ความปลอดภัยในอาหารเป็นพื้นฐานการดำรงชีวิตของมนุษย์ทุกคน ความเข้มงวดของภาครัฐที่ต้องปกป้องดูแลมาตรฐานการผลิตอาหาร จึงจำเป็นและสำคัญยิ่งต่อชีวิตประชาชนในแต่ละประเทศ ประเทศไทยก็เช่นกัน เรามีหน่วยงานรัฐหลายแห่ง ทำหน้าที่กำกับดูแลในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็น อย. กรมวิชาการเกษตร รวมถึงกรมปศุสัตว์ ที่กำกับดูแลการผลิตเนื้อสัตว์ตั้งแต่ต้นทาง ความเข้มงวดตรวจตราการทำผิดกฏหมายตลอดขั้นตอนการผลิตกว่าจะได้มาเป็นเนื้อหมู เนื้อไก่ให้ผู้บริโภคได้รับประทานกันเป็นหน้าที่และภาระหนักหนาของกรมปศุสัตว์ ซึ่งต้องชมในการทำหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจับกุมฟาร์มสุกรที่ลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดง สารเร่งเนื้อแดงถือเป็น “สารต้องห้ามตามกฎหมาย” ทั้งห้ามใช้ผสมอาหารสัตว์ และห้ามปนเปื้อนในเนื้อสัตว์ จากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีประกาศห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตและนำเข้าซึ่งอาหารสัตว์ พระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์มา พ.ศ.2525 และพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 กฏหมายชัดเจนขนาดนี้ ก็ยังไม่วายมีคนเห็นแก่ตัว ต้องการทำกำไรโดยไม่สนใจว่าผลสุดท้ายจะทำร้ายทำลายสุขภาพเพื่อนร่วมชาติ ถ้าคำนวณคร่าวๆจะเห็นความเสียหายที่เกิดจากสารเร่งเนื้อแดง สูงถึงปีละหลายพันล้านบาท ซึ่งคิดจากส่วนต่างราคาที่เนื้อแดงเพิ่มขึ้นจากการใช้สารเร่งเป็นกำไรของคนใช้สารเร่งและคนขาย นี่จึงเป็นมูลค่าอันตรายกับชีวิตคนไทย ยังไม่นับตัวเลขค่ารักษาพยาบาลอันเนื่องมาจากการเจ็บป่วยที่เกิดจากการมีสารเร่งเนื้อแดงสะสมในร่างกายด้วยซ้ำ น่าสงสารประชาชนที่ต้องกินของอันตรายแบบนี้ แล้วจะทำอะไรให้ดีขึ้นได้บ้าง? ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ได้ทำโครงการแก้ไขปัญหาการใช้สารเร่งเนื้อแดงในหมูด้วยการรณรงค์ให้เกษตรกรเลิกใช้สารเร่งเนื้อแดงมาเป็นทางลัดเพื่อปรับปรุงคุณภาพซาก โดยชี้ให้เห็นโทษที่จะเกิดกับผู้บริโภค เพราะสารนี้จะไปกระตุ้นให้หมูมีการใช้พลังงานจากไขมัน ลดการสะสมของไขมัน และไปเพิ่มการสะสมโปรตีนในกล้ามเนื้อ เป็นผลให้มีเนื้อแดงเพิ่ม ไขมันน้อย แต่มันตกค้างสะสมไปถึงคนกินที่จะทำให้มีอาการหัวใจเต้นแรง เป็นอันตรายอย่างยิ่งกับคนกลุ่มเสี่ยงเช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคลมชัก โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และหญิงตั้งครรภ์ ปัญหาที่ปราบปรามเท่าไหร่ก็ยังไม่หมด ปรามทีหายไปที สักพักแอบกลับมาใช้อีก น่าจะเป็นเพราะโทษทัณฑ์ตามกฏหมายอาจจะน้อยเกินไป ตัวเลขกำไรที่ยั่วยวนมากกว่าจึงชนะใจคนเห็นแก่ตัวเสมอ ดังนั้นถ้าเป็นไปได้กฏหมายควรเพิ่มระดับการลงโทษให้หนักกว่าที่เป็นอยู่ นอกจากนี้ยังต้องเข้มงวดตั้งแต่การนำเข้าสารเร่งเนื้อแดง หลากหลายชนิด ทั้งเคลนบิวเทรอล ซัลบูทามอล แร็คโตพามีน และซิปพาเทอรอล รวมถึงวิธีการลักลอบขายของร้านขายยาสัตว์ทั้งหลาย โดยให้มีโทษทัณฑ์ไม่น้อยไปกว่าการนำไปใช้ด้วย ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัย และผู้เลี้ยงหมูส่วนใหญ่ก็ปฏิบัติตามกฏหมายโดยคำนึงถึงผู้บริโภคปลายทาง การปล่อยให้คนส่วนน้อยที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน มาทำลายภาพลักษณ์นี้ของประเทศจึงไม่เป็นธรรมแก่ทุกคนในบ้านเมืองนี้ อยากฝากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้านกฏหมายเร่งปรับปรุงและลงมือจัดการอย่างจริงจัง เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและคนไทยทุกคน