ร.ท.หญิง สุณิสา ทิวากรดำรง รองโฆษกพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก หมวดเจี๊ยบ Sunisa Divakorndumrong ระบุว่า... เมื่อวานเจี๊ยบไป “บางแสน” มาค่ะ เลยอยากพูดถึงมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของรัฐบาลซะหน่อย โครงการ “ 100 เดียวเที่ยวทั่วไทย” และ “เที่ยววันธรรมดา ราคาช็อคโลก” ของรัฐบาลประยุทธ์ ซึ่งใช้งบประมาณจาก งบกลาง จำนวน 116 ล้าน บาท รวม 2 โครงการ จะไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรมและถือเป็นการใช้เงินงบประมาณอย่างไม่คุ้มค่า โดยเฉพาะ มาตรการ 100 เดียวเที่ยวทั่วไทยที่เริ่มโครงการในวันนี้ ก็เป็นเพียงโครงการประชานิยมที่ไม่ได้สร้างกำลังซื้อให้ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งยังไม่มีผลต่อการกระตุ้น GDP เพราะการเพิ่ม GPD จากรายได้จากการท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ต้องทำโดยการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ ไม่ใช่ด้วยการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ก็มีนักเศรษฐศาสตร์ทักท้วงเรื่องนี้ แล้ว โดยชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของโครงการชิมช็อปใช้ทั้ง 2 เฟส ที่ไม่สามารถสร้างรายได้ให้ภาคการท่องเที่ยวได้ตามเป้า เพราะคนส่วนใหญ่เลือกใช้สิทธิ์ซื้อของกินของใช้มากกว่าไปเที่ยว ดังนั้น เม็ดเงิน 10,667ล้านบาท ที่รัฐบาลเทลงไปจึงไหลไปสู่ภาคการท่องเที่ยวเพียง 0.01 เปอร์เซ็นต์หรือ ราว 141 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลเองก็ยอมรับว่ารายได้ในส่วนของการท่องเที่ยวนั้นต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ แต่รัฐบาลประยุทธ์ก็ไม่เข็ดและยังจะทำผิดซ้ำซากอีก ซึ่งสะท้อนว่ารัฐบาลประยุทธ์ขาดความระมัดระวังในการใช้เงินงบประมาณของประเทศ และลงทุนด้วยความเสี่ยง โดยไม่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจนเลยว่าผลตอบแทนจะคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ใช้ไปหรือไม่ เพราะรัฐบาลย่อมไม่รู้ล่วงหน้าว่าประชาชน 40,000 ราย ที่จะใช้สิทธิ์ในโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวดังกล่าว จะมีพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินอย่างไร เพราะรัฐบาลใช้วิธีแจกสิทธิ์แบบสุ่มเลือก จับฉลากจากผู้ที่สมัครขอรับสิทธิ์ผ่านระบบออนไลน์ โดยไม่รู้ล่วงหน้าว่าใครเป็นใคร และบุคคลเหล่านั้นจะมีกำลังซื้อมากน้อยแค่ไหน แล้วรัฐบาลจะคำนวณผลตอบแทนที่จะกลับเข้ามาในระบบเศรษกิจได้อย่างแม่นยำได้อย่างไร นอกจากนี้ ตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายตัวก็มีสัญญาณไม่ดีเลย โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในภาพรวม ก็ตกต่ำอย่างต่อเนื่องมาตลอด ภายหลังการรัฐประหาร ซึ่งข้อมูลของกองดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในภาพรวม ประจำเดือน ต.ค 62 อยู่ที่ระดับ 46.3 ซึ่งต่ำกว่าระดับ 50 แปลว่าคนไทย ไม่กล้าใช้จ่าย เพราะมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดี แล้ว พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจไปพกเอาความมั่นใจจากไหนมา ทำไมถึงคิดจะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยวทั้ง ๆ ที่ คนไทยกำลังท้อแท้สิ้นหวัง มีคนตกงานเป็นแสน ๆ คน และเป้าหมายการส่งออกก็หดตัว ทั้งยัง มีข่าวคนฆ่าตัวตายหนีหนี้รายวัน นอกจากนี้ เพื่อความโปร่งใสของโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว รัฐบาลต้องแจกแจงรายชื่อผู้ประกอบการที่ได้ส่วนแบ่งจากเงินอุดหนุน 116 ล้านบาทของรัฐ เพื่อให้สังคมเห็นว่าเม็ดเงินดังกล่าวกระจายไปอย่างทั่วถึง หรือกระจุกตัวอยู่ที่ผู้ประกอบการแค่บางกลุ่มกันแน่ รวมทั้ง ต้องเปิดเผยรายชื่อประชาชน 40,000 รายที่ได้สิทธิ์ในโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวของรัฐบาลว่ามีตัวตนจริงหรือไม่ หรือเป็นแค่หน้าม้าที่เข้ามาจองสิทธิ์แทนผู้ประกอบการบางรายเพื่อหวังเบิกเงินอุดหนุนจากรัฐ ทั้งนี้ แม้มูลค่าโครงการจะไม่สูง มีมูลค่าเพียงหลักร้อยล้านต้น ๆ แต่ก็เป็นเงินของแผ่นดิน ต่อให้เป็นการใช้งบประมาณเพียงบาทเดียว รัฐบาลก็ต้องใช้อย่างรอบคอบระมัดระวัง และต้องใช้เงินด้วยความรับผิดชอบเพราะเป็นเงินของส่วนรวม นอกจากนี้ รัฐบาลประยุทธ์ควรหยุดทำให้ประชาชนเสพติดการแจกเงิน และควรฟังคำทักท้วงของทุกฝ่าย โดยเฉพาะ IMF ที่เตือนให้รัฐบาลระวังการใช้นโยบายประชานิยม เพราะรัฐบาลควรกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพ และกระตุ้นการผลิต ซึ่งจะเป็นการสร้างกำลังซื้อที่ยั่งยืน ทั้งนี้ รัฐบาลประยุทธ์ควรดูตัวอย่างประเทศซึ่งมีรากฐานเศรษฐกิจที่แข่งแกร่ง เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการลดค่าครองชีพประชาชน เช่น ลดภาษีการบริโภคอาหารบางประเภท เพื่อให้คนญี่ปุ่นมีเงินเหลือในการบริโภค ในขณะที่ อินโดนีเซีย ซึ่งโดนสหรัฐตัด GSP เหมือนไทย เขาใช้วิธีกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการส่งออกในอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่น้ำมันและก๊าซ เพื่อเพิ่ม GDP ของประเทศ จะเห็นว่าเขาไม่เน้นการแจกเงิน ดังนั้น พล.อ. ประยุทธ์ควรเปลี่ยนแนวคิดในการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน และควรยึดถือคำสอนของพระราชาในอดีตที่สอนให้ประชาชนจับปลา ไม่ใช่เอาปลาไปแจกประชาชน.