เมื่อวันที่ 14 มี.ค.60 พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งในการสร้างความมั่นคงด้านน้ำ ทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน ภาคการเกษตร อุตสาหกรรม รวมทั้งการรักษาระบบนิเวศและคุณภาพน้ำ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน อย่างไรก็ตามการสร้างความมั่นคงด้านน้ำ ไม่ได้มีเพียงมิติด้านการจัดหาแหล่งน้ำสำรองให้ภาคส่วนต่างๆใช้ได้อย่างพอเพียงเท่านั้น แต่ยังมีสิ่งสำคัญ คือ การทำให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่นอกเขตชลประทาน สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ดังนั้น นายกรัฐมนตรี จึงได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปร่วมกันหาแนวทางพัฒนาระบบกระจายน้ำควบคู่ไปกับการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อให้สามารถส่งน้ำไปถึงประชาชนมากที่สุด ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมทรัพยากรน้ำ และ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาระบบการกระจายน้ำขึ้นทั่วประเทศ โดยติดตั้งเครื่องปั้มน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อดึงน้ำจากแหล่งน้ำทั้งจากน้ำผิวดิน คือ ห้วย หนอง คลอง บึง และจากแหล่งน้ำบาดาล มาเก็บไว้ที่หอพักน้ำ ก่อนปล่อยน้ำกระจายผ่านระบบท่อส่งไปให้ประชาชนใช้อุปโภคบริโภค รวมถึงใช้สำหรับทำการเกษตรน้ำน้อย โดยในปี 2560 มีเป้าหมายดำเนินการ 87 แห่ง ในพื้นที่ 28 จังหวัดสำหรับน้ำผิวดิน ส่วนน้ำบาดาลมีเป้าหมายดำเนินการ 3,888 แห่ง ในพื้นที่ 73 จังหวัด ขณะที่ในปี 2561 จะขยายผลดำเนินการให้เต็มพื้นที่ทั้งหมด เพื่อให้ครอบคลุมและตอบสนองความต้องการของประชาชนให้ได้มากที่สุด รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวต่อว่า กรมทรัพยากรน้ำ และ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้นำร่องดำเนินโครงการพัฒนาระบบการกระจายน้ำไปแล้วหลายพื้นที่ โดยขยายผลจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเดิมที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น โครงการฟื้นฟูแหล่งน้ำเริงไม้งาม อ.ประทาย จ.นครราชสีมา ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำ ได้จัดทำแก้มลิงเก็บกักน้ำกว่า 6 แสนลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และพัฒนาระบบกระจายน้ำโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดและประชาชนไม่ต้องเสียค่าไฟฟ้า โดยดึงน้ำมาไว้ที่ถังพักน้ำ แล้วใช้วิธีกระจายน้ำไปตามท่อที่เชื่อมต่อกับพื้นที่เกษตรกรรมสาธารณะของชุมชนเนื้อที่กว่า 24 ไร่ ทำให้จากเดิมที่เกษตรกรมีน้ำไม่พอใช้ ก็สามารถปลูกพืชผักสวนครัว อาทิ ต้นหอม ผักชี ดอกดาวเรือง สร้างรายได้ได้มากกว่าเดิมถึงเท่าตัว เนื่องจากสามารถเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี ขณะที่ตัวอย่างพื้นที่นำร่องอีกแห่งหนึ่ง คือ พื้นที่โครงการน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ซึ่ง กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้เข้าไปสำรวจพื้นที่แห้งแล้งแต่มีศักยภาพในการขุดเจาะแหล่งน้ำบาดาลโดยได้ขุดเจาะน้ำบาดาลลึกว่า 120 เมตร จำนวน 2 บ่อ พร้อมติดตั้งระบบกระจายน้ำโดยสูบน้ำมาไว้ที่หอพักน้ำ ก่อนกระจายผ่านระบบท่อความยาว 3,000 เมตร ซึ่งใช้วิธีต่อท่อแบบหยดน้ำขนาด 2-4 นิ้ว เข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรมได้อย่างเพียงพอและทั่วถึงกว่า 213 ไร่ ด้าน นายสากล ฐินะกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในฐานะรองโฆษกกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเรามีน้ำใช้อย่างทั่วถึง การร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดเป็นหัวใจของการจัดการและมีน้ำใช้อย่างยั่งยืน รวมทั้งอยากเชิญชวนให้คนไทยฟื้นฟูรักษาแหล่งต้นน้ำลำธารเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำให้มีน้ำใช้ตลอดไปด้วย