กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยความร้อนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ แนะวิธีป้องกัน ไม่ควรตากแดดนาน เสี่ยงโรคที่เกิดจากความร้อน ได้แก่ ผื่นจากความร้อน บวมจากความร้อน ตะคริวจากความร้อน เป็นลมจากความร้อน เพลียแดด และลมแดด (Heat Stroke) นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน มีอุณหภูมิสูงขึ้นและมีอากาศร้อนอย่างต่อเนื่องในช่วงกลางวัน ซึ่งข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่าฤดูร้อนของ ประเทศไทยปีนี้จะมีอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 35-37องศาเซลเซียสและในช่วงเดือนเมษายนจะร้อนที่สุดอุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 42-43 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งความร้อนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ตั้งแต่การเจ็บป่วยเล็กน้อยจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยข้อมูลของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคจากความร้อนเพิ่มขึ้นจาก 98 ราย ในปี พ.ศ. 2556 เป็น 2,457 ราย ในปี พ.ศ. 2559 โดยเฉพาะเดือนเมษายนของทุกปี นายแพทย์ดนัย กล่าวต่อไปว่า กลุ่มอาชีพที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือกลุ่มคนงานรับจ้างทั่วไป รองลงมาคือ กลุ่มอาชีพเกษตรกร และกลุ่มนักเรียน ซึ่งโรคที่เกิดจากความร้อนเรียงตามความรุนแรงจากน้อยไปมาก ได้แก่ ผื่นจากความร้อน บวมจากความร้อน ตะคริวจากความร้อน เป็นลมจากความร้อน เพลียแดด และรุนแรงที่สุด คือ โรคลมแดดหรือฮีตสโตรก (Heat Stroke) ที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง หากรักษาไม่ทัน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน ผู้ทำงานหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง เช่น เกษตรกร คนงานก่อสร้าง นักกรีฑาหรือผู้ที่เล่นกีฬาหนักๆ และทหารเกณฑ์ “ทั้งนี้ ประชาชนควรติดตามสถานการณ์การเตือนภัยจากความร้อนอยู่เสมอ เพื่อป้องกันตนเอง และหลีกเลี่ยงการทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดดเป็นเวลานานในวันที่อากาศร้อน ควรอยู่ในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี หรือสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ ควรดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ โดยไม่ต้องรอให้กระหายน้ำ หรืออย่างน้อย 2 แก้วต่อชั่วโมง หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง ควรสวมเสื้อผ้าสีอ่อน ไม่หนา น้ำหนักเบา ระบายความร้อนได้ดี สวมหมวกปีกกว้างหรือกางร่ม รวมถึงการใช้โลชั่นกันแดดที่มีค่า SPF 15 ขึ้นไปทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน ควรลดเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงเวลา 11.00–15.00 น. ควรอาบน้ำหรือเช็ดตัวด้วยผ้าเย็นโดยเฉพาะบริเวณหลังคอใบหน้าหูและข้อพับต่างๆและไม่ควรเปิดพัดลมจ่อตรงตัวในขณะที่อากาศร้อนจัด เพราะพัดลมจะดูดอากาศร้อนเข้ามาหาตัวเรา ควรตั้งพัดลมให้ห่างจากตัวหรือใช้พัดลมไอน้ำหรือให้นำอ่างใส่น้ำแข็งวางหน้าพัดลมจะช่วยให้อากาศเย็นลงได้สำหรับเด็กหรือผู้สูงอายุ ไม่ควรทิ้งให้อยู่ในรถที่ ปิดสนิท และจอดกลางแดดตามลำพังเป็นเวลานาน อาจทำให้เสียชีวิตได้ หากพบคนไม่สบาย หรือต้องการความช่วยเหลือ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือติดต่อสายด่วน 1669 ทันที” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด