แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคมที่เข้าร่วมเวทีประชาพิจารณ์ร่างหลักเกณฑ์การจัดสรรเลขหมายใหม่ และร่างหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเลขหมายใหม่ที่คณะทำงาน กสทช.เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะไปเมื่อปลายเดือนต.ค.ที่ผ่านมา และเตรียมสรุปผลเพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ภายในเดือนนี้ สำหรับข้อเสนอของผู้ประกอบการสื่อสารทุกค่าย แม้จะเห็นด้วยต่อการปรับปรุงโครงสร้างอัตราค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรศัพท์ที่จะนำไปสู่ระบบ Single Rate เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการในอนาคต แต่ในส่วนของการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเลขหมายใหม่ที่กสทช.ได้มอบหมายให้คณะทำงานศึกษา และนำเสนอต่อที่เวทีประชาพิจารณ์นั้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ยังคงไม่เห็นด้วย และต้องการให้กสทช.พิจารณาทบทวน โดยบริษัทสื่อสารของรัฐทั้งบริษัทกสท.โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน)และบริษัททีโอที จำกัด(มหาชน) กลับต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเลขหมายเพิ่มขึ้น จากเดิมที่จ่ายค่าธรรมเนียมเฉลี่ยอยู่ที่ 1.35 และ 1.47 บาท/เลขหมาย เพราะมีเลขหมายจากสัมปทานเดิมเป็นจำนวนมาก แต่ตามหลักเกณฑ์ใหม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นไปเป็น 1.62 บาท/เลขหมาย/เดือน งานนี้ส่งผลให้รองศาสตราจารย์ ดร.ภูมินทร์ บุตรอินทร์ ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา และกรรมการศูนย์ศึกษากฎหมายฝรั่งเศส คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถึงได้ออกมาแสดงความเห็นต่อกรณีการปรับโครงสร้างอัตราค่าธรรมเนียมเลขหมายดังกล่าว ว่า สะท้อนให้เห็นถึงการกำกับดูแลที่ไม่สะท้อนการแข่งขันที่แท้จริง โดยเฉพาะในตลาดการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยการกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ให้ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในอัตราเดียวคือ 1.62 บาท/เลขหมาย/เดือน ซึ่งยังผลให้ผู้ประกอบการที่จ่าย 1 บาท/เลขหมาย/เดือน จะจ่ายเพิ่มขึ้น ขณะผู้ประกอบการที่มีเลขหมายใหม่ที่ต้องจ่าย 2 บาท/เลขหมาย/เดือนจ่ายลดลงนั้น ผู้ที่ได้ประโยชน์ก็คือผู้ให้บริการที่มีเลขหมายใหม่ (ค่าธรรมเนียม 2 บาท)จำนวนมาก ขณะที่ผู้ให้บริการที่มีเลขหมายที่จ่ายค่าธรรมเนียม 1 บาทจำนวนมากเสียประโยชน์อย่างชัดเจน เนื่องจากต้องจ่ายเงินเพิ่มถึงเลขหมายละ 62 สตางค์ หรือเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละห้าสิบเลยทีเดียว" การรื้อโครงสร้างอัตราค่าธรรมเนียมเลขหมายใหม่ สมควรจะดำเนินการให้ผู้ประกอบการทุกรายได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม โดยที่ประชาชนผู้รับบริการในชั้นสุดท้ายควรได้รับการประโยชน์สูงสุด