลย์ ดัชนี, อ.ประเทือง เอมเจริญ, อ. ปรีชา เถาทอง, อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต เป็นต้น สู่การประมูลครั้งนี้ โดยรายได้ทั้งหมดจะนำไปใช้ในกิจกรรมของโครงการไฟ-ฟ้า และโครงการสาธารณกุศลเพื่อจุดประกายเยาวชนและชุมชนผ่านมูลนิธิทีเอ็มบีต่อไป นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี กล่าวว่า ในโอกาส 10 ปีของโครงการไฟ-ฟ้า ทีเอ็มบีคิดว่าควรทำอะไรที่จะจุดประกายสังคมให้เห็นถึงการมอบโอกาสให้กับเยาวชน จึงเป็นที่มาของกิจกรรมประมูลภาพศิลปะการกุศล Charity Art Auction ในครั้งนี้ ภายใต้แนวคิด The Mastery that Inspires the Ordinary ซึ่ง ‘The Mastery’ หมายถึง ผลงานอันทรงคุณค่าของอัครศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ ที่จะมาช่วยกันต่อยอดและจุดประกายสร้างเด็กธรรมดาที่สวยงามให้สังคมไทย กับโครงการ ไฟ-ฟ้า โดย ทีเอ็มบี จึงเป็นที่มาของการคัดเลือกผลงานชิ้นเอกทั้ง 15 ผลงานจากอัครศิลปินและศิลปินแห่งชาติที่นำมาประมูลในครั้งนี้ “การประมูลครั้งนี้มีความพิเศษมาก เพราะเราได้รับความร่วมมือจากสถาบันประมูลชั้นนำของโลก คือ คริสตี้ส์ ประเทศไทย ซึ่งครบรอบ 20 ปีในปีนี้ด้วย จึงนับเป็นโอกาสดีที่ทีเอ็มบี และ คริสตี้ส์ จะได้ร่วมทำสิ่งดีๆ ด้วยกัน โดยคริสตี้ส์ไม่คิดค่าตอบแทนจากการดำเนินการประมูล ทำให้รายได้ทั้งหมดจากการประมูลภาพในงาน Charity Art Auction นี้ จะนำเข้าสู่มูลนิธิทีเอ็มบีเพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมของโครงการไฟ-ฟ้าและโครงการสาธารณกุศลต่างๆ ต่อไป” นางประภาวดี โสภณพนิช ผู้จัดการทั่วไป สถาบันประมูลคริสตี้ส์ ประเทศไทย กล่าวว่า สถาบันประมูลคริสตี้ส์ ประเทศไทย รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของงานประมูลในครั้งนี้ ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นอีกครั้งของประวัติศาสตร์การประมูลที่มีผลงานศิลปะจากอัครศิลปินและศิลปินแห่งชาติของไทยมากถึง 15 ภาพ แต่การประมูลครั้งนี้จะสร้างประโยชน์ให้กับเยาวชน สังคมและประเทศไทยด้วย “การประมูลครั้งนี้จะประกอบด้วยผลงานศิลปะจำนวน 15 ภาพจากอัครศิลปินและศิลปินแห่งชาติ อาทิ ผลงานของ อ. ถวัลย์ ดัชนี ซึ่งนำมาประมูลถึง 4 ผลงาน ล้วนแล้วแต่มีเอกลักษณ์และเทคนิคที่ต่างกัน และผลงานของ อ.ปรีชา เถาทอง ที่มี 2 ผลงาน รวมถึงผลงานภาพเขียนสีน้ำมัน โดย อ.ประเทือง เอมเจริญ และผลงานภาพเขียนสีน้ำมันของ อ. จักรพันธุ์ โปษยกฤต ตลอดจนผลงานชิ้นเอกมากมายของอัครศิลปิน ที่นอกจากจะทรงคุณค่าแล้ว ยังเป็นผลงานที่เป็นมิติสำคัญของวงการศิลปะไทยในแต่ละยุคอีกด้วย จึงอยากเชิญชวนให้ผู้สนใจ นักสะสม ได้เข้าร่วมการประมูลครั้งนี้” นางประภาวดี กล่าว ด้าน อาจารย์ จินตนา เปี่ยมศิริ ศิลปินหญิงที่มีผลงานโดดเด่นฝากฝีมืองานภาพประกอบไว้ในหนังสือพระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก” กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน “ผู้หญิงในชุดแดง” หนึ่งในผลงานที่จะนำมาประมูลในงาน Charity Art Auction ว่า ภาพผู้หญิงในชุดแดงเกิดจากความตั้งใจที่จะแสดงความรู้สึกและแรงบันดาลใจจากพื้นถิ่น โดยวิธีการนำเสนอไม่ใช้เทคนิคการวาดภาพเหมือนจริง แต่ใช้ทีพู่กันค่อยๆ ป้าย ค่อยๆ แต้ม ค่อยๆ ผสมสี เพื่อค่อยๆ เรียงร้อยความทรงจำที่มีต่อพื้นถิ่นลงไปในงานชิ้นนี้ ซึ่งรู้สึกยินดีมากที่เป็นหนึ่งในผลงานที่นำมาประมูลในครั้งนี้ “สำหรับชีวิตของศิลปิน เราเชื่อว่าหากสิ่งที่เราได้สร้างสรรค์จะสร้าง จรรโลงสังคมได้ และในวันนี้งานของเราจะทำหน้าที่ได้มากนั้น ในการเป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอดการสร้างสรรค์กิจกรรมที่ส่งเสริมเด็กรุ่นใหม่ จุดประกายให้สังคมอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้โครงการไฟ-ฟ้าของทีเอ็มบี” อาจารย์สุธี คุณาวิชยานนท์ ศิลปินและนักวิชาการด้านศิลปิน กล่าวว่า ครั้งแรกที่ได้เห็นผลงานทั้งหมดรู้สึกประหลาดใจ มีหลายภาพที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิต และไม่เคยรู้ว่าทีเอ็มบีสะสมงานอันสูงค่าในระดับที่เรียกว่าเป็นสมบัติของชาติไว้มากกว่า 300 ภาพ ซึ่งภาพที่นำมาประมูลครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นผลงานชิ้นสำคัญระดับมาสเตอร์พีชของศิลปินรุ่นใหญ่และศิลปินแห่งชาติ จึงนับเป็นงานประมูลครั้งประวัติศาสตร์ แถมยังมีกิจกรรมที่เปิดให้สาธารณชนเข้าชมฟรีก่อนการประมูลด้วย ก็คิดว่าเป็นอีกครั้งที่ผู้ที่ชื่นชอบงานศิลปะควรที่จะมาชมอย่างที่สุด “วงการศิลปะยังต้องการการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน ซึ่งโครงการไฟ-ฟ้า ของทีเอ็มบี เป็นอีกโครงการที่น่าสนใจและน่ายกย่องที่ได้มอบโอกาสให้กับเด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาสแต่มีความสนใจในศิลปะได้พัฒนาทักษะอย่างมีแนวทางที่ชัดเจน เห็นได้จากผลงานของเด็กไฟ-ฟ้าที่ถูกคัดเลือกเข้าร่วมประมูล เชื่อว่าด้วยเป้าหมายของโครงการประมูลครั้งนี้จะมีส่วนช่วยการพัฒนาและมอบโอกาสให้กับเยาวชนในการพัฒนาเชิงศิลปะต่อไป” ขณะที่เด็กไฟ-ฟ้า “ธีรภัทร์ เกลี้ยงล่ำ” หรือ น้องแทน ของผลงานภาพเขียน “พระปรางค์วัดอรุณ” ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งในผลงานเข้าร่วมประมูลครั้งนี้ บอกเล่าถึงความรู้สึกเกี่ยวกับการประมูลครั้งนี้ว่า รู้สึกดีใจมากที่ผลงานได้รับคัดเลือกเข้าสู่การประมูลร่วมกับศิลปินระดับชาติ แต่นอกเหนือจากความดีใจคือ ความภูมิใจที่ภาพเขียนจากความตั้งใจอย่างยิ่งนี้สามารถสร้างประโยชน์ส่งต่อสิ่งดีๆ ให้กับสังคม เช่นเดียวกับที่ตนเองได้รับจากโครงการไฟ-ฟ้า ซึ่งได้พัฒนาทักษะการวาดรูป การใช้สี และเทคนิคการสร้างผลงานจากครูอาสาสมัครเข้าที่มาสอน “ดุษฎี ถิรธนกุล” อีกหนึ่งเด็กไฟ-ฟ้า เจ้าของภาพเขียน “ต้นไม้กับสายน้ำ” หนึ่งในผลงานที่จะถูกนำเข้าสู่การประมูล บอกว่า รู้สึกดีใจและภูมิใจมาก เพราะสนใจชอบวาดรูปมานานแล้ว อยากเรียนเพิ่มเติมแต่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ซึ่งเมื่อทีเอ็มบีไปศูนย์เรียนรู้ไฟ-ฟ้าไม่ไกลจากบ้านจึงเข้าไปสมัคร และเรียนต่อเรื่องมาหลายปี ทำให้ได้เทคนิคการวาด การใช้สีจนมีความเข้าใจมากขึ้น จนค่อยๆ พัฒนาผลงานตามสไตล์ของตัวเอง และเมื่อผลงานได้รับเลือกเข้าสู่การประมูลก็ยิ่งภูมิใจที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับคนอื่นๆ ต่อไป ปิดท้ายที่ “เศรษฐศิริ ชนะภัย” เด็กไฟ-ฟ้า เจ้าของ 2 ผลงาน “Light Horse” และ “ช้างใต้เงามืด” บอกว่า การเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการไฟ-ฟ้า คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ค้นพบความชอบของตัวเองในเรื่องศิลปะ และได้รับโอกาสในการพัฒนาโดยครูและหลักสูตรของไฟ-ฟ้า ซึ่งผลงานทั้งสองชิ้นเกิดจากความสนใจในสัตว์สองชนิด คือ ช้างและม้า ที่เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทย แต่ลองนำเสนอด้วยเทคนิคพิเศษ จึงทำให้มุมมองของงานเปลี่ยนไป ซึ่งเป้าหมายในชีวิตต่อไปก็อยากที่จะพัฒนาทักษะศิลปะให้ดียิ่งขึ้น เพื่อที่จะสร้างสรรค์ผลงานและเป็นศิลปินในอนาคต