สภาดิจิทัลฯร่วมมือสภาหอการค้าไทย พร้อมตั้งคลาวด์ระดับชาติ-ภูมิภาคหนุนไทยเป็นศูนย์กลางข้อมูลพร้อมเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน เมื่อวันที่ 11 พ.ย.62 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นำโดยนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย นำโดยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (สภาดิจิทัลฯ) จัดการประชุมหารือความร่วมมือในการขับเคลื่อนธุรกิจและอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน ที่อาคารบรรเจิด ชลวิจารณ์ นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย แถลงร่วมกับนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (สภาดิจิทัลฯ) ถึงความร่วมมือในการทำงานร่วมกัน โดยนายกลินท์ กล่าวว่า สภาหอการค้าและสภาดิจิทัลจะทำแผนร่วมกันในการพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจโดยการใช้ดิจิทัล โดยจะทำเวิร์คช็อปร่วมกันเพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ และการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันในระดับท้องถิ่น นายศุภชัย กล่าวว่า ความร่วมมือที่จะทำได้เร็วที่สุด คือการส่งเสริมให้แต่ละจังหวัดจะมีศูนย์เรียนรู้เพื่อใช้ดิจิทัลปรับเปลี่ยนธุรกิจ โดยจะทำให้เกิดประโยชน์ไปถึงสถาบันการศึกษาด้วนเพื่อทำให้เกิดการพัฒนาทักษะและเพิ่มทักษะให้บุคลากรของประเทศ โดยหลักการทั้งสองหน่วยงานจะช่วยกันพัฒนาศักยภาพของธุรกิจและทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การสร้างตัววัดและมาตรฐานทางดิจิทัล สมาชิกของสภาดิจิทัลพร้อมจะช่วยสนับสนุนและพัฒนาผูประกอบการในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ภารกิจหลักคือการร่วมมือกันสร้าง National Could center และ Reginal Could center เพื่อให้เมืองไทยเป็นศูนย์กลางข้อมูลระดับประเทศและภูมิภาค การพัฒนามีความจำเป็นต้องทำทั้งระดับชาติและระดับภูมิภาคเพราะปัจจุบันธุรกิจใช้ข้อมูลในการขับเคลื่อนจำนวนมาก ทั้งนี้ความร่วมมือระหว่างสภาหอการค้าฯ และสภาดิจิทัลฯ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีใน 4 ด้านที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย1.การสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยการพัฒนาสินค้าและบริการด้านดิจิทัลต่างๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจในประเทศไทย ผ่านการร่วมมือกับสภาหอการค้าฯ ส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรม “ไทยเท่-ไทยทำ-ไทยใช้-ไทยเจริญ”ในอุตสาหกรรมดิจิทัล การพัฒนา Self-regulation guideline สำหรับธุรกิจด้านดิจิทัลในไทย เพื่อสร้างความรับผิดชอบของเจ้าของ Platform ในการดูแลข้อมูลไม่ให้เป็นข้อมูลเท็จ (Fake news)หรือกิจกรรม Cyberbullying 2.การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ โดยเข้าร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ เพื่อปรับแผนการเรียนการสอนที่สอดรับกับความต้องการบุคลากรด้านดิจิทัลในตลาดงาน และสร้างความร่วมมือในภาคเอกชนเพื่อเปิดรับนักศึกษาฝึกงาน (Internship) เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้ในทางปฏิบัตั การร่วมกับสภาหอการค้าฯ ออกการรับรองอย่างเป็นทางการสำหรับหลักสูตรการเรียนนอกห้องเรียน (เช่นโครงการ YEC) ไม่ว่าจะผ่านสื่อออนไลน์หรือออฟไลน์ โดยมุ่งเน้นที่ทักษะดิจิทัลที่สามารถนำมาใช้ในธุรกิจได้การรับรองนี้จะต้องได้รับการยอมรับจากสถาบันการศึกษาและบริษัทต่างๆที่เป็นสมาชิกสภาหอการค้าฯ และสภาดิจิทัล ฯ 3.การสร้างโอกาสความเสมอภาคทางสังคม โดยผลักดันให้เกิดศูนย์ข้อมูลแบบเสรี (Carrier-neutral data center) เพื่อพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านข้อมูลในภูมิภาค และเพื่อเป็นการลดต้นทุนทาง Network infrastructure เพื่อเปิดโอกาสให้กับบริษัทขนาดเล็กในการเข้าใช้งาน Cloud ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดมากขึ้น พัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ด้วยตัวเองบนดิจิทัลแพลทฟอร์ม (Self-learning e-platform) ที่รวบรวมบทเรียนด้านเทคนิค อาทิ Data Analytics, Data Visualization และด้านการบริหารจัดการ 4.การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พัฒนามาตรฐานด้านคุณภาพของสินค้าและบริการด้านดิจิทัล (digital standards/ qualifications)และสนับสนุนให้ผู้ผลิต Hardware ด้านดิจิทัลต่างๆ พัฒนาสินค้าคุณภาพที่มีประกันอายุการใช้งานนานกว่าเดิม เพื่อลด e-waste จัดตั้งศูนย์วิจัย และสร้างแพลตฟอร์มในการวัดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้เทคโนโลยีและเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ