โบกมือลากันไปเป็นที่เรียบร้อย สำหรับ “นายอีโบ โมราเลส” ได้ประกาศ “ลงจากเก้าอี้” คือ “ลาออก” จากตำแหน่ง “ประธานาธิบดีของโบลิเวีย” ซึ่งมีขึ้นเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเป็นถ้อยแถลงประกาศภายหลังจากเผชิญหน้ากับกลุ่มม็อบ ที่ชุมนุมประท้วงผลการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 20 ต.ค. ก่อนดำเนินการประท้วงกันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ภายใต้การชูธงของม็อบที่ระบุว่า เป็นการเลือกตั้งที่ไม่โปร่งใส และนายโมราเลสก็โกงการเลือกตั้ง ซึ่งถึงแม้ว่าได้ใช้วิธีกลโกงกันก็แล้ว ผลคะแนนที่นับออกมา นายโมราเลส ได้รับคะแนนเสียงต่ำกว่าร้อยละ 40 แถมมิหนำซ้ำยังชนะเหนือคู่แข่ง คือ นายการ์โลส เมซา ผู้นำฝ่ายค้านคนสำคัญ ต่ำกว่าร้อยละ 10 อีกต่างหาก ก็เลยกลายเป็นช่องว่างให้บรรดาพลพรรคฝ่ายค้าน สบโอกาสได้จัดตั้งม็อบมาลงถนนคัดค้านผลการเลือกตั้งข้างต้นว่า ไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ที่กำหนดให้ผู้ชนะการเลือกตั้ง จะต้องได้รับคะแนนเสียงคิดเป็นร้อยละ 40 ขึ้นไป และจะต้องชนะเหนือคู่แข่งในจำนวนคะแนนเสียงมากว่าร้อยละ 10 อีกด้วย เรียกว่า ให้ชนะกันแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดกันไปเลย จึงจะถือว่า ชนะเลือกตั้งอย่างแท้จริงตามกฎหมายของโบลิเวียกำหนดไว้ พร้อมกันนั้น กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง ภายใต้การนำของพลพรรคฝ่ายค้านที่มีนายเมซา เป็นผู้นำ ก็ได้เรียกร้องให้นายโมราเลสไขก๊อก ก้าวลงจากเก้าอี้ประธานาธิบดีของประเทศไปในตัวเสร็จสรรพ ทั้งนี้ ในระหว่างมีม็อบชุมนุม ก็ปรากฏว่า มีความรุนแรงเกิดขึ้นกันบ้าง ตามจังหวะของการเผชิญหน้า เช่น กรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุมจับตัวนางปาตริเซีย อาร์เซ นายกเทศมนตรีหญิงแห่งเมืองวินโต ซึ่งเป็นนักการเมืองฝ่ายประธานาธิบดีโมราเลส ไปกล้อนผม และราดสีแดง จนเลอะเปรอะเปื้อนแดงฉานกันไปทั้งตัว รวมถึงการปะทะกันตามจังหวะการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมาปรากฏว่า “ทางการตำรวจของโบลิเวีย” ภายใต้การนำของนายพลตำรวจ “วลาดิเมียร์ ยูริ กาลเดรอน” ได้นำพลพรรคตำรวจแปรพักตร์หันมาสนับสนุนกลุ่มประชาชนที่ชุมนุมประท้วง แทนที่จะสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลภายใต้การนำโดยประธานาธิบดีโมราเลส ก่อนที่ในเวลาต่อมา ทาง “กองทัพโบลิเวีย” ภายใต้การนำของ “พล.อ.วิลเลียมส์ คาลิมาน” ก็ได้เปลี่ยนขั้วจากเดิมที่สนับสนุนรัฐบาลของประธานาธิบดีโมราเลส หันมายืนเคียงข้างกับกลุ่มประชาชนผู้ชุมนุมประท้วงแทน ก่อนมีปฏิบัติการกดดันต่อนายโมราเลส ให้ก้าวลงจากเก้าอี้เสียเร็วพลัน โดย พล.อ.คาลิมาน กล่าวว่า หลังจากที่ได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ความขัดแย้งภายในโบลิเวียแล้ว ก็เห็นควรเรียกร้องให้นายโมราเลสลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี เพื่อสถานการณ์ความขัดแย้งข้างต้น ได้คืนสู่สภาวะปกติ บังเกิดสันติภาพ อันจะนำไปสู่การฟื้นฟู และเสถียรภาพอันดีของโบลิเวีย ขณะที่ นายโมราเลส แถลงการลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี ผ่านสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ในโบลิเวียว่า ตนขอลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี และตนต้องการบอกพี่น้องประชาชนว่า การต่อสู้ยังไม่จบสิ้น การต่อสู้กับปัญหาความยากจน การเคลื่อนไหวทางสังคม จะยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องด้วยความเสมอภาคและสันติภาพ พร้อมกันนั้น ผู้กลายเป็นอดีตประธานาธิบดีโบลิเวียหมาดๆ ก็ได้ประกาศว่า จะให้มีการเลือกตั้งกันใหม่ ให้ประชาชนได้ตัดสินใจกันอีกครั้งด้วย โดยการประกาศลาออกของนายโมราเลสดังกล่าว ก็ไม่ผิดอะไรกับการดับฝันที่จะเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 4 ติดต่อกันของผู้นำทางการเมืองฝ่ายซ้ายของโบลิเวียโดยทันที หลังเผชิญหน้ากับการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ได้เพียงราว 20 วันเท่านั้น ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์ ระบุว่า ไม่ผิดอะไรกับการจัดตั้ง สร้างฉากของสถานการณ์จนนำไปสู่การลงจากเก้าอี้ของประธานาธิบดีโมราเลส พร้อมเรียกขานเหตุการณ์ที่บังเกิดขึ้นในโบลิเวียว่า เป็น “รัฐประหารหลากหลาย” หรือ “รัฐประหารโดยหลายฝ่าย (Coup by many)” ที่ดำเนินร่วมกันจากภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาคประชาชน พลพรรคฝ่ายค้าน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองทัพโบลิเวีย นอกจากนี้ เหล่านักวิเคราะห์ยังระบุด้วยว่า การแทรกแซงจากภายนอก การเมืองระหว่างประเทศ ก็เป็นอีกปัจจัยให้เกิด “รัฐประหารโดยหลายฝ่าย” ข้างต้น โดยมีเสียงซุบซิบกันว่า นายการ์โลส เมซา ผู้นำฝ่ายค้านคนสำคัญของโบลิเวีย ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีท่อน้ำเลี้ยงเป็นเม็ดเงิน จำนวนมากถึง 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมถึงการบรรดานักการเมืองฝ่ายค้านของโบลิเวีย เรียกร้องให้รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เข้าไปแทรกแซงในโบลิเวีย สมประโยชน์เข้าทางกับทางการสหรัฐฯ ที่ต้องการนำนายโมราเลส ลงจากเก้าอี้ประธานาธิบดีที่นำพาโบลิเวีย ใกล้ชิดกับจีนแผ่นดินใหญ่ และรัสเซีย จนมีการลงนามในความร่วมมือระหว่างกันหลายประการ ไม่ผิดอะไรกับสองชาติคู่ปรับของสหรัฐฯ ใช้โบลิเวีย บุกทวีอเมริกาใต้กันอย่างไรอย่างนั้น ที่ไม่ว่าจะอย่างไรทางการวอชิงตันก็ยอมมิได้