"จุรินทร์" การันตี มาร์ค นั่งประธานกมธ.ศึกษาแก้รธน. โยนวิปรัฐบาล-พรรคร่วม เคาะหาชื่อตัวจริง ระบุ แก้รธน. จะสำเร็จ ต้องอาศัย 3 ฝ่าย - ฟังประชามติ เสียงประชาชน เมื่อเวลา 13.40 น. วันที่ 11 พ.ย.62 ที่ศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี อ.เมือง จ.กาญจนบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กล่าวถึงกรณีพรรคประชาธิปัตย์มีมติเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ วิสามัญ เพื่อศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขแล้วธรรมนูญ ว่า ถือเป็นมติพรรคประชาธิปัตย์และมอบหมายให้วิปรัฐบาลไปหารือกับวิปพรรคร่วม ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ทำตามปกติ ส่วนผลการหารืออย่างไร ก็ต้องแล้วแต่นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปพรรคประชาธิปัตย์ และมีผลอย่างไรนายชินวรณ์ จะนำมาแจ้งให้ที่ประชุมส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ทราบต่อไป ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่พรรคพลังประชารัฐเตรียมเสนอชื่อนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 และยังจะมีการเสนอชื่อที่มีอักษรย่อ ส. เสือคนอื่นด้วย ซึ่งเป็นคนที่หลายฝ่ายให้การยอมรับ นายจุรินทร์ กล่าวว่า คงต้องมีการไปหารือในที่ประชุมวิปรัฐบาล เพราะวิปรัฐบาลคือที่ประชุมร่วมของวิปพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค และเป็นที่พิจารณาหาข้อยุติ เมื่อถามถึงกรณีที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการซื้อเวลา เพราะไม่เข้าสู่กระบวนการแก้ไขและธรรมนูญนายจุรินทร์กล่าวว่า นี่คือกระบวนการของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคิดว่าทุกพรรคการเมืองมีความเห็นพ้องต้องกันในการที่จะให้นับหนึ่งด้วยการตั้งคณะกรรมาธิการโดยมีตัวแทนจากคนภายนอกและตัวแทนจากพรรคการเมืองเข้าไปร่วมพิจารณาร่วมกันว่ามีประเด็นใดบ้างที่ควรจะดำเนินการแก้ไข แล้วจึงนำกลับมาสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป คิดว่าเป็นเวทีที่น่าจะเป็นประโยชน์ เพราะการแก้รัฐธรรมนูญจะประสบความสำเร็จได้อย่างน้อยเมื่อสามฝ่ายมีความเห็นพ้องต้องกัน ในเบื้องต้นคือทั้งสภาผู้แทนราษฎรซึ่งประกอบด้วยซิกรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนว่าการจะแก้รัฐธรรมนูญได้นั้น จะต้องใช้เสียงข้างมากเกินกว่ากึ่งหนึ่งของที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งในจำนวนเกินกว่าครึ่งหนึ่งต้องประกอบด้วยเสียงของฝ่ายค้านไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 และยังกำหนดอีกว่าในจำนวนนั้นต้องเป็นเสียงวุฒิสมาชิกไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสามและในบางประเด็น อาจจะต้องมีองคาพยพที่สี่คือต้องนำไปทำประชามติเพื่อฟังเสียงจากประชาชนเสียก่อนด้วยดังนั้นการแสวงหาความร่วมมือของทุกฝ่ายจะเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการถ้าประสงค์จะให้การแก้แล้วธรรมนูญเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จได้อย่างแท้จริง ดังนั้นการนำเข้าหารือในสภาผู้แทนราษฎรจึงไม่ใช่เรื่องเสียหาย ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายกฯ เตรียมประสานงานพูดคุยระหว่างหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ได้รับการติดต่อหรือยัง หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ยังไม่ทราบ แต่เรามีกลไกวิปรัฐบาลอยู่ ในการที่จะเป็นเวทีหารือเพื่อหาข้อยุติร่วมกัน เมื่อถามว่าหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 12 พ.ย.นี้จะมีการหารือนอกรอบระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายจุรินทร์กล่าวว่า ตนไม่ทราบ ขึ้นอยู่กับนายกฯ เพียงแต่ขอย้ำว่าเรามีกลไกของวิปรัฐบาลกันอยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นตัวแทนจากทุกพรรคการเมืองอยู่ที่นั่นแล้ว เมื่อถามว่าแสดงว่าผลการหารือของวิปรัฐบาลจะต้องได้ชื่อจากบุคคลที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์และจากพรรคพลังประชารัฐ นายจุรินทร์กล่าวว่า ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ประธานวิปของพรรคคงแจ้งให้ทราบว่ามีความประสงค์ที่จะ สนับสนุนใคร ส่วนพรรคการเมืองอื่นก็มีสิทธิ์เช่นเดียวกันที่จะมีความเห็นว่าควรจะเสนอชื่อใคร และสุดท้ายคงหารือและหาข้อยุติร่วมกัน ซึ่งก็ต้องรอตรงนั้น เมื่อถามถึงแนวโน้มการนำไปสู่นโยบายแก่รัฐธรรมนูญ จะทำได้หรือไม่เพราะเพียงแค่ตั้งกรรมาธิการศึกษาก็ยังวุ่นขนาดนี้ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ตนได้แสดงความเห็นไปแล้วว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องแสวงหาความร่วมมือจากทุกฝ่ายไม่ว่าจะ เป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน และวุฒิสมาชิกเพราะไม่เช่นนั้นโอกาสที่จะประสบความสำเร็จจะเป็นไปได้ยาก เพราะฉะนั้นถ้าหวังจะประสบความสำเร็จในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้จริงก็ต้องร่วมมือกันทั้งสามฝ่ายและต้องไม่ขัดแย้งกันโดยไม่จำเป็น จนสุดท้ายทำให้มีความเห็นร่วมกันไม่ได้ และจะทำให้การแก้ไขและธรรมนูญล่มโดยไม่จำเป็น เมื่อถามย้ำว่ามีความมั่นใจว่าจะไม่ถูกยื้อเวลาใช่หรือไม่ นายจุรินทร์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับสภาที่จะเป็นผู้พิจารณาในญัตติมีการเสนอไปแล้ว ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ได้เสนอญัตติเข้าไป