เกษตรฯ เผยตัวเลขเกษตรปลอดภัยเมืองกาญจนบุรี ผลการพัฒนาการรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) ชี้สร้างโอกาสดีเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดิน พร้อมเดินหน้าพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรสู่นานาชาติ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางตรวจราชการและพบปะเกษตรกรที่วัดอินทาราม อ.ท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี และได้รับฟังการนำเสนอผลการส่งเสริมเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเกษตรอินทรีย์เป็นแนวทางการผลิตที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพและความปลอดภัยของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค รวมทั้งการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับกระแสความสนใจของโลกในปัจจุบัน จังหวัดกาญจนบุรีจึงได้มียุทธศาสตร์ในการเพิ่มความปลอดภัยทางด้านอาหารเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในพื้นที่ โดยการจะได้การรับรองจะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานต่างๆ โดยสถานการณ์เกษตรอินทรีย์ไทยล่าสุดนั้นมีพื้นที่ได้รับรองมาตรฐานเพียงร้อยละ 0.29 ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรให้มีความพร้อมในการทำการเกษตรอินทรีย์ดังกล่าว นางกุลฤดี พัฒนะอิ่ม รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการบริโภคและจำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดภัย เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และปลอดภัยต่อผู้บริโภค แต่เกษตรกรในจังหวัดกาญจนบุรีพบปัญหาจากการไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดิน จึงไม่สามารถขอการรับรองจากหน่วยงานต่างๆ ได้ สำนักงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี จึงได้ดำเนินการส่งเสริมการรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) ร่วมกับคณะทำงานจากส่วนราชการ เอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีบทบาทในการกำหนดทิศทางและวางแนวทางในการพัฒนาการทำเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดกาญจนบุรี การส่งเสริมการรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) ได้ยึดแนวทางตามหลักการของแหล่งผลิตพืชเกษตรอินทรีย์ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ มกษ.9000 เล่ม 1 เล่ม 2 และเล่ม 4 และแนวทางการผลิตพืชอินทรีย์ เพื่อจัดทำแบบตรวจประเมินสำหรับการขอรับรองมาตรฐานการเกษตรแบบมีส่วนร่วม (PGS) โดยมีการพัฒนาเกษตรกรและเจ้าหน้าที่เพื่อสร้างให้เป็นเจ้าหน้าที่สำหรับการตรวจประเมินแหล่งผลิตพืชอินทรีย์ จำนวนทั้งสิ้น 39 ราย นอกจากนี้ยังต้องผ่านการตรวจสารพิษตกค้างในผลผลิตก่อน โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันเกษตรกรในจังหวัดกาญจนบุรีสามารถผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยได้ตามมาตรฐาน Organic Thailand 27 ราย พื้นที่ปลูก 302ไร่ มาตราฐาน GAP 888 ราย พื้นที่ปลูก 6,657 ไร่ และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม 106 ราย พื้นที่ปลูก 1,091 ไร่ โดยจำหน่ายผลผลิตให้แก่โรงพยาบาลตามโครงการอาหารปลอดภัยทั้งในจังหวัดกาญจนบุรีและในกรุงเทพ ตลาดเกษตรกรในจังหวัดกาญจนบุรี และภาคเอกชนต่างๆ “กรมส่งเสริมการเกษตร จะพัฒนาเกษตรกรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม และมีคุณสมบัติพร้อมเพื่อขอรับรองแหล่งผลิตพืชอินทรีย์ที่รับรอง โดยกรมวิชาการเกษตร และข้าวอินทรีย์ที่รับรองโดยกรมการข้าว เพื่อพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรไปสู่ระดับชาติและนานาชาติต่อไป”รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว